ลูกสายตาสั้น เป็นภาวะที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่เกิดความกังวลได้อย่างแน่นอน กังวลว่าจะสร้างปัญหาหรือผลกระทบทางด้านพัฒนาการทางสมองของลูกหรือไม่ ความจริงแล้วทั้งหมดนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกัน เนื่องจากว่าสายตาและการมองเห็น ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพทางด้านการเรียนรู้และการทำกิจกรรมต่างๆ หากลูกน้อยไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที เพราะภาวะสายตาสั้นในระยะแรก อาจเริ่มจากอาการเพียงเล็กน้อย จนไปถึงขั้นรุนแรงอย่างตาบอดได้เลยทีเดียว ซึ่งวันนี้เรามามีข้อมูลดีๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้ค่ะ
สารบัญ
วิธีสังเกตอาการลูกสายตาสั้น
เมื่อเด็กเริ่มมีภาวะสายตาสั้น คุณแม่สามารถสังเกตอาการต่างๆ ที่เด็กจะแสดงออกมา ซึ่งหากพบอาการดังที่เราจะกล่าวต่อไปนี้ ให้คุณแม่พาลูกน้อยไปพบจักษุแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยต่อไป
- มีอาการปวดหัวบ่อยครั้ง
- มีอาการหยีดวงตา เมื่อต้องอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ หรือ กิจกรรมต่างๆ ที่ต้องใช้สายตาในการเพ่ง
- มีพฤติกรรมขยี้ตาบ่อยครั้ง
- เวลาทำกิจกรรมโยนสิ่งของ หรือ ลูกบอล มักเกิดการพลาดบ่อยๆ
- ไม่สามารถดูหรือรับชมภาพยนตร์ประเภทสามมิติได้
ป้องกันภาวะสายตาสั้นได้ ด้วยวิธี 20-20
วิธีป้องกันภาวะสายตาสั้นวิธีนี้ เป็นวิธีโดยทั่วไป ที่จักษุแพทย์มักจะให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็นบุคคลในวัยใดก็ตาม เมื่อลูกต้องดูโทรทัศน์ หรือ จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ ให้คุณแม่กำหนดเวลาให้ชัดเจน และอยู่ในความดูแลของคุณแม่อยู่เสมอ โดยให้ละสายตาจากกิจกรรมนั้นๆ ทุก 20 นาที เป็นเวลา 20 วินาที และค่อยกลับมาทำกิจกรรมนั้นอีกครั้ง ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นวิธีในการพักสายตา เพื่อให้ดวงตาผ่อนคลายนั่นเอง
นอกจากนี้ หากไม่มีการดูแลรักษาสายตาที่ถูกต้อง ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาสายตาอื่นๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น สายตายาว สายตาเอียง และตาเหล่หรือตาเขนั่นเอง เพราะฉะนั้นเรื่องสายตาในเด็ก จึงเป็นสิ่งที่คุณแม่ไม่ควรมองข้าม
การวัดสายตาในเด็ก
เพราะปกติแล้วในวัยเด็ก มักจะมีการเพ่งมองเป็นปกติ ดังนั้น การวัดสายตาอาจทำให้เกิดการคลาดเคลื่อนได้มาก หรือมีการวัดสายตาแล้วออกมาสั้นเกินความเป็นจริง เมื่ออยู่ในขั้นตอนการวัดสายตา แพทย์จำเป็นจะต้องทำให้เด็กหยุดการเพ่งเป็นเวลาชั่วคราว โดยจะใช้วิธีในการ หยอดยาเพื่อลดการมองเพ่งลง ซึ่งจะทำให้สามารถวัดค่าสายตาได้ตามจริง โดยมักจะทำในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 12 ปี
หากมีการวัดสายตาออกมาแล้ว เด็กในความดูแลของคุณแม่มีปัญหาสายตาจริง ก็จะมีการพิจารณาเพื่อทำการสั่งตัดแว่นตาที่เหมาะสมกับเด็กต่อไป อีกทั้งจะต้องมีการนัดเข้าพบแพทย์อยู่บ่อยครั้ง เพื่อติดตามอาการ และจะต้องเฝ้าระวังค่าสายตา เนื่องจากมีค่าสายตาย่อมมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตามพฤติกรรมของเด็ก
