เอาละสิทีนี้ ไหนจะเจ้าตัวเล็กในพุง ไหนจะคนพี่ที่ยังไม่หย่าเต้า…สำหรับคำถามที่ว่า คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่นั้นจะสามารถให้นมลูกได้ด้วยหรือไม่ หลายท่านอาจกำลังสับสนและลังเลว่าจะทำอย่างไรกับสองภาระหน้าที่อันใหญ่หลวงนี้ดี วันนี้เรามีคำตอบสำหรับคุณแม่ให้ได้อ่านและตัดสินใจกันค่ะ
สารบัญ
จริงๆ แล้วนั้นไม่มีคำตอบที่ตายตัวสำหรับปัญหาดังกล่าวหรอกค่ะ
เพียงแต่ต้องยึดสุขภาพและความสะดวกของคุณแม่เองเป็นสำคัญ เพราะในขณะที่ลูกดูดนมนั้นก็จะกระตุ้นให้มดลูกบีบตัว ถ้าเป็นคุณแม่ที่ปกติแข็งแรงดี สามารถปรึกษาคุณหมอก่อนได้ว่าจำเป็นต้องงดกิจกรรมการมีเพศสัมพันธ์ขณะตั้งครรภ์หรือไม่ หากคุณหมอไม่ได้สั่งห้าม คุณแม่ก็สามารถให้นมลูกได้ด้วยเช่นกันค่ะ
แต่ถ้าคิดจะให้นมแล้วละก็ ไม่ง่ายเลยนะคะ คุณแม่อาจต้องเจออุปสรรคเหล่านี้ได้ เช่น ปวดท้องน้อยบริเวณมดลูกทำให้เกรงว่าจะเกิดการแท้ง ก็เลยต้องหยุดให้นมไปเลย หรืออยู่ดีๆ ลูกที่เคยดูดนมได้ปกติ กลับไม่อยากดูดซะงั้น เป็นผลมาจากฮอร์โมนจากการตั้งครรภ์ ทำให้น้ำนมลดลง ลูกเลยดูดไม่ออก หรือน้ำนมไหลช้าไม่ได้ดั่งใจ บางครั้งตัวคุณแม่เองก็อาจจะมีอาการแพ้ท้องอย่างหนัก หรือเกิดอาการเหนื่อยล้า พักผ่อนไม่เพียงพอ เพราะต้องทั้งดูแลลูก ดูแลบ้าน ไหนจะสามีก็ต้องเอาใจ บางคนก็ยังต้องทำงานนอกบ้านอีก นอกจากนี้บริเวณหัวนมอาจจะมีความเซ็นสิทีฟมากขึ้นซึ่งก็เป็นผลมาจากฮอร์โมน เวลาโดนลูกดูดก็ย่อมเจ็บมากจนแทบจะไม่ไหว
ฟังจากตัวอย่างข้างต้นแล้วก็อย่าเพิ่งท้อกันนะคะ ยังมีคุณแม่สุดแกร่งอีกหลายท่านที่ชนะทุกอย่างมาแล้ว หากสามารถทำหน้าที่สองอย่างนี้ควบคู่กันได้ พอเจ้าคนเล็กออกมา การให้นมก็จะเป็นไปอย่างราบรื่น ทีนี้ก็จะสามารถมีน้ำนมให้เพียงพอทั้งคนพี่และคนน้องเลยละค่ะ บางคนถึงกับต้องได้หอบลูกคนพี่มาดูดนมจากเต้าที่โรงพยาบาลในวันคลอดน้องกันเลย ก็พลอยทำให้น้องที่เพิ่งคลอดออกมานั้นได้กินนมแม่ตั้งแต่วันแรกเลย เพราะน้ำนมแม่นั้นไหลมาอย่างไม่ขาดสาย
ส่วนเรื่องที่กลัวว่าถ้าให้นมคนพี่ไปด้วย
แล้วจะทำให้คนพี่นั้นแย่งสารอาหารของน้องที่อยู่ในท้อง เป็นเรื่องที่ไม่จริงเลยค่ะ ความแข็งแรงสมบูรณ์ของลูกคนที่อยู่ในท้องจะขึ้นอยู่กับการเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมของคุณแม่มากกว่าค่ะ (คือรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อลูกและตนเองนะคะ ไม่ใช่ตามใจปาก) และถ้ากลัวว่าจะแท้งเพราะให้นมลูกคนโต ทั้งที่หมอก็ไม่ได้ว่าอะไร ก็ควรทราบถึงสาเหตุส่วนใหญ่ที่แท้งๆ กัน นั่นคือเกิดจากโครโมโซมที่ผิดปกติหรือตัวอ่อนไม่สมบูรณ์มากกว่าค่ะ อย่างในบางรายที่มีปัญหาเลือดออกจากช่องคลอด มีภาวะแท้งคุกคามก็ควรพักการให้นมลูกคนพี่ไปก่อนจะดีกว่าค่ะ
