อีกหนึ่งปัญหาปวดหัวที่คลาสสิกสำหรับผู้ที่เป็นคุณพ่อคุณแม่นั่นก็คือ ลูกกินข้าวช้า ลูกกินยาก ลูกไม่ยอมเคี้ยวข้าว ป้อนข้าวเข้าปากแล้ว เผลอเป็นไม่ได้ต้องอมข้าวตลอด ซึ่งปัญหาที่ตามมาจากการอมข้าวจะมีตามมาอีกมามายทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาฟันผุ รวมถึงลูกอาจได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ทำให้น้ำหนักและส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ ซึ่งวันนี้เราจะมาพูดคุยในประเด็นนี้กันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ลูกกินข้าวช้า หรืออมข้าว รวมถึงวิธีปรับพฤติกรรม ไปติดตามกันเลยค่ะ
พฤติกรรมที่บ่งบอกว่าลูกกินข้าวช้า อมข้าว
หากคุณพ่อคุณแม่ไม่มั่นใจว่าลูกเข้าข่ายเป็นเด็กกินข้าวช้า หรืออมข้าวหรือไม่ ให้ลองสังเกตจากพฤติกรรมเหล่านี้ค่ะ ถ้ามีมากกว่า 3 ข้อก็ใช่เลย
ขาดการฝึกการทานข้าวที่ถูกต้อง
เป็นไปได้ว่าลูกยังไม่แน่ใจว่าอาหารชนิดไหนที่สามารถกลืนได้เลย หรืออาหารชนิดไหนที่ต้องเคี้ยวให้ละเอียดก่อน จึงทำให้อมข้าวไว้ก่อนยังไม่กล้ากลืนลงไป
ต่อต้านจากการถูกบังคับให้กิน
เป็นไปได้ว่าก่อนหน้านี้เด็ก ๆ เคยถูกคุณพ่อคุณแม่ดุมาก่อน เด็กจึงเกิดความฝังใจ และจะยิ่งทำให้เขาไม่อยากกินข้าว คือการที่คุณพ่อคุณแม่ดุลูก บังคับให้ลูกกินข้าวได้กลายเป็นภาพจำของเด็ก ๆ ว่าไม่อยากนั่งกินข้าวกับคุณพ่อคุณแม่เลย เพราะกลัวโดนดุอีก บรรยากาศการกินข้าวก็เสียไปได้
ประเด็นนี้ในชีวิตจริง แม่โน้ตก็ไม่ได้หมายถึงว่าต้องให้คุณพ่อคุณแม่ตามใจลูก หากลูกไม่กินข้าวนะคะ เพียงแต่ถ้าเราเห็นว่าลูกไม่ยอมกินไม่ยอมเคี้ยว ควรอธิบายให้ลูกเข้าใจด้วยเหตุผลและความจริงว่า “ถ้าหนูยังอมข้าวแบบนี้ฟันหนูจะผุ หรือถ้าหนูไม่กลืนข้าว หนูจะน้ำหนักน้อยและป่วยง่าย หนูจะต้องกินยาด้วยนะ” เหล่านี้ เป็นต้นค่ะ
มีสิ่งที่เบี่ยงเบนความสนใจ
ได้แก่ การเปิดทีวี, มือถือ หรือแทปเล็ต ขณะกินข้าว เพราะสิ่งเหล่านี้จะดึงดูดเด็กให้เพลิดเพลินกับความสนุกจนลืมเคี้ยวข้าวได้
ใช้เวลาทานข้าวนาน
โดยปกติแล้วตามหลักทฤษฎี ระยะเวลาในการกินข้าวไม่ควรเกิน 30 นาที แต่สำหรับโน้ตอาจจะยืดหยุ่นให้เป็นสัก 45 นาที แต่ถ้าหากเกินกว่านี้ แสดงว่าลูกไม่อยากกินข้าวแล้วล่ะค่ะ
ต้องคอยเตือนให้เคี้ยวและกลืน
แม้ว่าในระหว่างการกินข้าว จะไม่มีสิ่งเร้า ไม่มีสิ่งที่จะทำให้ลูกเบี่ยงเบนความสนใจ แต่ลูกก็ยังกินข้าวช้า หรืออมข้าวอยู่ดี พร้อมกับคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยเตือนให้ทั้งเคี้ยวและกลืน แบบนี้ก็เข้าข่ายว่าลูกไม่อยากกินข้าวค่ะ
