ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลี้ยงลูกเป็นอะไรที่เหนื่อยถึงเหนื่อยมาก แต่…มี “ความสุข” เป็นรางวัล ความสุขที่ได้เห็นลูกยิ้ม ลูกหัวเราะ ลูกมีสุขภาพแข็งแรง มันสุขซะจนทำให้ลืมความเหนื่อยไปเลย แต่ ๆ ๆ มันก็จะวนอยู่อย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่ “ความเหนื่อย” ของแม่ ปะทะ “ความงอแง” ของลูกก็อาจทำให้คุณแม่เผลอปรี๊ดแตกใส่ลูกได้เหมือนกัน ซึ่งวันนี้โน้ตจะชวนคุณแม่มาปรับอารมณ์ก่อนที่จะปรี๊ดใส่ลูกกันค่ะ
สารบัญ
9 เทคนิคที่ควรทำก่อนปรี๊ดแตกใส่ลูก
ตามอารมณ์ตัวเองให้ทัน
พยายามถามตัวเองว่า “ตอนนี้เรารู้สึกอย่างไร? อารมณ์ไหนอยู่?” ถ้าคำตอบที่ได้คือ “โกรธ” ให้เราเอาใจจดจ่ออยู่กับตัวของเราก่อนเลยค่ะ เพราะหากที่เราโกรธและเรายิ่งรับสารรอบตัว หรือเรียกว่ารับข้อความหรือท่าทางงอแงเอาแต่ใจของลูกเข้ามาอีก ทีนี้เราจะปรี๊ดแตกได้ค่ะ
ท่องไว้ นั่นลูกของเรา
ในระหว่างที่เราโกรธ และลูกร้องไห้ ให้คุณแม่นับ 1 แล้วบอกกับตัวเองว่า “นั่นลูกเรา” นับสอง “นั่นก็ลูกเรา” นับไปเรื่อย ๆ นับไปจน 10 หรือจะต่อไปอีกก็ได้ค่ะ ตราบใดที่อารมณ์คุณแม่ยังไม่เย็นลง เพราะแววตาลูกน้อยกับความผูกพันระหว่างแม่และลูก จะทำให้เราเย็นลงได้ค่ะ
ลูกเพิ่งลืมตาดูโลกมาไม่กี่ปีเอง
ลูกอายุน้อยกว่าเราหลายสิบปี เพราะฉะนั้นจะให้เขามาเข้าใจหรือมีเหตุผลเท่าผู้ใหญ่คงเป็นไปไม่ได้แน่นอน มีอีกหลายอย่างที่ “ลูกไม่รู้” ไม่รู้ว่าผลของมันจะเป็นอย่างไร แต่เป็นเพราะคุณแม่เหนื่อยผนวกกับการที่ลูกร้องงอแง หรือรื้อข้าวของเต็มบ้าน ก็ยิ่งทำให้คุณแม่รู้สึกเหนื่อยมากขึ้นไปอีก เป็นเหตุให้ปรี๊ดแตกใส่ลูกนั่นเอง
ฝากลูกไว้กับพ่อสักพัก
หากที่บ้านมีคุณพ่อ หรือ ปู่ ย่า ตา ยาย อยู่ รบกวนฝากลูกให้ดูแลสักพักก่อน ส่วนคุณแม่ก็ให้พาตัวเองออกมาจากตรงนั้นซักพักเช่นกัน รอจนกว่าอารมณ์จะเย็นลง แล้วค่อยกลับไปหาลูก
หางานบ้านทำ
ดูจะเป็นอะไรที่น่าสนใจมากที่สุด เพราะเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจของคุณแม่ได้ดี งานบ้าน อาทิ ล้างห้องน้ำ ล้างจาน ซักผ้า ตากผ้า พับผ้า ฯลฯ
หาของกิน
ขนาดโกรธยังมีแก่ใจกินอีกหรอ? กินค่ะ ต้องกิน เพราะการกินจะเป็นการทำให้ปากเราไม่ว่าง ยิ่งถ้าเป็นอะไรที่ต้องเคี้ยว ยิ่งดีเลย เพราะเมื่อปากคุณแม่ไม่ว่างก็จะได้ไม่ต้องพูดอะไรออกมาที่เป็นการทำให้ทุกฝ่ายเสียใจ และยิ่งจะทำให้สถานการณ์แย่ลง ไม่เป็นผลดีแน่
เตือนตัวเอง “เรารักลูก”
คุณแม่ทุกคนย่อมรักลูก เพราะฉะนั้น ให้บอกกับตัวเองก่อนปรี๊ดแตกใส่ลูกว่า “เรารักลูก เรารักลูก เรารักลูก” นี่ลูกเรานะ และลองนึกถึงตอนที่ลูกแสดงความรักกับเราดู เห็นไหมคะลูกก็รักเราเหมือนกัน อย่าปล่อยให้อารมณ์มาทำให้ทั้งแม่และลูกต้องเสียใจกันเลยนะ
มองลูกในแง่บวก
เพราะความที่เขายังเด็ก ยังมีอะไรที่ “ไม่รู้” อีกมากมายบนโลกนี้ สิ่งที่ลูกทำลงไปอาจเป็นสิ่งที่ผิดหรือไม่ดีก็จริง แต่เขาก็ยังเล็กเกินไปที่จะเข้าใจ บางครั้งอาจไม่ใช่การ “ต่อต้าน” แต่กลับกันมันเป็นสัญญาณขอความช่วยเหลือจากคุณแม่ต่างหาก ขอความช่วยเหลือในแง่ที่ “คุณแม่ต้องสอนให้เขาเข้าใจ” ค่ะ ว่าทำอย่างนั้นไม่ดี เพราะอะไร
เอาใจลูกมาใส่ใจเรา
สมมติว่าลูกอายุ 4 ขวบแล้วเขาทำผิดไปด้วยความไม่รู้ ให้คุณแม่ลองมองย้อนไปในขณะที่ตัวเองอายุ 4 ขวบ ว่าเรารู้อะไรบ้าง แบบนี้เราก็จะเข้าใจลูกได้มากขึ้นค่ะ
การปรับอารมณ์ของคุณก่อนปรี๊ดแตกใส่ลูกนั้น แน่นอนค่ะว่ามันคงไม่สามารถทำได้ภายใน 1-2 วัน ต้องอาศัยเวลา แต่ถ้าหากเราไม่เริ่มเสียตั้งแต่วันนี้ แล้วปล่อยให้อารมณ์ของคุณแม่ถาโถมใส่ลูก ครั้งแล้วครั้งเล่า คนที่เสียใจมากที่สุดก็คือ ตัวเราเอง เป็นกำลังใจให้คุณแม่ทุกท่านนะคะ