เพราะความที่เป็นเด็ก เห็นอะไรก็ดูจะเป็นเรื่องสนุกไปเสียทุกเรื่อง แต่คนที่เป็นคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตและพิจารณานะคะว่าสิ่งไหนสนุกจริง หรือสิ่งไหนแฝงอันตราย โดยเฉพาะผลกระทบที่ตามมากับสุขภาพของลูก
ซึ่งหนึ่งในหลายๆ เรื่องที่เด็กๆ คิดว่าสนุก ก็คือการที่ไปเที่ยวแล้วเห็นฝูงนกพิราบมากมายที่เดินหาอาหารตามพื้น เด็กๆ ก็มักจะวิ่งเข้าใส่ เพราะชอบเวลาที่นกบินหนีขึ้นไปเป็นฝูงทำให้เราได้รับลมจากปีกนก แต่…รู้หรือไม่คะว่า เวลาที่นกกินอาหารแล้วนั้น มันก็จะถ่ายออกมาตามพื้น ซึ่งในมูลนกนี้ มีเชื้อราตัวหนึ่งที่เป็นสาเหตุของโรค วันนี้ผู้เขียนมีข้อมูลจาก นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข มาฝากค่ะ
สารบัญ
อากาศที่เปลี่ยนแปลง
เพราะช่วงนี้ (กันยายน) สภาพอากาศในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย เดี๋ยวฝนตก เดี๋ยวร้อน อากาศจึงค่อนไปในทางร้อนชื้น ซึ่งทำให้เชื้อเติบโตได้ดี โดยเฉพาะเชื้อรา
เชื้อราในมูลนก
เมื่อพูดถึงเชื้อราตัวร้ายในมูลนกช่วงนี้คงหนีไม่พ้น “เชื้อราคริปโตคอคคัสนีโอฟอร์แมนส์(Cryptococcus Neoformans)” ที่เป็นต้นเหตุของ “โรคคริปโตคอคโคสิส (Cryptococcosis)” เชื้อรานี้จะอาศัยในมูลนกโดยเฉพาะนกพิราบ ที่เรามักพบเจอได้บ่อยๆ เพราะมันจะอาศัยเกาะอยู่ตามบ้านเรือน ตามที่สาธารณะ หรือมาทำรังอยู่บนฝ้าเพดาน หรือหลังคาบ้าน
เชื้อราชนิดนี้ส่วนมากพบในตัวนกพิราบ เนื่องจากภายในตัวของนกพิราบมีอุณหภูมิสูงถึง 42 องศาเซลเซียส แต่เชื้อตัวนี้สามารถทนอยู่ได้ในทางเดินอาหารของนกพิราบและถ่ายออกมาเป็นอุจจาระ สำหรับผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้ โดยมากมักไม่แสดงอาการของโรคทางเดินหายใจ แต่จะมีอาการชัดเจนในรายที่เป็นโรคอื่นร่วมด้วย เช่น โรคมะเร็ง เป็นต้น
นอกจากนี้เชื้อราตัวนี้ยังพบได้ในมูลจากนกอื่นๆ ที่บางคนชอบเลี้ยงไว้ เช่น นกหงส์หยก นกแก้ว นกกระตั้ว นกแขกเต้า นกเอี้ยง นกเขา และ ไก่ เป็นต้น
อาการของผู้ที่เป็นโรคคริปโตคอคโคสิส
การได้รับเชื้อส่วนใหญ่จะเกิดจากการหายใจเอาสปอร์ราหรือเชื้อราในมูลนกที่พัดกระจายเข้าไป ไม่ใช่สัมผัสหรือรับเชื้อจากสัตว์โดยตรง เมื่อร่างกายได้รับเชื้อนี้เข้าไป ส่วนใหญ่มักมีอาการดังนี้
- ทำให้ปอดและสมองติดเชื้อ
- มีไข้ต่ำๆ
- ไอแล้วมีเลือดปนออกมาด้วย
- เจ็บหน้าอก
- สายตามีปัญหา มองไม่ค่อยชัด
- มึนงง เวียนหัว
- หากมีอาการติดเชื้อทางสมอง จะมีอาการสับสน และมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ก็พบได้น้อย โดยเข้าใจกันว่าในเนื้อสมองมีการตอบสนองจากเซลล์น้อย นอกจากนี้ น้ำในไขสันหลังนับเป็นแหล่งอาหารชั้นดี เพราะมีไนโตรเจนที่ดีเป็นจำนวนมาก ทำให้ยีสต์พวกนี้เจริญเติบโตได้เร็ว ผู้ป่วยส่วนมากมักมีอาการแค่ปวดหัวบ่อย และมีไข้เสมอๆ
- หากติดเชื้อในกระดูก กรณีนี้พบประมาณ 5-10% ของผู้ป่วยโรคนี้ ผู้ป่วยมักมีอาการกระดูกบวมโป่งและเจ็บปวดในบริเวณที่โป่ง
กลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับเชื้อรานี้
คนที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อนี้ได้โดยง่าย ได้แก่
- เด็กเล็ก
- ผู้สูงอายุ
- ผู้ป่วยโรคมะเร็ง
- คนที่อยู่ในภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
โดยกลุ่มคนเหล่านี้จะมีอาการรุนแรงและรักษาได้ยากกว่าคนปกติ
วิธีป้องกัน
- คนที่อยู่ในภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ควรหลีกเลี่ยงสถานที่หรือหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับบริเวณที่มีมูลนก หรือบริเวณที่นกอยู่อาศัย
- หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับกรงนกที่ไม่ได้ทำความสะอาด
- หากต้องทำความสะอาดอาคารเก่าหรือบริเวณที่นกอยู่อาศัย ควรหาผ้าปิดจมูกและปากให้เรียบร้อย
- ควรล้างมือทุกครั้งหลังทำความสะอาดพื้นที่หรือบริเวณที่นกอยู่อาศัย
- พยายามไม่ให้มีนกพิราบมาอาศัยอยู่ในบริเวณบ้าน หรือไล่ไปด้วยการกั้นด้วยตาข่ายใช้เข็มขัดรัดสายไฟมัดที่ระเบียงทีนกชอบเกาะ หรือกำจัดรังนก เป็นต้น
เพราะความที่นกพิราบเป็นสัตว์ปีกที่เราสามารถพบเห็นได้บ่อย ดังนั้น บางคนอาจลืมที่จะระมัดระวังตัวกันไป แต่อย่าลืมนะคะเมื่อไหร่ที่เราร่างกายอ่อนแอ เราจะรับเชื้อได้ง่ายมาก ลองคิดตามนะคะ….หากเกิดกับลูกเราล่ะ? ถ้าไม่อยากให้ลูกเราต้องเป็นโรคนี้เป็นรายต่อไป คุณพ่อคุณแม่ควรเพิ่มความใส่ใจระมัดระวังและป้องกันให้มากนะคะ กันไว้…ดีกว่าแก้ค่ะ
อ้างอิง สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ Healthcarethai.com