“ไข้หวัดใหญ่” นับเป็นอีกหนึ่งโรคที่สร้างความกังวัลให้กับคุณพ่อคุณแม่อยู่ไม่น้อย ฟังดูเผินๆ อาจไม่น่ากลัวอะไร ก็อาจจะหนักกว่าเล็กน้อย แต่…เดี๋ยวก่อนค่ะ อย่าเพิ่งนอนใจกันไป วันนี้โน้ตมีข้อมูลจาก ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และรศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย มาบอกกล่าวถึงโรคไข้หวัดใหญ่ให้ฟังค่ะ
โดยเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกแถลงข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ของโรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย พร้อมแนวทางรักษาด้วยนวัตกรรมสมัยใหม่ว่า
“คนมักเข้าใจว่า โรคไข้หวัดใหญ่ไม่ร้ายแรง สามารถหายได้เอง แต่จริงๆแล้ว หากวินิจฉัยว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ ต้องรีบรักษาเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคสู่ผู้อื่น โดยเฉพาะคนในครอบครัว และป้องกันความรุนแรงของโรคที่อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้”
ทางด้าน รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยกล่าวว่า
“โรคไข้หวัดใหญ่นั้นเดาความรุนแรงได้ยาก เพราะแม้จะเป็นเชื้อตัวเดียวกัน ทว่าแต่ละคนมีอาการรุนแรงมากน้อยต่างกัน ทำให้คนเข้าใจว่า โรคไข้หวัดใหญ่หายได้ด้วยตัวเองและไม่รุนแรงมาก ข้อเท็จจริง คือยิ่งรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ได้เร็ว จะยิ่งลดอาการรุนแรง อาการแทรกซ้อน ลดการเสียชีวิต”
ซึ่ง วิธีแยกความแตกต่างระหว่างไข้หวัดธรรมดาและไข้หวัดใหญ่ ก็คือ
หากลูกหรือคนในบ้านมีไข้สูง (เกิน 38 องศาเซลเซียส) นานเกิน 24-48 ชั่วโมง ควรรีบไปพบคุณหมอ เพื่อทำการวินิจฉัย และรักษาได้อย่างถูกต้อง
สถิติผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่นับตั้งแต่ต้น ปี 2562 – ปัจจุบัน
นอกจากนี้ รศ. (พิเศษ) นพ.ทวียังได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสถิติของผู้ที่ป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ นับตั้งแต่ วันที่ 1 ม.ค. –7 พ.ค. 2562 พบว่า
มีผู้ป่วยแล้ว 152,185 คน
เสียชีวิต 10 ราย
ซึ่งจำนวนที่ระบาดในปีนี้ถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ย้อนหลัง และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 2560-2561 ประมาณ 3-5 เท่า
โดยในปีนี้มีการคาดการณ์กันว่า จะมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ตลอดปี เป็นได้ว่าอาจทำให้ผู้ป่วยโรคนี้สูงขึ้นแตะถึง 2 แสนราย แต่ตัวเลขที่ได้นี้ก็ยังอาจจะต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะเมื่อใช้การคำนวณจากทั่วโลกแล้วพบว่า ผู้ใหญ่ที่ป่วยจะอยู่ที่ประมาณ 10 ใน 100 คน ซึ่งเด็กจะป่วยอยู่ที่ 40% ภาพรวมจะป่วยอยู่ที่ 20% และประเทศไทยมีประชากรราวๆ 70 ล้านคน ดังนั้น ตัวเลขที่จะป่วยจริงจะอยู่ที่ 1 ล้านคน
เตือนโรงเรียนช่วยกันรักษาความสะอาดและอนามัย
รศ. (พิเศษ) นพ.ทวียังได้แสดงความเป็นห่วงในส่วนของการเปิดภาคเรียนของเด็กๆ ซึ่งเป็นช่วงหน้าฝน เพราะการที่มีเด็กๆ มาอยู่รวมกันเยอะๆ ในโรงเรียน และถ้าหากโรงเรียนไม่ได้มีการรักษาความสะอาดหรืออนามัยในด้านต่างๆ อย่างทั่วถึงอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดไปยังคนในครอบครัวได้
ขณะนี้คุณหมอได้อยู่ในระหว่าการเตรียมวัคซีนไข้หวัดใหญ่สำหรับ 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่
- หญิงตั้งครรภ์
- ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง (ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่อยู่ระหว่างการทำเคมีบำบัด และโรคเบาหวาน)
- เด็กที่อายุตั้งแต่ 6 เดือน –3 ปี
- ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปี ขึ้นไป
- ผู้พิการทางสมองที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้
- ผู้ป่วยธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง(รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)
- ผู้ที่มีโรคอ้วน (น้ำหนัก>100 กิโลกรัม หรือ BMI >35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)
ทั้งนี้ วัคซีนตัวดังกล่าว อยู่ในกระบวนการทดสอบขั้นสุดท้าย คาดว่าน่าจะประมาณอีก 2-3 ปี จะมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่สามารถผลิตและใช้เองและสามารถตอบโจทย์ในเรื่องนี้ได้
รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี ยังกล่างทิ้งท้ายว่า สำหรับการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่นั้น จริงๆ จะมียา “โอเซลทาวิเมียร์” ที่สามารถยับยั้งไม่ให้ไวรัสเจริญเติบโตได้ ปัจจุบันก็ได้มีการพัฒนายาใหม่ๆ ขึ้นมา และได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว เป็นยาที่ทานเพียงครั้งเดียวเท่านั้น แต่…มีราคาแพงมาก ซึ่งเริ่มมีการใช้ในโรงพยาบาลเอกชนเท่านั้น
ราคาวัคซีนโรคไข้หวัดใหญ่โดยประมาณ
- โรงพยาบาลรัฐ ราคาเข็มละ 500-600 บาท
- โรงพยาบาลเอกชน ราคาเข็มละ 400-1,500 บาท