เชื่อว่าหลาย ๆ คนทราบกันดีค่ะว่า ใน “น้ำนมแม่นั้นมีประโยชน์มากมาย” โดยเฉพาะต่อลูกน้อย แต่ยังมีอีกหนึ่งคนที่ได้รับประโยชน์จากการให้นมลูกเช่นกัน นั่นคือ ตัวของคุณแม่นั่นเองค่ะ วันนี้เราจะไปทำความรู้จักกับ “น้ำนมแม่” กัน ไปดูกันค่ะว่ามีอะไรบ้าง
สารบัญ
น้ำนมแม่
เมื่อพูดถึงน้ำนมแม่ โดยปกติแล้วควรให้ลูกดูดนมแม่ภายใน ½ – 1 ชม. หลังคลอด ถึงแม้ว่าน้ำนมจะยังไม่ไหลออกมาในทันที แต่เพื่อเป็นการกระตุ้นต่อมน้ำนมให้ผลิตน้ำนมออกมา ขณะเดียวกันตัวของทารกน้อยเองก็ยังดูดไม่เก่ง แต่จะเน้นหลับเป็นส่วนใหญ่ดังนั้น คุณแม่ต้องอาศัยปั๊มนมเก็บไว้แทนก่อนในช่วงแรก โดยใช้เครื่องปั๊มปรับแรงดูดให้เบาที่สุด และทำทุก ๆ 2-3 ชม. เพราะเมื่อเวลาที่คุณแม่และลูกน้อยกลับบ้าน ลูกจะกินนมทุก ๆ 2-3 ชม. เหมือนกันค่ะ ที่สำคัญ
ถ้ามีอาการ “เจ็บหน้าอก” แล้วให้หยุดพักจนกว่าจะหายดี เพราะหากทนปั๊มต่อไปอาจทำให้ “หัวนมแตก” ซึ่งคุณแม่จะเจ็บมากเวลาลูกน้อยต้องเข้าเต้าต่อไปเรามาทำความรู้จักกับระยะของน้ำนมกันให้มากขึ้นดีกว่าค่ะ
ระยะของน้ำนม
น้ำนมแม่ระยะที่ 1 : หัวน้ำนม (Colostrum)
เป็นน้ำนมแรกที่มีลักษณะข้น มีสีเหลืองอมส้มนิดๆ ของวิตามินเอ จะอยู่ในช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอด เป็นน้ำนมที่มีคุณภาพเยี่ยมสุดๆ ค่ะ เพราะมีสารอาหารที่ช่วยเสริมสร้างสมองและสายตา ช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้แต่หัวน้ำนมนี้จะมีปริมาณที่น้อย เรียกได้ว่าแทบติดก้นขวดทีเดียว
สารอาหารในหัวน้ำนม
- ในหัวน้ำนมนี้จะมีสารอาหารที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยในการขับถ่ายขี้เทาออก ป้องกันอาการตัวเหลือง
- มีสารที่ช่วยสร้างภูมิต้านทานที่ดีกับลูก เช่น IgA แลคโตเฟอริน เซลล์เม็ดเลือดขาว รวมถึงโปรตีนต่าง ๆ และช่วยป้องกันการติดเชื้อ
น้ำนมแม่ระยะที่ 2 : น้ำนมใส (Transitional Milk)
เป็นน้ำในช่วงถัดมาที่เป็นส่วนผสมของหัวน้ำนมและน้ำนมขาว ช่วงนี้ควรให้ลูกเข้าเต้าดูดนมทุก ๆ 2-3 ชม. นะคะ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้มีการผลิตน้ำนมที่เยอะขึ้นค่ะ
สารอาหารในน้ำนมใส
สารอาหารในน้ำนมใสนี้จะประกอบไปด้วยไขมัน แลคโตส และวิตามินที่ละลายน้ำได้ และที่สำคัญ มีปริมาณแคลอรี่ที่สูงกว่าช่วงหัวน้ำนม
น้ำนมแม่ระยะที่ 3 : น้ำนมขาว (Mature Milk)
หลัง 7-10 วันไปแล้ว น้ำนมจะขาวขึ้น ปริมาณน้ำนมมากขึ้น การให้ลูกดูดน้ำนมให้เกลี้ยงเต้าจะช่วยให้มีการผลิตน้ำนมที่มากขึ้นค่ะ
สารอาหารในน้ำนมขาว
- โปรตีนเคซีนชนิดเบต้า แลคโตเฟอริน อิมมูโนโกลบูลิน A (IgA) ไลโซไซม์ และซีรัมอัลบูมิน เหล่านี้ล้วนเป็นโปรตีนที่ช่วยในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค ช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน และยังช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อจากเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ ได้อีกด้วย
- มีสารอาหารอย่าง DHA และ ARA ซึ่งเป็นกรดไขมันจำเป็น มีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบประสาทและการมองเห็นของลูกน้อย
- มีโพรไบโอติก (Probiotics) ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เซลล์ทางเดินอาหารของลูกน้อยในการสร้างโปรตีน ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบ และกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย
ประโยชน์ของนมแม่ต่อลูกน้อย
ในน้ำนมแม่มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อลูกน้อยในหลาย ๆ ด้าน ดังนี้
พัฒนาการด้านสมอง
