การแต่งงานไม่ว่าจะเป็นประเพณีของชนชาติใดก็ล้วนแล้วแต่มีความงดงามเฉพาะตัว ซึ่งการแต่งงานแบบจีนก็มีความงดงามอยู่ไม่น้อยเช่นกัน แต่เนื่องด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ขั้นตอนการแต่งงานจากสมัยโบราณก็อาจมีการปรับเปลี่ยนไปบ้างตามความเหมาะสม อย่างการแต่งงานแบบจีนสมัยใหม่ก็เป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสมในหลาย ๆ ด้านเช่นกัน ซึ่งจะมีขั้นตอนอะไรบ้าง ไปติดตามกันค่ะ
สารบัญ
7 ขั้นตอน การแต่งงานแบบจีนสมัยใหม่
มีขบวนขันหมาก
ขบวนขันหมากเป็นลำดับพิธีการแรกของการแต่งงาน โดยฝ่ายเจ้าบ่าวจะเป็นผู้ตระเตรียมเครื่องขันหมาก และสินสอดทองหมั้น ได้แก่ พานสินสอดทองหมั้น, พานแหวนหมั้น, ส้ม, กล้วย, อ้อย และขนมแต่งงาน ที่แปะกระดาษ ฉลุลายมงคลตามแบบอย่างจีน เมื่อสิ่งของเหล่านี้พร้อมหมดแล้ว การแต่งงานก็เริ่มขึ้นได้ตามฤกษ์ที่ได้ดูไว้ก่อนหน้า ซึ่งการเดินขบวนขันหมากนี้จะเป็นญาติของฝ่ายเจ้าบ่าวทั้งหมด แต่ถ้าไม่พอสามารถให้เพื่อนเจ้าบ่าวมาร่วมเดินได้ โดยมีทั้งหมด 10 คน และจะมีผู้นำขบวน 2 คนซึ่งเป็นคู่สามีภรรยาที่ประสบความสำเร็จในชีวิตคู่
การสู่ขอ
จากฤกษ์ดีที่ได้มา เมื่อถึงฤกษ์การสู่ขอ เจ้าบ่าวพร้อมด้วยพ่อแม่และเถ้าแก่ จะนำขนมหรือผลไม้ติดมือไปยังบ้านของฝ่ายเจ้าสาว เพื่อพูดคุยสู่ขออย่างเป็นทางการ ซึ่งหลัก ๆ ก็จะมีอยู่ว่า “เนื่องจากทางผู้ใหญ่ได้เห็นว่าหนุ่มสาวทั้งสองคนรักใคร่ และดูใจกันมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ผนวกกับว่าวันนี้เป็นวันมงคล จึงได้ยกขบววนสินสอดทองหมั้นมาเพื่อสู่ขอเจ้าสาวให้เจ้าบ่าวได้ดูแล” ในขณะที่ฝ่ายเจ้าสาวก็ตอบในแนวที่ว่า “ที่ผ่านมาก็เห็นว่าทั้งคู่มีความเหมาะสมกันดี ยินดีต้อนรับลูกเขย พร้อมทั้งยินดียกเจ้าสาวให้เจ้าบ่าวได้ดูแล” เป็นเสร็จขั้นตอนการสู่ขอ
รับตัวเจ้าสาว
ขั้นตอนนี้ที่บ้านของฝ่ายเจ้าสาวอาจมีการกั้นประตู พร้อมกับขั้นตอนการไหว้ฟ้าดิน ไหว้เจ้าที่เจ้าทางและบรรพบุรุษ จากนั้นก็จะเข้าสู่การยกน้ำชาให้พ่อแม่ของฝ่ายเจ้าสาว เมื่อได้เวลาที่ต้องออกจากบ้าน ให้พ่อเจ้าสาวส่งตัวเจ้าสาวให้เจ้าบ่าว โดยมีญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายเจ้าสาวถือตะเกียงนำขบวน
พิธีหมั้น
