“ชีวิตคู่” เริ่มต้นจริงๆ ก็เมื่อหลังจากที่คนสองคนตกลงปลงใจจะแต่งงานกินอยู่กันฉันสามีภรรยา หลายคนใฝ่ฝันอยากสร้างครอบครัวที่อบอุ่น มีลูกที่น่ารัก มีความเข้าใจให้ในกันและกันทะเลาะกันให้น้อยที่สุด หรือไม่ก็ไม่ทะเลาะกันเลย เป็นต้น
สำหรับมุมมองของผู้เขียนกับคำว่า “ครอบครัวที่อบอุ่น” นั้น ผู้เขียนไม่ได้ให้น้ำหนักกับมันมาก เพราะจริงๆ แล้วมีสิ่งอื่นๆ ที่สำคัญกว่า จะเป็นเพราะอะไร และมีอะไรบ้าง ไปดูกันค่ะ
สารบัญ
ครอบครัวที่อบอุ่น VS ครอบครัวที่ไปได้ตลอดรอดฝั่ง
หลายคน หลายคู่ คุ้นชินกับคำๆ นี้ “ครอบครัวที่อบอุ่น” แต่…รู้สึกหรือไม่คะว่ามันเหมือนเป็นการปักธงแห่งความคาดหวังซึ่งคนที่เหนื่อย ต้องแบกภาระแห่งความคาดหวังนี้ก็คือ ตัวเอง และคนในครอบครัว ที่ผู้เขียนพูดแบบนี้ไม่ใช่ว่าไม่อยากเห็นครอบครัวอบอุ่น เพียงแต่กำลังจะพยายามให้หลายๆ คนลองมาคิดทบทวนดูดีๆ ว่าการมี “ชีวิตคู่แบบทั่วไป” เป็นอย่างไร
แน่นอนว่า คนสองคนต่างการเลี้ยงดู ต่างสภาพแวดล้อม ต่างประสบการณ์มาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันตลอด 24 ชม. ต้องเจออะไรบ้าง?
- บางวันยิ้มใส่กันบางวันหันหลังชนกัน
- บางวันกระโดดกอดกัน บางวันปิดประตูใส่กัน
- บางวันหัวเราะได้ในเรื่องเดียวกัน บางวันเห็นแย้งกันทุกเรื่อง
- บางวันอยากอยู่ใกล้กัน บางวันอยากแยกห้องนอนเป็นต้น
แล้ว “การมีครอบครัวที่ไปได้ตลอดรอดฝั่ง” เป็นอย่างไร?
การมีครอบครัวที่ไปได้ตลอดรอดฝั่ง ก็คือ สามีภรรยา…
ยอมรับได้ทั้งข้อดี และข้อเสียของกันและกันได้
สำหรับเรื่องของข้อดีผู้เขียนคงไม่ต้องขยายความ เพียงแต่พยายามรักษาข้อดีเอาไว้อย่าให้ลดเป็นพอ แต่สำหรับ “ข้อเสีย” ผู้เขียนขอกาดอกจันให้เลยล้านตัว เพราะทั้งคู่ต่างก็มีข้อเสียด้วยกันทั้งนั้น ต่างคนต้องยอมรับกันให้ได้ หรือไม่หากเรื่องไหนที่สามารถปรับได้ก็ปรับ
ให้เกียรติซึ่งกันและกัน
ลองย้อนไปวันแรกที่คบกันลองดูซิคะว่า เราให้เกียรติเค้าในเรื่องอะไรบ้าง แล้วในวันนี้ชีวิตคู่ยังทำอย่างนั้นอยู่หรือเปล่า เรื่องไหนที่ขาดหายไป ถึงแม้จะใช้ชีวิตร่วมกันแล้วก็ไม่ได้หมายความว่า “เราจะทำอะไรก็ได้ ไม่ต้องเกรงใจกัน” กลับกัน มันจะยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ดูไม่มั่นคงเท่าที่ควร
รู้จักกล่าวคำว่า “ขอโทษ”
เพราะความใกล้ชิด ความที่อยู่ใต้ชายคาเดียวกัน อาจทำให้ละเลย หรือมองข้ามบางสิ่งบางอย่างที่ละเอียดอ่อนไป แต่มันกลับมีผลทางจิตใจ การรู้จักกล่าวคำว่า “ขอโทษ” จะทำให้เรื่องที่หนักกลายเป็นเบา เรื่องที่เบาก็กลายเป็นไม่มีอะไรติดค้างในใจได้ค่ะ
เอาใจเขามาใส่ใจเรา
คำว่า “หัวหน้าครอบครัว” ทุกคนจะมุ่งไปว่าต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัว เป็นเสาหลักให้ครอบครัว ส่วนคำว่า “แม่บ้าน” เป็นแม่ของลูก แม่ของบ้าน ทำงานบ้านทุกอย่าง ทำกับข้าว ดูแลความสะอาด และความเรียบร้อยภายในบ้าน
ทุกคนต่างมีหน้าที่ของตัวเอง ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างเหนื่อยกันคนละแบบ ดังนั้น อย่าไปคิดว่าใครเหนื่อยกว่าใครเราเองจะไม่มีความสุขซะเปล่าๆ ค่ะ
รู้จักการอดทน อดกลั้น
ข้อนี้ต้องขึ้นอยู่กับการ “ปักธงทางความคิด” เพราะการอดทน อดกลั้นไม่ได้หมายความว่า อดทนแล้วต้องเก็บปัญหาเหล่านั้นเอาไว้ แต่ควรจะหันหน้ามาพูดคุยกัน ช่วยกันหาทางออก คุยกันด้วยเหตุผลที่ถูกต้องและเหมาะสม พบกันคนละครึ่งทาง
ให้อภัย
ข้อนี้ก็สำคัญไม่แพ้ข้ออื่นๆ หากอีกคนรู้จักขอโทษ แต่อีกคนไม่รู้จักการให้อภัย อย่างนี้ชีวิตคู่ก็จะไปได้แบบไม่มั่นคงนัก
เรื่องของชีวิตคู่ “การปักธงทางความคิด” เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าปักธงว่า “ครอบครัวเราต้องอบอุ่น” ทางเดินชีวิตคู่ก็จะดูแคบและอึดอัด ถ้าปักธงความคิดซะใหม่เป็น “ครอบครัวของเราต้องไปได้ตลอดรอดฝั่ง” ทางเดินชีวิตคู่ก็จะกว้างขึ้น เดินได้สะดวกขึ้น เพราะเราจะรู้ว่าต้องทำอย่างไร…เราถึงจะได้อยู่กันไปจนแก่จนเฒ่า เราจะมองออกว่าเรื่องอะไรในชีวิตคู่และชีวิตครอบครัวที่ควรให้ความสำคัญ เป็นกำลังใจให้ทุกคู่นะคะ