มีงานวิจัยระบุว่าทารกที่กินนมแม่จะมีพัฒนาการด้านสมองและเชาว์ปัญญา (IQ) ที่ดีกว่าทารกที่กินนมผสม ซึ่งสามารถวัดได้เมื่อเด็กเข้าสู่วัยเรียน นอกจากนี้สารอาหารและวิตามินอื่น ๆ ในน้ำนมจะมีส่วนช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางสมองและเซลล์ประสาทให้ทำงานได้อย่างปกติอีกด้วย
พัฒนาการด้านระบบภูมิคุ้มกัน
น้ำนมแม่มีส่วนช่วยในการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ด้วยการสร้างแอนติบอดี้ (Antibody) ขึ้นมา ซึ่งจะช่วยต่อต้านอาการเจ็บป่วยทั่วไป การติดเชื้อจากแบคทีเรีย ตลอดจนเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ (RSV) ได้
พัฒนาการด้านร่างกาย
เมื่อลูกเข้าสู่วัยที่ต้องเริ่มทรงตัว น้ำนมแม่จะช่วยให้ลูกมีการทรงตัวที่ดี เนื่องจากมีพัฒนาการด้านกระดูกและกล้ามเนื้อที่แข็งแรง
ประโยชน์ของแม่กับการให้นมลูก
ในระหว่างที่คุณแม่กำลังให้น้ำนมลูกนั้น ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนตัวหนึ่งที่มีชื่อว่า ออกซิโทซิน (Oxytocin) เพื่อช่วยให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็วยิ่งขึ้น และช่วงที่เป็นระยะให้นมนี้ร่างกายของคุณแม่ต้องใช้พลังงานในการผลิตน้ำนมให้ลูกน้อยที่มากกว่าปกติเกือบ 500 Kcal ทำให้มีการดึงพลังงานจากไขมันที่สะสมในร่างกายช่วงตั้งครรภ์มาใช้ ส่งผลให้คุณแม่จะมีร่างกายที่สวยเพรียวเหมือนก่อนตั้งครรภ์ได้แน่นอนค่ะ
ช่วงที่แม่โน้ตให้นมน้องมินนะคะ น้ำหนักแม่โน้ตลดลงไปเยอะเลย สุดท้ายแล้วผอมกว่าช่วงก่อนตั้งครรภ์อีกค่ะ เพราะฉะนั้นถ้าคุณแม่ท่านไหนสามารถให้นมลูกได้นาน ๆ และลูกก็ชอบกินนมคุณแม่ก็ให้ได้เลยเต็มทีนะคะ ไม่ต้องคำนึงเลยว่าเกิน 6 เดือนแล้ว ฉันจะหยุด เพราะนมแม่มีประโยชน์มาก ๆ ค่ะ จำไว้ค่ะ…ยิ่งนาน ยิ่งดี
กรณีลูกเข้าเต้าได้ดี
ข้อนี้คงแฮปปี้ทั้งแม่ทั้งลูกน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกน้อยนะคะ หากลูกน้อยได้ดูดน้ำนมจากอกแม่แล้วจะทำให้เขานอนได้นานขึ้น (นานกว่ากินนมแม่จากขวด) นั่นก็เป็นเพราะลูกน้อยได้ทั้งอิ่มท้องและอิ่มใจค่ะ ได้หลับในอ้อมกอดคุณแม่
กรณีลูกปฏิเสธเต้า
สามารถแก้ได้ดังนี้ค่ะ
- นับจากหลังคลอด ให้ปั๊มนมเก็บไว้ทุก ๆ 2-3 ชม. แรกๆ อาจจะได้ไม่เยอะเท่าไหร่ แต่ไม่เป็นไรค่ะ ปั๊มไปเรื่อย ๆ โดยต้องปั๊มให้เกลี้ยงเต้าทุกครั้ง น้ำนมจะเริ่มมาเยอะจริง ๆ ก็เข้าวันที่ 3-4 หลังคลอดค่ะ
- ถ้าบางช่วงของวันไม่สะดวกปั๊ม ก็ให้ปรับมาเป็นทุก ชม. โดยใน1 วัน ควรต้องปั๊มนมให้ได้ 7-10 ครั้ง
- ในช่วงกลางดึก อาจไม่ต้องลุกขึ้นมาปั๊มก็ได้ค่ะ แต่อาศัยปั๊มก่อนนอนแทน เพื่อให้คุณแม่ได้พักผ่อนเต็มที่
- ควรจดบันทึกปริมาณที่ปั๊มออกมาในแต่ละครั้งเพื่อเก็บเป็นสถิติค่ะ
ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดเลย คือ “คุณแม่ต้องมีวินัยและไม่เครียดนะคะ“ เพราะความเครียดอาจเป็นเหตุให้ปริมาณน้ำนมลดลงได้ค่ะ
อุปกรณ์ในการปั๊มน้ำนมแม่ และเก็บน้ำนม
- เครื่องปั๊มนมมีทั้งแบบใช้ไฟฟ้า ใช้แบตเตอรี่ และแบบปั๊มมือธรรมดา ข้อนี้แล้วแต่คุณแม่จะสะดวกเลยค่ะ แบบไหนก็ได้ไม่ว่ากัน
- ถุงเก็บน้ำนม หรือ ขวดเก็บน้ำนมก็ได้ค่ะ
- ตู้เย็นเก็บสต้อคน้ำนมแม่ หรือกระติกน้ำแข็ง (กรณีที่คุณแม่ต้องเตรียมไปปั๊มนมนอกบ้าน)
ทั้งนี้ ในเรื่องของ “วิธีสต๊อคนมแม่ และการจัดเรียงให้ประหยัดเนื้อที่ในตู้เย็น” ก็เป็นเรื่องสำคัญค่ะ โดยเฉพาะคุณแม่ที่น้ำนมเยอะต้องปั๊มออกหรือคุณแม่ที่ต้องเตรียมตัวกลับไปทำงาน และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การดูแลเรื่องอาหารการกินของคุณแม่ เพราะสารอาหารจากอาหารที่แม่กินเข้าไป สามารถส่งผ่านจากน้ำนมไปยังลูกน้อยได้เช่นกันค่ะ