เคี้ยวตลอดแต่ไม่กลืน
เมื่อข้าวเข้าปากลูก ลูกก็เคี้ยว คุณพ่อคุณแม่ก็เห็นว่าลูกเคี้ยวตลอด แต่…ทำไมลูกไม่ยอมกลืนสักที
วิธีปรับพฤติกรรมลูกอมข้าว
การปรับพฤติกรรมลูกต้องอาศัยระยะเวลา แต่ไม่ใช่เรื่องที่เกินความสามารถของคุณพ่อคุณแม่แน่นอน มีอะไรบ้างไปติดตามกันค่ะ
เป็นต้นแบบที่ดี
เริ่มที่ตัวคุณพ่อคุณแม่ก่อนค่ะ ด้วยการตั้งใจกินให้ลูกเห็นทุก ๆ วัน และทุก ๆ ครั้งที่กินข้าว เรียกได้ว่าควรฝึกตัวเองให้เป็นนิสัยก่อน เชื่อเถอะว่าเมื่อลูกได้เห็นคุณพ่อคุณแม่แบบนี้ในทุก ๆ ครั้งที่กินข้าว ลูกจะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ค่ะ
ฝึกลูกให้เคารพเรื่องเวลา
เคารพเวลา หมายถึง ถ้ากำหนดเวลาให้กินข้าวภายใน 30-40 นาทีก็ควรทำให้เสร็จตามนั้น เพราะเมื่อลูกโตขึ้น ต้องออกไปเรียนรู้การใช้ชีวิตกับคนในสังคม ลูกจะได้คุ้นชินค่ะ
กำหนดปริมาณให้พอดีกับที่ลูกกิน
เพราะหากลูกเห็นปริมาณอาหารที่มากเกินไป ลูกอาจจะรู้สึกว่าไม่อยากกิน เพราะเยอะเกินไป
ปิดสิ่งเร้าทุกอย่าง
เพื่อให้ลูกได้โฟกัสอยู่ที่การกินข้าวแต่เพียงอย่างเดียว
ไม่ควรยอมลูกมากนัก
หากลูกยังไม่ยอมกลืนข้าว แล้วสุดท้ายลูกบอกว่าอิ่มแล้ว คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรยอมลูกมากนัก ถ้าลูกไม่ยอมกลืนข้าวจริง ๆ ให้คุณพ่อคุณแม่พูดคุยกับลูกเลยค่ะ ว่าเพราะอะไรหนูถึงไม่กลืนข้าว ด้วยน้ำเสียงที่ราบเรียบปกตินะคะ ไม่ดุลูก
เรื่องของการพูดคุยกับลูก คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรคิดว่าลูกยังเล็ก เขาคงไม่เข้า ความจริงแล้วไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลยค่ะ โน้ตเลี้ยงลูกด้วยวิธีการพูดคุยแบบผู้ใหญ่เลยค่ะ เน้นเรื่องเหตุผลเป็นหลัก แล้วพูดให้กระชับ ไม่อย่างนั้นลูกอาจหลุดโฟกัสได้ มาตอนนี้ลูกเป็นเด็กที่มีเหตุผล เข้าใจอะไรได้ค่อนข้างง่ายเลยทีเดียว คุณพ่อคุณแม่ลองนำไปปรับใช้ก็ไม่ว่ากันนะคะ
ไม่ควรกินขนมก่อนเวลาข้าว
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก่อนเวลาข้าว 1 ชั่วโมง เพราะจะทำให้ลูกกินข้าวได้น้อยลง
เรื่องที่ลูกกินข้าวช้า หรืออมข้าวต้องมีสาเหตุ มีที่มาที่ไปค่ะ เพียงแต่ให้คุณพ่อคุณแม่ลองสังเกตพฤติกรรมของลูกดูนะคะ ว่าเพราะอะไร ซึ่งจะทำให้คุณพ่อคุณแม่มองเห็นทางออกได้อย่างถูกทางอีกด้วยค่ะ