เพราะทารกเขายังไม่สามารถพูดสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่ได้เหมือนผู้ใหญ่ ยกเว้น “การร้องไห้” ซึ่งเสียงร้องไห้ของลูกน้อยเป็นอะไรที่สร้างความกังวลใจให้คุณพ่อคุณได้ไม่น้อย โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ดังนั้นการที่คุณพ่อคุณแม่จะตอบสนองลูกได้ถูกต้องจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจในเสียงร้องของลูกก่อนค่ะ ว่าที่เขาร้องไห้นั้นมีนัยอะไร เพราะอะไรทารกถึงร้องไห้ไม่หยุด รวมถึงการร้องแบบไหนที่เรียกว่าผิดปกติ
สารบัญ
ทารกร้องไห้ สื่อความหมายว่าอะไร?
การร้องไห้คือ สิ่งเดียวที่ทารกจะสามารถสื่อสารให้คุณพ่อคุณแม่ได้รู้ถึงความต้องการ ซึ่งสาเหตุของการร้องไห้มีหลายสาเหตุ ดังนี้
หิวนม
ข้อนี้เป็นเรื่องพื้นฐานและเป็นความต้องการขึ้นพื้นฐานของลูกน้อย โดยเฉพาะทารกแรกเกิด เนื่องจากกระเพาะอาหารของลูกน้อยมีขนาดเล็ก จึงอิ่มไว ซึ่งเขาจะหิวทุก ๆ 2 – 3 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นหากทารกร้องไห้ คุณแม่เหลือบไปดูเวลาแล้วว่าการให้นมครั้งสุดท้ายห่างมาแล้ว 3 – 4 ชั่วโมง แบบนี้ถือเป็นเรื่องปกติของทารกที่จะร้องไห้เพราะหิวนมค่ะ
อ่อนเพลียและเหนื่อย
ลูกน้อยแค่ต้องการนอน เพราะอาจจะเลยเวลานอนมาแล้ว ข้อนี้ให้คุณแม่สังเกตว่าถ้าลูกน้อยไม่สนใจของเล่น หรือสิ่งต่าง ๆ รอบตัว มาตาปรือในบางครั้ง รวมถึงอาจหาวบ่อย ถ้ามีอาการเหล่านี้ให้คุณแม่พาลูกเข้านอนได้เลยค่ะ
อึดอัด ไม่สบายตัว
ความอึดอัด และไม่สบายตัว สามารถเกิดได้ทั้งจากสภาพภูมิอากาศที่ร้อนเกินไปและหนาวเกินไป รวมไปถึงความเปียกชื้นของผ้าอ้อม ลูกน้อยจึงพยายามสื่อสารบอกกับคุณแม่ให้ช่วยพาหนูออกไปจากสถานการณ์เหล่านี้ที แต่ถ้าเปลี่ยนผ้าอ้อมแล้วลูกน้อยคงหงุดหงิดงอแงอยู่ ให้คุณแม่ลองเช็คที่อุณหภูมิห้องว่าเปิดแอร์เย็นเกินไปหรืออากาศร้อนอบอ้าว ไม่ถ่ายเทหรือไม่ ที่สำคัญอย่าลืมเลือกเสื้อผ้าลูกน้อยให้เหมาะกับสภาพอากาศด้วยนะคะ
ถูกกระตุ้นมากเกินไป
ทารกอาจอยู่ในสถานการณ์ที่มีสิ่งรบกวนมากเกินไป อาทิ อยู่ในห้องที่มีเสียงดังอึกทึก มีคนมารุมล้อมอยากที่จะเล่นด้วย เสียงเพลงดัง เสียงดนตรีดัง เหล่านี้จึงทำให้ทารกตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น จึงเป็นเรื่องปกติค่ะที่ทารกจะร้องไห้งอแง คุณแม่ควรพาลูกน้อยออกมาจากจุดดังกล่าวนี้ แบบนี้ก็จะทำให้ทารกรู้สึกดีขึ้นได้
อ้อนให้อุ้ม
เพราะสายใยแห่งความผูกพันระหว่างแม่และลูก ลูกน้อยต้องการความรัก การสัมผัสทางกายและการโอบกอดที่อบอุ่นจากคุณแม่ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ความรู้สึกอุ่นใจและปลอดภัยนั่นเอง
รู้สึกกลัว
บางครั้งทารกอาจร้องไห้เพราะรู้สึกกลัวหรือไม่คุ้นชินกับกับสิ่งที่ไม่คุ้นเคย อาทิ คนแปลกหน้าที่อุ้มเค้า เพราะเค้าสามารถรู้สึกได้ถึงสัมผัสที่แตกต่างไปจากคุณพ่อคุณแม่
