การให้นมลูกแบบเข้าเต้าเป็นอะไรที่มีความสุขที่สุด แต่วันนึงคุณแม่มาพบว่าตัวเองมีอาการเจ็บหัวนม เพราะหัวนมแตก ก่อนจะบอกว่าลูกทำแม่หัวนมแตกนั้น เรามาดูสาเหตุกันก่อนดีกว่าค่ะ ว่าเพราะอะไร แล้วค่อยไปดูวิธีแก้ไขปัญหาเรื่องหัวนมแตกกัน
สารบัญ
สาเหตุหัวนมแตก
สาเหตุที่ทำให้หัวนมคุณแม่แตกนั้นก็เป็นเพราะว่า เวลาที่เอาลูกเข้าเต้านั้น ให้ลูกงับไปไม่ถึงลานนม เวลาลูกดูดก็จะไม่ค่อยได้น้ำนมเท่าไหร่ ทำให้ลูกต้องใช้แรงในการดูดมาก และทำให้ลูกหันมางับที่หัวนมแทน ทำให้เกิดอาการอักเสบได้
หัวนมแตกจะส่งผลต่อการให้นมลูกหรือไม่
หัวนมแตกเป็นอาการที่ไม่รุนแรง คุณแม่สามารถให้นมลูกต่อได้ เพียงแต่อาจมีในบางกรณีที่มีเลือดไหลปนออกมากับน้ำนมที่ลูกน้อยดูดกินเข้าไป ก็อาจทำให้อุจจาระของลูกมีเลือดปน หรือเด็กบางคนอาจอาเจียนออกมาซึ่งก็สามารถมีเลือดของคุณแม่ปนออกมาได้เช่นกัน
ทั้งนี้ จากการอาการเจ็บหัวนม อาจทำให้คุณแม่ให้นมลูกได้ไม่ดีนัก ลูกกินไม่อิ่ม อาจทำให้ร้องไห้งอแงได้ คุณแม่อาจใช้วิธีการปั๊มนมเพื่อป้อนลูกน้อยไปก่อนชั่วคราว และไปปรึกษาแพทย์ค่ะ
ทำให้ถูกท่าก่อนหัวนมแตก
เพราะหากคุณแม่อุ้มลูกเข้าเต้าไม่ถูกท่า อาจส่งผลให้หัวนมแตกได้ ดังนั้น ที่ถูกต้องควรทำดังนี้
- อุ้มลูกให้เข้ามาชิดกับตัว แนบกับท้อง
- ไม่ล้างหรือเช็ดหัวนมมากเกินไป
- งดการใช่สบู่หรือครีมทาที่หัวนม
- ระวังอย่าให้เต้านมคัดจนเกินไป ทำให้ลูกดูดไม่สะดวก เพราะเต้าจะตึงมาก ลูกต้องใช้แรงในการงับเยอะ สุดท้ายคือ ทำให้ท่าดูดผิดไป
หัวนมแตกแต่ยังอยากให้นม ทำอย่างไรดี
คุณแม่บางคนเจ็บหัวนม หัวนมแตกแล้วแต่ยังอยากให้นมแบบเข้าเต้าอยู่และหากลูกบางคนก็ติดเต้า สามารถทำได้ดังนี้ค่ะ
- เริ่มให้นมจากข้างที่เจ็บน้อยก่อน ซึ่งอย่าลืมนะคะ เวลาเข้าเต้าคุณแม่ต้องปรับท่าและการดูดให้ถูกต้อง โดยให้ลูกงับเข้าไปถึงลานนม
- หลังให้นมเสร็จ ก็ใช้น้ำนมของคุณแม่ทาที่หัวนมซักหน่อย แล้วทิ้งไว้ให้แห้ง
- แต่หากคุณแม่เจ็บมากจนทนไม่ไหว ให้เปลี่ยนวิธีมาเป็นการบีบหรือปั๊มนมให้ลูกแทน ซึ่งวิธีการนี้จะยังเป็นการกระตุ้นให้น้ำนมยังผลิตอยู่ เมื่อคุณแม่หายดีแล้วค่อยกลับมาเป็นการให้นมแบบเข้าเต้าได้เหมือนเดิม
แก้ปัญหาหัวนมแตก
ปรับให้ลูกดูดให้ถูกท่า
