“เด็กกินยาก” ปัญหาคลาสสิกและประโยคคุ้นหู หากคุณพ่อคุณแม่มีลูกน้อยตั้งแต่วัย 1-6 ขวบจะเจอกับปัญหานี้บ่อยแน่นอน บางครอบครัวทั้งขู่ ทั้งปลอบก็แล้วลูกก็ไม่ยอมกิน และเมื่อโดนบังคับหนักๆ เข้า เอามือเขี่ยจานข้าวออก แล้วบอกเราว่า “อิ่มค่ะ/ครับ”
แต่เดี๋ยวก่อน…หากคุณพ่อคุณแม่ลองหยุดคิดซักนิด ลองคิดถึง “สาเหตุ” ว่าอะไร หรือ ทำไมลูกน้อยไม่ทานข้าว แล้วหาวิธีแก้กันไปให้ตรงจุด ทีละจุด น่าจะดีกว่ามานั่งกลุ้มใจและบ่นกับตัวเองว่า “ทำไมลูกไม่กินข้าว?”
สารบัญ
สาเหตุเด็กกินยาก
สนใจกิจกรรมใหม่รอบตัว
ธรรมชาติของเด็กวัย 1 ขวบขึ้นไปจะเริ่มมีความสนใจต่อสิ่งรอบตัวมากขึ้น อะไรๆ ก็ดูจะสนุกไปซะหมด อยากที่จะเล่นสนุกอยู่ ส่วนหิวก็หิวนะคะ แต่อยากเล่นมากกว่า
เบื่อง่าย
เพราะลูกน้อยชอบเรียนรู้กับสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ…เมนูอาหารก็เช่นกันถ้าเจอซ้ำบ่อยๆ ก็ไม่แปลกที่เค้าจะเบื่อ
สาเหตุหลักๆ มีอยู่ไม่กี่ข้อก็จริง แต่หน้าที่ของคุณแม่หนักกว่านั้นค่ะ^^ เพราะนอกจากจะต้องทำความเข้าใจลูกน้อยแล้ว ยังจะต้องช่วยบิ้วด์ลูกอีกต่างหาก มาดูวิธีบิ้วด์และแนวทางการปรับพฤติกรรมเด็กกินยากกันค่ะ
เด็กกินยากับแนวทางปรับพฤติกรรม
- รับประทานอาหารพร้อมหน้ากันทั้งครอบครัว เป็นการกระตุ้นลูกให้อยากทานข้าวและลูกมักชอบเลียบแบบผู้ใหญ่ คุณพ่อคุณแม่ถือโอกาสนี้รับประทานผัก ผลไม้ให้ลูกเห็นด้วยก็ดีนะคะ เพื่อลูกจะได้ซึมซับพฤติกรรมนี้ไปด้วย
- ไม่เปิดทีวีระหว่างรับประทานอาหาร รวมไปถึงมือถือหรือแทบเล็ต หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการรับประทานอาหาร เพราะจะทำให้ลูกไม่มีสมาธิกับการรับประทานอาหาร ส่งผลให้ลูกรับประทานได้น้อยลง
- ให้เวลารับประทานอาหาร 30 นาที หรือจนกว่าคุณพ่อคุณแม่จะรับประทานเสร็จ หากลูกยังทานไม่เสร็จให้เก็บอาหารไปจากโต๊ะ เพื่อเป็นการ “ฝึกวินัย” ในการรับประทานอาหารให้ลูกอีกทางหนึ่ง
- ตักอาหารให้พอดีที่ลูกทาน เป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่กระตุ้นให้ดูน่าทาน เพราะหากตักเยอะเกินไป บางทีแค่เห็นก็อิ่มแล้ว
- สร้างบรรยากาศดีๆ ขณะรับประทานอาหาร ด้วยการพูดคุยสนุกสนาน และอย่าลืมชื่นชมลูกตามสมควร เมื่อลูกรับประทานได้เยอะขึ้นหรือหมดจานนะคะ
- อย่าบังคับให้ลูกรับประทาน การบังคับให้ลูกทาน แน่นอนว่าจะทำให้ลูกมีทัศนคติไม่ดีเวลารับประทานอาหาร