ไม่คุ้นกับสภาพแวดล้อมใหม่
ตลอดระยะเวลากว่า 9 เดือนที่ทารกอยู่ในท้องคุณแม่ เขาจะรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย แต่เมื่อหลังคลอดลูกต้องออกมาเจอสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ คนใหม่ ๆ ทารกจึงไม่คุ้นเคย ดังนั้น ทารกจึงต้องอาศัยระยะเวลาในการปรับตัวทั้งทางร่างกายและอารมณ์
การเจ็บป่วย
ลูกน้อยอาจร้องไห้ได้เนื่องจากการเจ็บป่วย ไม่สบายตัว หรือมีบาดแผล เช่น เป็นไข้ ตัวร้อน หรือท้องอืด ให้คุณแม่ลองเช็คดูตามร่างกายว่ามีบาดแผล สิ่งผิดปกติ หรือลูกน้อยมีอาการเจ็บป่วยจนต้องไปพบคุณหมอหรือไม่ ทั้งนี้ เนื่องจากร่างกายและอวัยวะของทารกยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ การหายใจเร็วก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งบอกได้ว่าลูกมีอาการป่วยที่ผิดปกติ หากคุณแม่ไม่แน่ใจ แนะนำว่าควรพาไปปรึกษาคุณหมอ ไม่ควรซื้อยามากินเองนะคะ เพราะอาจมีผลทำให้ลูกง่วงนอนได้ตลอดทั้งวัน รวมไปถึงอาจมีผลต่อการกินนมของลูกได้ค่ะ
วิธีรับมือให้ทารกหยุดร้องไห้แบบง่าย
หากลูกน้อยร้องไห้งอแง คุณแม่สามารถรับมือทำให้ทารกหยุดร้องไห้ได้ง่าย ๆ ซึ่งมีหลายวิธีด้วยกัน ดังนี้
เบี่ยงเบนความสนใจ
หากลูกยังคงร้องไห้งอแงไม่หยุด อาจพาลูกไปเปลี่ยนบรรยากาศรอบ ๆ บ้าน พาลูกออกไปเดินเล่น หรือหากิจกรรมอะไรใหม่ ๆ ให้ลูกได้ทำ เช่น การพาลูกเดินชมธรรมชาติรอบบ้าน ร้องเพลงไป เต้นไปเบา ๆ เพื่อให้ลูกเกิดความสนุกสนานเป็นการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ลูกน้อยได้ทางหนึ่ง
คุณแม่ฮัมเพลงเบา ๆ
ด้วยธรรมชาติของทารก เค้าจะชอบฟังเสียงของคุณแม่ค่ะ ให้คุณแม่ร้องเพลง (ฮัมเพลง) ซึ่งเป็นเพลงเดียวกันกับที่ร้องให้ลูกน้อยฟังเมื่อครั้งที่ลูกยังอยู่ในครรภ์ดูสิคะ ลูกจะค่อย ๆ นิ่ง และจะฟังเพลงที่คุณแม่ร้องค่ะ
กล่อมแล้วโยกไปมาเบา ๆ
คุณแม่อาจนั่งเก้าอี้โยกหรือไม่ก็โยกตัวเบา ๆ อุ้มลูกน้อยไปพร้อมกับร้องเพลงช้า ๆ ฟังสบาย ๆ แบบนี้ลูกก็เพลินได้เช่นกัน
ทารกร้องไห้แบบไหนที่เรียกว่าผิดปกติ
- ทารกร้องไห้ไม่ยอมกินนม หรือจะกินก็กินน้อยมาก
- เสียงร้องฟังดูแปลกไปจากที่เคย
- พยายามหาสาเหตุทุกอย่าง แก้ไขทุกอย่างแล้วลูกน้อยก็ยังไม่เลิกร้องไห้
- ทารกท้องเสีย อาเจียน หรือท้องผูก พร้อมกับมีเลือดปนออกมากับอุจจาระ
- มีผื่นแดงขึ้นเต็มตัว หรือมีไข้
- น้ำหนักตัวไม่ขึ้น
โดยทั่วไปแล้วทารกร้องไห้ก็คือ การสื่อสารอย่างหนึ่ง ซึ่งการที่คุณแม่จะตอบสนองลูกได้ถูกต้องนั้นต้องหาสาเหตุก่อน แต่ก็มีบางครั้งบางเหตุการณ์ที่ทารกร้องไห้ไม่หยุด ทำให้คุณพ่อคุณแม่กังวลมาก เช่น ทารกร้องไห้มาก อันตรายไหม มีผลอะไรกับเด็กหรือเปล่า สามารถติดตามได้ที่นี่ > “ทารกร้องไห้มา อันตรายไหม”