ถึงแม้ว่าหัวนมคุณแม่จะแตกแล้ว แต่หากคุณแม่ยังทนไหว และอยากให้นมลูกแบบเข้าเต้า คุณแม่ก็ทำได้ค่ะ แต่คราวนี้คุณแม่ต้องอุ้มในท่าที่ถูกต้อง จมูก แก้ม และคางลูกควรสัมผัสกับเต้านม ริมฝีปากลูกควรแบะออกเหมือนปลา
บีบน้ำนมออกมาเล็กน้อย
ถ้าเต้านมคัดมาก ให้คุณแม่บีบน้ำนมออกมาเล็กน้อย เพื่อให้เต้านมนิ่มขึ้น ลูกก็จะดูดง่ายขึ้น
ดูดข้างที่เจ็บน้อยก่อน
ให้ลูกเริ่มดูดจากข้างที่เจ็บน้อยที่สุดก่อน แต่หากสองข้างเจ็บพอๆ กัน ก่อนให้นมลูก ให้คุณแม่เอาผ้าชุบน้ำอุ่น มาประคบรอบ ๆ เต้าก่อน เพื่อให้น้ำนมไหลง่ายขึ้น
ลดระยะเวลาที่ดูดให้สั้นลง
ถ้าจำเป็นต้องให้นมลูกทุก ๆ 1-2 ชม. คุณแม่ควรลดเวลาในการดูดแต่ละครั้งให้สั้นลงเหลือประมาณ 10-15 นาที หรือจนกว่าเต้าจะนิ่ม
อุ้มลูกให้กระชับ
อุ้มลูกให้กระชับที่สุดคือต้องไม่ให้เค้าสามารถดึงหัวนมเล่นได้ และเมื่อเค้าอิ่มแล้ว อย่าลืมปลดแรงดูดของลูกก่อนที่จะเอาหัวนมออกจากปากลูก
ไม่ต้องล้างหัวนมก่อนให้ลูกดูด
ก่อนให้นมลูก คุณแม่ไม่จำเป็นต้องเช็ดหรือล้างหัวนมบ่อย ๆ นะคะ เพราะจะยิ่งทำให้หัวนมแห้ง และจะแตกได้ง่าย
ใช้น้ำนมแม่ทาหัวนม
หลังจากที่ลูกกินนมอิ่มแล้วทุกครั้ง ให้คุณแม่บีบน้ำนมเหลืองหรือน้ำนมแม่ทาบนลานนมและหัวนมทั้งสองข้าง แต่ถ้าอยากให้ผิวชุ่มชื้นมากกว่านี้ คุณแม่อาจใช้ลาโนลิน (ไขมันชนิดหนึ่ง) แทนได้ค่ะ ใช้ในปริมาณเล็กน้อยก็พอ อย่าใช้สบู่ ครีม หรือน้ำมันนะคะ
หัวนมแตก เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์
ในข้อนี้ขอแยกเป็น 2 กรณี ดังนี้
- อาการไม่รุนแรง : คุณแม่ก็สามารถให้นมลูกต่อไปได้ ไม่จำเป็นต้องไปปรึกษาแพทย์ค่ะ
- มีอาการเจ็บหัวนมอย่างรุนแรง : หากเป็นในกรณีนี้ที่มีอาการเจ็บอย่างรุนแรง คุณแม่เองก็พยายามบรรเทาอาการด้วยตัวเองแล้วแต่ก็ยังไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ค่ะ เพราะหากปล่อยนานไป อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ในภายหลัง
ปัญหาหัวนมแตก เป็นปัญหาที่คุณแม่มือใหม่หลายคนอาจเผชิญอยู่ ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ ที่คุณแม่มือใหม่ไม่รู้ ก็คือ “การเข้าเต้าที่ถูกต้อง ต้องทำอย่างไร?” ซึ่งถ้าวันนี้คุณแม่ยังให้นมในท่าที่ไม่ถูกต้องอยู่ล่ะก็ รีบเปลี่ยนด่วนนะคะ เพราะการให้ลูกได้เข้าเต้าเป็นอะไรที่มีความสุขที่สุดแล้วค่ะ