อาจมีบางคนที่กลัวว่าถ้าให้นมลูกทั้งพี่ทั้งน้องด้วย จะทำให้เกิดการอิจฉากันได้ ถ้าคุณแม่กลัวว่าจะเกิดขึ้นกับครอบครัวตัวเองแล้วละก็ ควรฝึกลูกคนพี่ให้รู้จักการแบ่งปัน เสียสละเพื่อน้องบ้าง บางบ้านยังสามารถให้นมลูกพร้อมกันทีเดียวแฮททริคได้ถึง 3 คนเลยละค่ะ ซึ่งถ้าคุณแม่บริหารจัดการเวลาในการให้นมลูกๆ ได้อย่างเหมาะสม หรือบางคนหอบมาให้พร้อมกันทีเดียว 2 คน คนละเต้า ก็จะทำให้พี่น้องได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น เรียกได้ว่าสร้างความปรองดองตั้งแต่ยังเล็กได้เลยค่ะ
หากบ้านไหนไม่สะดวกที่จะกะเตงทั้งสองคนแล้วให้นมพร้อมกันละก็ แนะนำว่าให้ปั๊มใส่สต็อคเตรียมให้ลูกคนพี่กินจะดีกว่าค่ะ แต่ถ้าคนพี่เห็นน้องดูด ก็อาจจะขอดูดตามน้องได้ สำหรับลูกคนพี่เริ่มจะโตหน่อยแล้ว ไม่ควรให้ดูดเต้าเกินวันละ 3 ครั้ง หรือ 24 ออนซ์ต่อวัน เพราะจะทำให้ลูกไม่อยากกินข้าวได้ค่ะ หรือคุณแม่จะนำนมสต็อคไปแช่แข็งให้เป็นไอศกรีม และอาจเพิ่มผลไม้เข้าไปด้วย เอาไว้ให้ทานเล่นแทนขนมได้เช่นกันค่ะ แต่ก็อย่าเยอะจนเกินไปนะคะ
สำหรับบางคนที่คุณหมอสั่งห้าม และไม่สามารถให้นมลูกคนพี่ในขณะตั้งครรภ์ได้
แต่มีปัญหาที่คนพี่ก็ติดเต้ามากเช่นกัน ไม่รู้จะห้ามอย่างไร แนะนำให้ใช้วิธีประนีประนอมกันไปนะคะ อย่าให้ลูกเลิกแบบกะทันหัน เพราะถ้าคลอดคนเล็กแล้วจะอยากให้คนพี่กลับมาดูดเต้าอีก ก็จะไม่มีทางกลับมาแล้ว อีกอย่างการหยุดแบบกะทันหันจะทำให้คุณแม่เกิดอาการนมคัด ปวดตึง และอักเสบได้ค่ะ ควรค่อยๆ ลดทีละมื้อทุก 2-3 วัน ก็จะช่วยให้ร่างกายคุณแม่ปรับตัวในการสร้างน้ำนมได้ลดลง หรือจะบีบน้ำนมทิ้งออกเล็กน้อยแต่อย่ามากเกินไป เพราะจะทำให้ยิ่งกระตุ้นการสร้างใหม่มากกว่าเดิมค่ะ
ส่วนลูกคนโตนั้นก็ต้องหันมาเบี่ยงเบนความสนใจ หากิจกรรมอย่างอื่นให้ทำเพิ่มขึ้น จะได้ลืมๆ เรื่องการดูดเต้าไปบ้าง แต่ไม่ควรใช้วิธีหาพวกสมุนไพรที่มีกลิ่นแรงหรือรสขมมาที่หัวนมนะคะ เดี๋ยวลูกจะเกลียดเต้าไปเลยค่ะ ระหว่างนั้นอาจให้ลูกทานนมกล่อง ร่วมกับการทานข้าวไปก่อน ไว้รอคลอดน้องเมื่อไหร่ คุณแม่ก็ค่อยกลับมาให้นมคนพี่เหมือนเดิมได้เช่นกันค่ะ เพราะอย่างไรเสีย นมแม่ก็มีสารอาหารที่เหมาะสมต่อลูกๆ ทุกคนที่สุดแล้วค่ะ