ทางที่ดี คุณแม่ลองปรับหน้าตาของอาหารให้ดูน่ารับประทานมากขึ้นด้วยการ อาจทำข้าวเป็นรูปตุ๊กตา ประดิษฐ์ตกแต่งให้มีสีสันน่าทาน หรือใช้จาน ชามที่มีลายการ์ตูนที่เด็กชอบ เป็นต้น - งดเว้นขนมขบเคี้ยวก่อนมื้ออาหาร ก่อนมื้ออาหารในที่นี้คือ ประมาณ 1-2 ชม. เพราะจริงๆ ธรรมชาติของเด็กกับขนมเป็นของคู่กัน คุณพ่อคุณแม่ให้เค้าทานได้ค่ะ แต่ว่าต้องจำกัดปริมาณและดูเวลาที่เหมาะสม
- อย่าถึงขั้นต้องลงโทษ ก่อนรับประทานข้าวคุณพ่อคุณแม่ต้องทำความเข้าใจกับลูกก่อน เช่น หากลูกไม่รับประทานข้าว แม่จะงดขนมจนกว่าจะถึงเวลารับประทานข้าวในมื้อถัดไป ถ้ามื้อถัดไปลูกไม่รับประทานข้าวอีกแม่ก็จะงดขนมลูกอีก เป็นต้น
- ชวนลูกเข้าครัวทำอาหารด้วยกัน นอกจากลูกจะได้ความสนุกจากการทำอาหารแล้ว ลูกยังตื่นเต้นกับจานที่ลูกทำเองอีกด้วยค่ะ เป็นการกระตุ้นความอยากทานอาหารได้อย่างดีทีเดียว
สิ่งที่ควรเลี่ยงถ้าลูกเป็นเด็กกินยาก
- น้ำหวาน นม หรือน้ำอัดลมระหว่างมื้อ เพราะจะทำให้กระเพาะน้อย ๆ ของลูกอิ่ม และย่อยไม่ทันสำหรับอาหารมื้อต่อไป
- ขนมกรุบกรอบ ขนมขบเคี้ยว และขนมหวาน หรือที่เรียกว่าของว่างต่าง ๆ
- ไม่ควรมีสิ่งที่มาเบี่ยงเบนความสนใจในการทานข้าวของลูกน้อย เช่น มือถือ ทีวี หรือแทบเล็ต
ผลเสียของการเป็นเด็กกินยาก
“ทำไมต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลูกกินยาก ทั้งๆ ที่ เมื่อโตไปเกิน 5 หรือ 6 ขวบ พฤติกรรมเหล่านี้ของลูกก็จะหายเอง?”
…นั่นก็เพราะว่าถ้าหากเราปล่อยไว้เนิ่นนาน ลูกน้อยได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จะส่งผลเสียมากมายต่อพัฒนาการทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ดังนี้ค่ะ
- ร่างกายเติบโตช้า เพราะขาดสารอาหารไปเสริมสร้างสมอง กล้ามเนื้อและกระดูก ส่งผลให้มีรูปร่างเล็ก ผอม อ่อนแอ ไม่มีกำลัง เจ็บป่วยง่าย
- ขาดวิตามินสำคัญในการไปดูแลเสริมสร้าง หรือซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย ส่งผลให้เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ผิวหนังอักเสบ เลือดออกตามไรฟัน โลหิตจาง และกระดูกไม่แข็งแรง
- สมองทำงานช้า และล้าเร็ว
- ท้องผูก ระบบขับถ่ายทำงานผิดปกติ เพราะขาดวิตามินและเกลือแร่ ที่มีส่วนทำให้ลำไส้ทำงานปกติ
สำหรับปัญหาเด็กกินยาก เป็นอะไรที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนต้องเจออยู่แล้วค่ะ เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ใจเย็นๆ ค่อยเป็นค่อยไป หรือถ้าคุณแม่จะเริ่มโมโหลูก ให้ “ตั้งสติแล้วสูดหายใจเข้าลึกๆ” ซัก 2-3 ครั้ง คุณแม่จะเย็นลงค่ะ เป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวนะคะ