คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกน้อยคงทราบกันดีว่า ลูกๆ เป็นเด็กช่างจดช่างจำมากแค่ไหน แม้กระทั่งเค้าเล่น แต่หูเค้าก็ฟัง แถมยังจำได้ดีเสียด้วยสิ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะพูดอะไร หรือจะต่อว่าอะไรลูก ควรคิดให้ดีก่อนพูด ไม่เช่นนั้นอาจทำร้ายจิตใจลูกน้อยได้แบบไม่รู้ตัว เผลอๆ บางคำพูดอาจเป็นการปิดกั้นพัฒนาการเลยก็ได้นะคะ เราไปดูกันดีกว่าค่ะว่ามีอะไรบ้าง
สารบัญ
- ทำอะไรไม่ได้ซักอย่าง
- ทำอย่างนี้ ทำเดี๋ยวนี้เลยนะ
- เมื่อไหร่จะเลิกถามซะที
- อย่าร้อง
- ทำไมไม่เป็นเหมือนพี่เค้าบ้างนะ
- ไม่มีความเป็นลูกผู้ชายเลย
- ไม่ต้องกลัว
- ล้อเลียนเรื่องน่าอาย หรือปมด้อย
- พ่อกับแม่สัญญา
- อย่าทำอย่างนี้นะ เดี๋ยวให้ตำรวจมาจับ
- ทำไมทำตัวท่ารำคาญแบบนี้
- เงียบเดี๋ยวนี้
- ทำไมไม่เหมือนลูกบ้านอื่นเค้า
- สั่งให้ทำโดยไม่อธิบายเหตุผล
- ไม่ได้เรื่องซักอย่าง
ทำอะไรไม่ได้ซักอย่าง
ฟังแล้วเจ็บแปล้บทั้งผู้ใหญ่และเด็กเลยค่ะคำนี้ เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกเสียความมั่นใจ เค้าจะไม่กล้าเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพราะเค้าจะฝังหัวตัวเองไปแล้วว่า “เค้าทำอะไรไม่ได้นี่นา ไม่ทำดีกว่า”
ทำอย่างนี้ ทำเดี๋ยวนี้เลยนะ
ธรรมชาติของเด็กทุกคนไม่ชอบการบังคับ ยิ่งบังคับยิ่งไม่ทำ ยิ่งถ้าอยู่ในช่วงต่อต้านหรือช่วงท้าทายแล้วล่ะก็ 100 ทั้ง 100 ค่ะ ไม่ทำตามแน่นอน คราวนี้คุณพ่อคุณแม่ยิ่งโมโหใหญ่ ทางที่ดีควรเปลี่ยนคำพูดเป็นแนวแนะนำและทำตัวอย่างให้ดู แต่ถ้าเค้ายังไม่ยอมทำตามอีก คุณพ่อคุณแม่ลองปล่อยเค้าค่ะ เพราะเด็ก ๆ อาจจะยังไม่ยอมทำตามในช่วงแรก ต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่างบ่อย ๆ
เมื่อไหร่จะเลิกถามซะที
เพราะความที่เด็กเป็นคนช่างสังเกต เห็นอะไรก็สงสัยไปหมด ดังนั้น ที่พึ่งเดียวที่เค้าจะหาคำตอบได้ก็คือ พ่อกับแม่ของเค้า แต่เพราะความสงสัยจึงถามบ่อย อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่รำคาญได้ จึงพูดโพล่งออกไป เช่น “เมื่อไหร่จะเลิกถามซะที” หรือ “หยุดถามได้แล้ว แล้วอยู่เฉยๆ” เป็นต้น ประโยคเหล่านี้ยิ่งปิดกั้นพัฒนาการเด็กเข้าไปใหญ่ค่ะ เพราะเค้าจะไม่กล้าถาม ไม่มีการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว และไม่กล้าแสดงออกค่ะ คุณพ่อคุณแม่ลองเปลี่ยนมาเป็นคำพูดในเชิงบวก และค่อยๆ สอนเค้าจะดีกว่าค่ะ
อย่าร้อง
