เด็กทุกคนมักจะชอบเล่นซน ติดเล่นจนบางครั้งไม่ยอมทานข้าว ไม่ยอมนอนหลับหรือหลับยากทั้งกลางวันและกลางคืน ทำให้คุณแม่ต้องเป็นกังวลว่า “Growth Hormone (โกรท ฮอร์โมน)” จะไม่ทำงาน แต่เจ้าโกรท ฮอร์โมนที่ว่านี้มันทำงานกลางวันหรือกลางคืน? หรือจะทำงานทุกครั้งที่ลูกน้อยหลับ? และถ้าเกิดลูกขาดโกรท ฮอร์โมนจะส่งผลเสียด้านใดบ้าง วันนี้เรามาซูมเรื่องนี้กันค่ะ
สารบัญ
Growth Hormone (โกรท ฮอร์โมน) คือ อะไร?
Growth Hormone/GH (โกรท ฮอร์โมน) เป็นฮอร์โมนที่สำคัญอีกตัวหนึ่งที่ร่างกายสามารถสร้างได้เอง ทำหน้าที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ดังนั้น โกรทฮอร์โมนจึงมีความสำคัญมากตั้งแต่เด็กแรกเกิดเลยก็ว่าได้ค่ะ เพราะฮอร์โมนนี้จะส่งผลให้ลูกน้อยมีพัฒนาการทางร่างกายที่เจริญเติบโตและสูงสมวัย ช่วยให้เนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกายแข็งแรง รวมไปถึงกล้ามเนื้อก็แข็งแรง มีภูมิต้านทานโรคดี พัฒนาการทางสมองดี เมื่อด้านกายภาพดีหมดแล้ว ก็จะส่งผลต่อด้านจิตใจด้วย เพราะหากลูกน้อยพักผ่อนได้เต็มที่ เมื่อตื่นมาก็จะรู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า มีสมาธิดี ความจำก็ดีตาม ร่างกายและจิตใจมีความพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ
Growth Hormone (โกรท ฮอร์โมน) หลั่งเวลาไหน?
โกรทฮอร์โมนจะหลั่งออกมาในขณะที่เราหลับสนิทหรือที่เรียกว่า “หลับลึก” โดยจะหลั่งออกมาตั้งแต่ เที่ยงคืน-ตี 1 ครึ่ง เท่านั้นค่ะ
ฮอร์โมนนี้จะมีระดับสูงที่สุดตั้งแต่อยู่ในครรภ์แม่และจะลดลงเรื่อยๆ เมื่ออายุมากขึ้น พอเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นโกรทฮอร์โมนจะกลับมาอีกครั้งหลังอายุ 25 ปี และจะลดลง 15% ทุกๆ 10 ปี จนอายุ 60 ปี โกรทฮอร์โมนจะลดลงเหลือต่ำกว่า 10% เมื่อเทียบกับวัยหนุ่มสาว
ประโยชน์ของโกรท ฮอร์โมน
โกรท ฮอร์โมนมีประโยชน์ต่อร่างกายในหลาย ๆ ด้าน ดังนี้
โกรท ฮอร์โมน กับ กล้ามเนื้อ
โกรท ฮอร์โมนจะช่วยให้กล้ามเนื้อมีความแข็งแรงมากขึ้น ทนกับสภาวะความเหน็ดเหนื่อยได้มากขึ้น ลูก ๆ สามารถเล่น หรือออกกำลังกายได้นานขึ้น
โกรท ฮอร์โมน กับ กระดูก
โกรท ฮอร์โมนสามารถต้านภาวะกระดูกพรุนได้ โดยที่ฮอร์โมนตัวนื้จะเข้าไปกระตุ้นเซลล์กระดูกให้มีการสร้างตัวเองขึ้นมา นอกจากนี้ยังช่วยให้วิตามินบี 3 เข้าไปจับกับแคลเซียม ทำให้กระดูกแข็งแรง ไม่แตกหักง่ายอีกด้วย
โกรท ฮอร์โมน กับ โรคหัวใจ
ฮอร์โมนนี้จะเป็นตัวกระตุ้นการการสูบฉีดเลือดของหัวใจ ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรง นอกจากนี้โกรท ฮอร์โมนยังช่วยลดภาวะความดันโลหิตสูง ลดอาการของโรคหัวใจได้
โกรท ฮอร์โมน กับ จิตใจ
โกรท ฮอร์โมนเป็นฮอรโมนอีกหนึ่งตัวที่ช่วยในการปรับอารมณ์ ช่วยเพิ่มพลังงาน ทำให้ลูกหลับได้สนิท เมื่อตื่นมาก็จะรู้สึกแจ่มใส พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ
ข้อมูลอ้างอิง omgthailand.net
Growth Hormone (โกรท ฮอร์โมน) ในร่างกายต่ำ จะส่งผลด้านใดบ้าง?
- มวลกระดูกลดลง เสี่ยงภาวะกระดูกพรุน
- มวลกล้ามเนื้อลดลง
- อ่อนเพลีย ไม่ร่าเริง
- ตัวเตี้ย ไม่สูงตามเกณฑ์
- มีภาวะซึมเศร้า
- มีปัญหาเรื่องความจำ ส่งผลต่อการเรียน
ข้อมูลอ้างอิง pobpad.com
วิธีสังเกตว่าลูกขาดโกรท ฮอร์โมนหรือไม่?
โกรทฮอร์โมนจะหลั่งเต็มที่ หากลูกน้อยได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอและมีการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม กลับกันจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกได้รับโกรทฮอร์โมนไม่เพียงพอ มีวิธีสังเกตดังนี้ค่ะ
- อัตราการเจริญเติบโตน้อยกว่าค่าปกติมาตลอด รูปร่างเตี้ยแต่เจ้าเนื้อ เช่น เด็กที่อายุ 4-9 ปี มีการเพิ่มของส่วนสูงต่ำว่า 5 ซม./ปี
- มีเสียงเล็กแหลม
- ในเพศชาย อาจพบอวัยวะเพศเล็กกว่าเด็กทั่วไป
- ในรายที่ขาดโกรทฮอร์โมนรุนแรง เด็กจะมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ อาจนำไปสู่การชักได้
- มีภาวะคลอดยากขณะคลอด ต้องให้ออกซิเจนระหว่างการคลอด
- คลอดออกมาแล้วมีน้ำหนักตัวต่ำกว่า 2.5 กก. ความยาวแรกเกิดต่ำกว่า 50 ซม.
- ไม่เคยเพิ่มขนาดรองเท้าเลยใน 4-5 ปี ที่ผ่านมา
การป้องกันการขาดโกรท ฮอร์โมน
จะดีที่สุด หากคุณพ่อคุณแม่ใส่ใจดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิด คอยสังเกตพฤติกรรมหรือพัฒนาการของลูกน้อยว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ อย่างนั้นเรามาดูวิธีป้องกันกันเลยค่ะ
- ควรวัดความสูงและน้ำหนักของลูกน้อยอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่หลังคลอด ทารก วัยหัดเดิน วัยเรียน และวัยรุ่น
- ควรพาลูกไปฉีดวัคซีนให้ครบในภาคบังคับ ส่วนภาคทางเลือกให้คุณแม่และคุณพ่อเป็นผู้พิจารณาอีกทีนะคะ
- อย่าให้ลูกไม่สบายเรื้อรัง
- ปัสสาวะบ่อย มีปัญหาทางสายตา คลื่นไส้ อาเจียน
- อย่าให้ลูกเครียดเกินไป เพราะร่างกายจะหลั่งสาร “Lactic” ออกมา และสารตัวนี้จะเป็นตัวที่ยับยั้งโกรทฮอร์โมนไม่ให้หลั่งออกมา
- อย่าให้ลูกได้รับความกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงที่ศีรษะ
- ดูแลใส่ใจเรื่องอาหาร ลูกน้อยควรทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบทั้ง 5 หมู่ โดยเฉพาะกลุ่มของวิตามินและแคลเซียม ซึ่งเป็นสารอาหารที่สำคัญในการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง มีพัฒนาการทางด้านร่างกายอย่างสมวัย ตัวอย่างอาหารที่มีประโยชน์ ได้แก่ ไข่ นม ผัก ผลไม้ ธัญพืชที่ไม่ขัดสี ส่วนขนมกรุบกรอบ แป้ง น้ำตาล ไขมัน พยายามให้ทานในปริมาณที่ยิ่งน้อยยิ่งดีค่ะ (หรือหากทำได้…ไม่ทานเลยจะเยี่ยมมากค่ะ)
- ได้วิ่งเล่น หรือได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและเหมาะสม เช่น วิ่งไล่จับ เตะบอล โยนบอล เป็นต้น
- ที่สำคัญอีกอย่างคือ ควรให้ลูกได้หลับพักผ่อนอย่างเต็มที่ ไม่นอนดึก
หากคุณพ่อคุณแม่ไม่มั่นใจว่าลูกน้อยมีพัฒนาการที่สมวัยหรือไม่ หรืออาจพบอาการดังกล่าวข้างต้นอย่าเก็บความสงสัยไว้คนเดียวนะคะ ทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกน้อยไปปรึกษาแพทย์จะดีที่สุด เพื่อความสบายใจ แต่หากพบว่าลูกน้อยมีอาการขาดโกรทฮอร์โมนจริง ๆ คุณพ่อคุณแม่ก็จะได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและถูกทางนะคะ