คุณแม่ที่มีลูกเล็กก็คิดว่าตัวเองสังเกตลูกดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะ “ขา” และมั่นใจในตัวเองพอสมควรว่าลูกตัวเองขาไม่โก่งแน่นอน จนมีหลายคนทักว่า “ลูกขาโก่ง” ซึ่งคุณแม่เองก็ไม่แน่ใจว่าคนที่มาทักนี้มีความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กมากหรือน้อยแค่ไหน (ยกเว้นถ้าเป็นคุณหมอมาทักนะคะ) จึงทำให้คุณแม่เริ่มพารานอยด์ เริ่มไม่แน่ใจว่าลูกตัวเองมีพัฒนาการขาที่ปกติหรือไม่ แบบไหนที่เรียกว่าปกติ และแบบไหนที่ควรได้รับการรักษา
สารบัญ
ลักษณะภาวะขาโก่งในเด็ก
ภาวะขาโก่งในเด็กสามารถเกิดขึ้นได้หลายแบบค่ะ มีทั้งโก่งออกด้านข้าง โก่งเข้าด้านใน โก่งไปด้านหน้า และโก่งไปด้านหลัง แต่ส่วนใหญ่ 95% ของเด็กวัยหัดเดินจะโก่งออกด้านนอก หรือโก่งออกข้าง ๆ
ภาวะขาโก่งในเด็กเกิดได้จาก 2 สาเหตุ คือ
ต้องขดตัวเมื่ออยู่ในท้องคุณแม่
เพราะขณะที่เด็กอยู่ในท้องของคุณแม่ซึ่งเป็นที่แคบ จึงทำให้เด็กต้องงอแขนและขา จึงทำให้กล้ามเนื้อบางมัดและเส้นเอ็นบางเส้นมีอาการตึง ลักษณะของกระดูกจึงคดเล็กน้อย เมื่อคลอดออกมาจึงดูจะมีลักษณะขาที่โก่ง
เป็นช่วงที่เด็กหัดเดิน
เด็กในวัย 1-2 ขวบ จะเป็นช่วงที่เด็กเริ่มหัดเดิน แต่ด้วยความที่เด็กยังไม่สามารถทรงตัวได้ จึงทำให้ต้องถ่างขาและงอเข่าเล็กน้อย จึงดูเหมือนว่าขาโก่ง
พัฒนาการขาเด็กในแต่ละช่วงวัย
เด็กในแต่ละช่วงวัยจะมีพัฒนาการขาที่เริ่มเป็นปกติขึ้นเรื่อย ๆ แต่จะช้าหรือจะเร็วก็อาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละคน (แต่ส่วนใหญ่จะไม่ต่างกันมาก)
- 0-1 ขวบ ลักษณะขาโก่งของเด็กในวัยนี้ถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งจะสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน เมื่อลูกน้อยเริ่มหัดเดินก็จะมีลักษณะของขาโก่งจะมากหรือจะน้อยก็จะต่างกันไปในเด็กแต่ละคน
- 1.5 ขวบ แนวกระดูกที่เคยคด เมื่อเริ่มเข้าวัยนี้ โครงสร้างของกระดูกจะเริ่มตรงขึ้น และตรงชัดขึ้นเมื่ออายุเข้า 2 ขวบ หรืออย่างช้าไม่เกิน 3 ขวบ
- 3.5 ขวบ วัยนี้ขาของเด็กจะโก่งเข้าด้านในเหมือนขาเป็ด ซึ่งโดยปกติแล้วต้นขากับน่องของเด็กจะทำมุมกันไม่เกิน 10-15 องศา ถ้ามากกว่านี้ควรปรึกษาคุณหมอ
- 7 ขวบ เมื่อเด็กโตขึ้นองศาของขาที่โก่งเข้าด้านในจะปรับน้อยลงเหลือประมาณ 7 องศา
ขาโก่งแบบไหนที่ต้องรักษา
จริงอยู่แม้ภาวะขาโก่งจะเป็นภาวะที่ปกติในเด็ก สามารถหายเองได้เมื่อโตขึ้น แต่ก็มีบางกรณีเหมือนที่แม้ว่าลูกอายุมากกว่า 2 ขวบแล้ว ขาลูกก็ยังไม่ปกติแต่กลับยังโก่งเหมือนเดิม ซึ่งวิธีการสังเกตคือ
- จับขาลูกให้เหยียดตรง ให้ตาตุ่มชิดกันให้มากที่สุด
- สังเกตระยะห่างของขาด้านในให้อยู่ห่างกันที่ 5 ซม.
- ให้สังเกตเพิ่มเติมขณะที่ลูกเดินว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่
- ขณะที่ลูกยืนหรือเดินมีลักษณะของขาที่หมุนเข้าด้านในหรือไม่
- เดินกระเผลกหรือเปล่า
หากลูกมีอาการที่ผิดปกติแม้ไม่ทุกข้อตามนี้ แต่ก็ควรปรึกษาคุณหมอนะคะ
ความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับเรื่องขาโก่ง
- ดัดขาลูกตอนอาบน้ำจะทำให้ขาหายโก่งได้ ซึ่งความเป็นจริงแล้วไม่จริงเลยและไม่ควรทำอย่างยิ่งค่ะ นอกจากจะไม่ช่วยอะไรแล้ว ยังทำให้ลูกเจ็บอีกด้วยค่ะ
- การใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปจะทำให้ลูกขาโก่งมากขึ้น ข้อนี้ก็ไม่จริงค่ะ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วการใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปนั้นยังสามารถใช้เป็นการรักษาภาวะข้อสะโพกเคลื่อนได้อีกด้วย
- การอุ้มเข้าเอวจะทำให้ลูกขาโก่ง ไม่จริงเช่นกันค่ะ ข้อนี้ลักษณะจะเหมือนเรื่องของการใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปที่สามารถช่วยเรื่องภาวะข้อสะโพกเคลื่อนได้
บอกได้ตรงนี้เลยค่ะคุณแม่ว่าคุณแม่ต้องตั้งหลักกันดี ๆ 555 ความเชื่อผิด ๆ ด้านบนเชื่อว่าคุณแม่ต้องเคยได้ยินมาบ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งล้วนแล้วแต่ไม่จริงนะคะ ให้คุณแม่ลองสังเกตขาลูกตามพัฒนาการที่กล่าวไว้ด้านต้น หากไม่มั่นใจให้ปรึกษาคุณหมอนะคะ