เวลาที่ลูกร้องไห้ นั่นเป็นเพราะเค้าต้องการระบายออก เพื่อให้รู้สึกโล่ง ปลอดโปร่ง คุณพ่อคุณแม่ควรปล่อยให้ลูกได้ระบายอารมณ์ให้หมด โดยในระหว่างที่ลูกร้อง ควรเข้าไปอุ้มเค้า สัมผัสเค้า หรือโอบกอดให้กำลังใจ จะดีที่สุดค่ะ พอเค้าได้ระบายจนรู้สึกดีขึ้นเค้าจะหยุดเอง
ทำไมไม่เป็นเหมือนพี่เค้าบ้างนะ
ลูกทุกคนไม่มีใครชอบการเปรียบเทียบค่ะ ไม่ว่าจะเทียบกับพี่น้องของตัวเองหรือเพื่อนๆ ก็ตาม จะดีที่สุด หากคุณพ่อคุณแม่หาจุดแข็งของลูกให้เจอ แล้วผลักดันไปให้ถูกทาง
ไม่มีความเป็นลูกผู้ชายเลย
หากพูดไปลูกอาจสับสนว่าแล้วลูกผู้ชายต้องทำอย่างไร? เพราะความไม่รู้ เค้าก็จะไม่กล้าทำ จึงทำให้เป็นการปิดกั้นพัฒนาการลูกแบบไม่รู้ตัว ซึ่งจริง ๆ แล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เป็นแนวทางที่ถูกต้องให้กับลูกค่ะ
ไม่ต้องกลัว
เด็กเล็ก ๆ กับสิ่งใหม่ ๆ ในชีวิตอาจมีบ้างบางสิ่งบางอย่างที่เค้าจะกลัว ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องห้ามลูกไม่ให้กลัวนะคะ เพียงแต่ลองมาใช้วิธีถามจากลูกดูถึงสาเหตุว่าทำไมถึงกลัว? แล้วอธิบายเหตุผลให้เข้าใจว่าทำไมถึงไม่ต้องกลัวจะดีที่สุดค่ะ
ล้อเลียนเรื่องน่าอาย หรือปมด้อย
การที่คุณพ่อคุณแม่เอาเรื่องน่าอายหรือปมด้อยพูดกับคนอื่นเหมือนเป็นเรื่องสนุก แต่ความจริงแล้วกลับเป็นการสร้างความเจ็บปวดและบาดแผลในใจลูกอย่างที่สุด และจะกลายเป็นเรื่องที่ฝังใจลูกไปจนโตค่ะ
คงไม่มีอะไรที่น่าเสียใจมากไปกว่าพ่อแม่ของตัวเองล้อเลียนปมด้อยของตัวเองอีกแล้วค่ะ ที่สำคัญ พ่อแม่กำลังทำลาย Self-esteem (การเห็นคุณค่าในตัวเอง) ในตัวลูกอีกด้วยนะคะ ลูกจะกลายเป็นเด็กที่ไม่มีความมั่นใจ และไม่กล้าแสดงออกค่ะ
พ่อกับแม่สัญญา
เห็นลูกตัวเล็ก ๆ แบบนี้ แต่รู้มั้ยคะว่าเวลาที่คุณพ่อกับคุณแม่สัญญาอะไรกับเค้าไว้ เค้าจะจำได้ขึ้นใจทีเดียว อย่าพยายามสัญญากับลูก หากทำไม่ได้ นอกซะจาก…คุณพ่อคุณแม่มั่นใจว่าจะทำได้อย่างที่พูดจริง ๆ เพราะหากผิดสัญญาบ่อย ๆ ลูกจะจำไปจนโต และจะไม่เชื่อใจคุณพ่อกับคุณแม่อีกเลย
อย่าทำอย่างนี้นะ เดี๋ยวให้ตำรวจมาจับ
การเอาตำรวจมาขู่เด็กว่าห้ามทำอย่างนั้น ห้ามทำอย่างนี้ ไม่งั้นเดี๋ยวตำรวจมาจับ เมื่อลูกๆ ได้ฟังบ่อย ๆ เค้าจะเข้าใจว่า เหตุคือ ทำแบบนี้ ผลคือ ตำรวจจะจับ สิ่งนี้เองที่จะส่งผลให้การเรียนรู้ด้านความเป็นเหตุเป็นผลของลูกผิดเพี้ยนไป เพราะสิ่งนี้ไม่เป็นความจริง ความจริงคือ ตำรวจจะจับเฉพาะคนที่ทำผิดกฎหมายเท่านั้น
ทำไมทำตัวท่ารำคาญแบบนี้
เข้าใจค่ะว่าการเลี้ยงลูกมันไม่ใช่แค่เหนื่อยธรรมดา แต่เหนื่อยมาก ซึ่งในบางครั้งคุณแม่ต้องการเวลา ต้องการความเป็นส่วนตัวบ้างแต่ก็มีลูกน้อยมาคลอเคลียตลอด อารมณ์จึงอยู่เหนือสิ่งอื่นใด ทำให้คุณแม่ต้องพูดออกแบบนี้ แต่จะดีกว่าไหมคะ หากคุณแม่เปลี่ยนมาพูดแบบนี้แทน “คุณแม่ขอเวลาซัก 5 นาทีนะคะ เสร็จธุระแล้ว แม่จะไปเล่นด้วยค่ะ”
เงียบเดี๋ยวนี้
นิ่งเดี๋ยวนี้ เก็บอารมณ์เดี๋ยวนี้ ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นความหวังดีของคุณแม่ทั้งสิ้น เพื่อที่ต้องการบอกลูกว่าไม่ต้องเศร้า ไม่ต้องกลัว แต่แท้จริงแล้วการบอกให้ลูกเก็บอารมณ์มากจนเกินไปและไม่ต้องการให้ลูกแสดงออกนั้น อาจทำให้ลูกกลายเป็นเด็กเก็บกด และระเบิดอารมณ์ออกมาได้ในภายหลังค่ะ เมื่อถึงตอนนั้นอาจสายเกินแก้
ทำไมไม่เหมือนลูกบ้านอื่นเค้า
“เปรียบเทียบ” คุณแม่ไม่ควรเอาลูกไปเปรียบเทียบคำใคร หรือแม้แต่พี่น้องของตัวเอง เพราะเด็กแต่ละคนมีความคิด ความสามารถต่างกัน ทางที่ดี สอนให้ลูกเข้าใจและยอมรับความแตกต่างของคนจะเหมาะสมที่สุดค่ะ
สั่งให้ทำโดยไม่อธิบายเหตุผล
ลำพังว่าการสั่งให้ลูกทำก็ไม่ควรอยู่แล้วนะคะ แถมยังไม่อธิบายเหตุผลอีก แบบนี้คุณแม่ไม่ควรทำค่ะ เพราะว่าลูกจะไม่ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติมเลย ว่าทำไมต้องทำ คุณแม่มีเหตุผลอะไร กลับกันลูกก็จะทำตามไปวัน ๆ และงานที่ได้ออกมาก็จะไม่มีเท่าที่ควร
การที่จะบอกให้ลูกทำอะไรซักอย่างนั้น คุณแม่ควรใช้วิธีการพูดโน้มน้าว การอธิบายให้เหตุผลว่า ทำไม และเพราะอะไร? คุณแม่ถึงอยากให้ลูกทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ลูกก็จะได้เรียนรู้ และมีพัฒนาการทางด้านความคิดอีกด้วยค่ะ
ไม่ได้เรื่องซักอย่าง
เป็นคำพูดที่ใครฟังแล้วก็ต้องเสียความมั่นใจเป็นอย่างมาก แล้วนับประสาอะไรกับเด็ก คำพูดนี้จะเท่ากับเป็นการตัดพัฒนาการในทุกด้านของลูกทีเดียวค่ะ ลูกจะไม่กล้าคิด ไม่กล้าทำสิ่งใหม่ ๆ ลูกจึงไม่มีโอกาสได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ นั่นเอง
มีคุณพ่อคุณแม่ท่านไหนที่เผลอพูดออกไปบ้างมั้ยคะ ถ้ามี…ไม่เป็นไรนะคะ เอาใหม่ ตั้งต้นกันใหม่ “ตั้งสติ และสูดลมหายใจเข้า-ออกลึก ๆ” ก่อนจะพูดอะไรออกไป การเลี้ยงลูกโดยรวมแล้วจะประกอบไปด้วย 2 ส่วนด้วยกัน คือ คำพูด และการกระทำ ซึ่งการกระทำหรือพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่ก็เป็นสิ่งสำคัญในการสอนลูก มีอะไรบ้างที่ไม่ควรทำกับลูก สามารถติดตามได้จากบทความนี้ค่ะ