หลังจากที่เจ้าบ่าวรับตัวเจ้าสาวมาแล้ว ก็ให้เข้ามาสู่บริเวณพิธีได้เลย โดยจะมีพ่อแม่ และเฒ่าแก่ของฝ่ายเจ้าสาวเปิดและนับสินสอด พร้อมกับเรียงสินสอดใหม่บนผ้าแดงที่โรยข้าวตอกดอกไม้เป็นการให้พร เพื่อความเป็นสิริมงคล จากนั้นแม่ของฝ่ายเจ้าสาวจะยกห่อผ้าแดงที่มีสินสอดนั้นขึ้นบนบ่า ลุกขึ้นเดินสักเล็กน้อย เหมือนเป็นสัญลักษณ์แสดงว่าได้แบกสินสอดกลับบ้าน และส่งห่อผ้าแดงสินสอดนั้นให้กับคนที่เอาสินสอดไปเก็บ แล้วค่อยเข้าสู่พิธีหมั้นได้
ป้อนขนมอี๊
ขนมอี๊ เป็นสัญลักษณ์ของความรักและความกลมเกลียว โดยหลังจากการสวมแหวนหมั้นแล้ว สามารถแทรกขั้นตอนการทานขนมอี๊ได้ ในขนมอี๊จะต้องมีไข่ต้มคนละ 2 ใบ โดยสลับกันป้อน จากนั้น คู่บ่าวสาวจ้อต้องเสิร์ฟให้พ่อแม่ และเฒ่าแก่ของทั้งสองฝ่าย ในขณะที่เจ้าหน้าที่ในงานจะช่วยเสิร์ฟให้แขกท่านอื่น ๆ ในงาน
พิธียกน้ำชา
จะเป็นการยกน้ำชาให้กับญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายชาย โดยพิธีกรจะขานชื่อโดยเรียงตามลำดับความอาวุโส เริ่มตั้งแต่พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ตลอดจนลุงป้า น้าอา และพี่ (มากันเป็นคู่) ให้นั่งพร้อมหน้ากัน และเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะนั่งคุกเข่าลงพร้อมกับรินน้ำชาให้ผู้ใหญ่ วางลงบนถาด ส่งให้ผู้ใหญ่ดื่ม ผู้ใหญ่ก็จะอวยพร พร้อมกับเงินทอง เพื่อเป็นทุนในการตั้งตัว
พิธีส่งตัว
ข้อนี้จะจัดที่บ้านหรือที่โรงแรมก็ได้แล้วแต่สะดวก โดยพิธีส่งตัวจะเริ่มจากคู่บ่าวสาวจะกราบพ่อแม่ของเจ้าสาว เนื่องจากจะไม่ได้ร่วมส่งตัวด้วย พ่อแม่เจ้าสาวจะรดน้ำมนต์พร้อมให้พร แล้วจึงตั้งขบวนส่งตัว ซึ่งจะประกอบไปด้วยคนถือตะเกียง และถือเซฟ จะเป็นพี่ชายหรือน้องชายก็ได้ จากนั้นต้องมีคนถือต้นถั่งเช่า และกระเป๋าเดินทาง พร้อมทั้งยังมีพ่อแม่ และญาติ ๆ ของฝ่ายเจ้าบ่าวที่ร่วมเดินขบวนมาส่งที่ห้อง เมื่อเข้ามาในส่วนของห้องนอน ของที่ถือมาทั้งหมดจะวางไว้ที่หัวเตียง เป็นอันเสร็จขั้นตอน
หลังจากที่เสร็จพิธีส่งตัวแล้ว ต่อไปก็จะเป็นส่วนของงานฉลองในเวลากลางคืน และทั้งหมดนี้ก็จะเป็นพิธีการแต่งงานแบบจีนสมัยใหม่ ซึ่งนิยมกันมากในปัจจุบัน เนื่องจากใช้เวลาไม่นาน และยังเป็นการทำถูกต้องตามประเพณีอีกด้วยค่ะ