จะเป็นอย่างไรหากรักษาช้า
เมื่อคุณแม่พบอาการผิดปกติที่บ่งชี้ถึงภาวะสายตาสั้นในเด็ก ทำไมจึงต้องรีบพาลูกไปพบจักษุแพทย์โดยด่วน เพราะนอกจากการปล่อยปละละเลย จะทำให้เด็กมีปัญหาสายตามากยิ่งขึ้นแล้ว อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมอง เนื่องจากว่าเด็กไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ การนั่งเรียนในห้องเรียน การอ่านหนังสือ และการเรียนรู้ต่างๆ ที่ต้องใช้สายตาในการจ้องมอง หากเกิดปัญหาขึ้นกับดวงตา ย่อมส่งผลเสียต่อเด็กทั้งสิ้น
เตรียมตัวอย่างไร เมื่อต้องไปพบจักษุแพทย์
สำหรับคุณแม่ที่พบพฤติกรรมที่บอกถึงปัญหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับสายตาของลูก และไม่รู้จะเตรียมตัวอย่างไรดี ในวันที่ตัดสินใจจะพาเด็กไปพบแพทย์ แนะนำให้ทำตามคำแนะนำ ดังต่อไปนี้
เป็นวันเสาร์-อาทิตย์
วันที่จะพาเด็กไปพบแพทย์ ควรเป็นวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือวันที่ไม่มีการเรียนการสอนในวันนั้นและวันต่อไป เพราะการหยอดยาลดการเพ่ง อาจส่งผลให้เด็กมีอาการมองใกล้ไม่ชัดได้นานถึง 1 วัน
เตรียมอุปกรณ์
คุณแม่ควรเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ อย่างเช่น แว่นตาดำ หมวกแก็บ เพื่อสวมใส่ให้กับเด็กหลังพบแพทย์เสร็จเรียบร้อย เนื่องจากว่าสายตาของเด็ก เมื่อผ่านการหยอดยาจะไม่สามารถสู้แสงแดดได้ประมาณ 1 วัน
ลูกอาจงอแง
ในขณะทำการหยอดยาเพื่อลดการเพ่ง อาจทำให้เด็กมีอาการงอแงได้ เนื่องจากว่าตัวยานั้นจะทำให้มีอาการแสบตาเบื้องต้นแต่ไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก
มีการตรวจจอประสาทตา
ในขณะตรวจสายตาโดยจักษุแพทย์ อาจมีการตรวจจอประสาทตาร่วมด้วย ซึ่งไม่มีอันตรายต่อเด็ก
งดกิจกรรมที่ต้องใช้สายตา
หลังการตรวจโดยจักษุแพทย์เรียบร้อยแล้ว คุณแม่ควรให้ลูกงดทำกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องใช้สายตา หรืองดทำกิจกรรมกลางแจ้งเนื่องจากว่าดวงตาของเด็กหลังผ่านการหยอดตา จะไม่สามารถสู้แสงไฟที่มีความสว่างมากได้
จะเห็นได้จากคำแนะนำ ว่าการปล่อยปละละเลย และไม่หมั่นสังเกตพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับสายตาของลูก อาจก่อให้เกิดปัญหาหลายๆ อย่างตามมา ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทางด้านสมอง หรือการเรียนรู้ เรียนหนังสือต่างๆ จึงทำให้มักเกิดคำถามลูก 5 ขวบ สายตาสั้น หรือเด็กในช่วงอายุน้อยกว่า 12 ปีสายตาสั้น จะอันตรายหรือไม่ จริงๆ แล้วหากมีการรักษาและสังเกตพฤติกรรมของเด็กได้ค่อนข้างไว แพทย์จะมีแนวทางในการแก้ปัญหาสายตาสั้นให้แก่เด็กได้อย่างถูกวิธี ซึ่งน่าจะช่วยลดปัญหากังวลใจของคุณแม่ลงไปได้
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีการแก้ไขปัญหาสายตาในวัยเด็กด้วยการสวมแว่นตา ซึ่งจะทำให้เด็กสามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้อย่างชัดเจนเทียบเท่ากับคนสายตาปกติ ดังนั้นเมื่อคุณแม่สามารถสังเกตอาการที่บ่งชี้ภาวะสายตาสั้นในเด็กได้ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้และควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุดนะคะ