“ช่องว่างระหว่างวัย” หลายคนบอกว่าเป็นปัญหามาก โดยเฉพาะในเรื่องของการเลี้ยงลูก (จะเห็นได้ชัดมากเมื่อลูกเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น) แต่เมื่อไม่นานมานี้ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดงานเสวนาพร้อมให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกในวัยเจนเนอเรชั่นซี และอัลฟ่า ด้วยพลังบวก เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากค่ะ ว่าแล้วไปติดตามกันเลยดีกว่า
สารบัญ
- ธรรมชาติของเด็กเจนเนอเรชั่นอัลฟ่า (เด็กที่เกิดตั้งแต่ปี 2010)
- สามารถใช้ชีวิตอยู่คนเดียวได้ (Individualism)
- เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี (Robust Education Technology Savvy)
- มีอาชีพเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Generation)
- ขาดปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น (Less of Human Contact or Relationship)
- ได้รับความรักอย่างท่วมท้น (Extreme Coddle)
- ขาดความยืดหยุ่น (Less of Resilience)
- คุณธรรมและจิตวิญญาณลดลง (Moral and Spiritual Weakness)
- พ่อแม่รับมืออย่างไรดีกับเด็กเจนเนอเรชั่นอัลฟ่า
ธรรมชาติของเด็กเจนเนอเรชั่นอัลฟ่า (เด็กที่เกิดตั้งแต่ปี 2010)
ต้องยอมรับว่าเด็กที่เกิดตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นไปนี้ เป็นเด็กที่เกิดในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก สังคมขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว และแรง จนบางครั้งคนในเจนเนอเรชั่นอื่น ๆ อย่างเบบี้บูมเมอร์ หรือเจนเนอเรชั่นเอ็กซ์ก็ปวดหัวกันเลยทีเดียว เพราะตามโลก และตามลูกไม่ทัน เพราะธรรมชาติของเด็กในเจนเนอเรชั่นอัลฟ่าตามที่ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กล่าวไว้มีดังนี้ค่ะ
สามารถใช้ชีวิตอยู่คนเดียวได้ (Individualism)
เด็กในเจอเนอเรชั่นอัลฟ่านี้สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยมีเทคโนโลยีเป็นเพื่อนในการใช้ชีวิต ทำให้ไม่ต้องมีเพื่อนเยอะก็ได้ เพราะไม่จำเป็นต้องพึ่งพาคนอื่น
เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี (Robust Education Technology Savvy)
เทคโนโลยีจะเข้ามามีบททาทกับเด็กในเจนเนอเรชั่นอัลฟ่าเป็นอย่างมาก บางครอบครัวเรียกได้ว่ามีบทบาทมาตั้งแต่ยังเป็นวัยเตาะแตะเลยก็ว่าได้ เด็กรุ่นนี้จะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ โดยผ่านเทคโนโลยี จนมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปเลยทีเดียว
มีอาชีพเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Generation)
เด็กในเจนเนอเรชั่นนี้จะมีความกล้าคิด กล้าทำสิ่งใหม่ ๆ ทำให้บางคนอาจประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งเด็กเจนเนอเรชั่นนี้ก็จะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจซะส่วนใหญ่
ขาดปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น (Less of Human Contact or Relationship)
คงไม่แปลกอะไร เพราะเมื่อเด็กในเจนเนอเรชั่นนี้สามารถใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเอง มีเทคโนโลยีเป็นเพื่อน ก็ทำให้การปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นก็น้อยลง แม้แต่คนในครอบครัวของตัวเอง
ได้รับความรักอย่างท่วมท้น (Extreme Coddle)
เหตุเพราะคุณพ่อคุณแม่ในยุคปัจจุบันมีลูกน้อยลง มีหลานน้อยลง ทำให้ทุ่มเทความรักความเอาใจใส่ รวมถึงความคาดหวังไปที่ลูกทั้งหมด หรือบางครั้งอาจมากเกินไป ซึ่งทำให้กลายเป็นปัญหาได้ในภายหลัง
ขาดความยืดหยุ่น (Less of Resilience)
เพราะเด็กเจนเนอเรชั่นนี้มีเทคโนโลยีเป็นเพื่อน ดังนั้น เค้าก็จะใช้ชีวิตคล้ายกับหุ่นยนต์ ดำเนินชีวิตในแต่ละวันตามที่คุณพ่อคุณแม่โปรแกรมไว้ ห่างไกลธรรมชาติ และห่างไกลจากสังคม
คุณธรรมและจิตวิญญาณลดลง (Moral and Spiritual Weakness)
และเมื่อมีชีวิตคล้ายกับหุ่นยนต์ เพราฉะนั้น “ความรู้สึก” ก็คงไม่จำเป็นอีกต่อไป พวกเค้าอาจรู้สึกว่าก็ไม่จำเป็นต้องอดทนกับอะไร ไม่ต้องรู้สึกผิดหวัง หรือเสียใจกับเรื่องอะไร
พ่อแม่รับมืออย่างไรดีกับเด็กเจนเนอเรชั่นอัลฟ่า
จากธรรมชาติของเด็กในเจนเนอเรชั่นอัลฟ่าที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ใช่ว่าเด็กเจนเนอเรชั่นนี้จะเป็นเด็กไม่ดี เพียงแต่เมื่อทราบอย่างนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็มีหน้าที่อุดรูรั่วของสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยเฉพาะด้านที่เป็น Soft Skill ( Soft Skill คือ ทักษะด้านอารมณ์ ความสามารถในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น รวมถึงการพัฒนาตัวเอง) ซึ่งมีดังนี้
คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นระบบนิเวศให้ลูก
หรือจะพูดให้เข้าใจกันง่าย ๆ ก็คือ เพราะสังคมครอบครัวของไทยเรายังเป็นสังคมที่มีความใกล้ชิดกันกับลูกมาก เรียกได้ว่า “พ่อแม่เป็นระบบนิเวศของลูก” ลูกจะเลียนแบบพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่ เค้าจะเป็นในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่เป็น
แต่สิงสำคัญในวันที่เด็กเจนเนอเรชั่นผิดหวัง สิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ คือ การรับฟังลูก เพราะอย่าลืมว่าช่องว่างระหว่างเจนเนอเรชั่น มักทำให้คนที่อาวุโสกว่าตั้งแง่ก่อนเสมอ นอกจากนี้ ควรสร้างแรงบันดาลใจ ให้โอกาส ให้อภัย และพลังใจกับลูกด้วยนะคะ
ให้ลูกสัมผัสกับความผิดหวัง เพื่อเป็นเกราะป้องกันตนเอง
ที่สำคัญสำหรับข้อนี้คือ การให้โอกาสลูกได้ทำอะไรด้วยตัวเอง โดยปราศจากความคาดหวังหรือความกดดันลูก เพราะหากเค้าผิดหวัง เค้าจะเสียใจและไม่อยากเริ่มทำอีกต่อไป
ให้ลูกได้ร่วมทุกข์ร่วมสุข
หมายถึง การรับฟังกันของคนในครอบครัว ให้ทุกคนอยู่ในระดับเดียวกัน แชร์ความรู้สึกร่วมทุกข์ ร่วมสุขกัน ซึ่งจะทำให้คำว่าครอบครัวชัดเจนขึ้น เช่น ถ้าครอบครัวมีปัญหาเรื่องอะไรก็ควรเล่าให้ลูกฟัง โดยไม่ต้องหวังให้เค้าเข้ามาช่วยแก้ปัญหา เพียงแต่ว่าสิ่งนี้จะทำให้ลูกรู้ว่าเค้าคือ “ส่วนหนึ่งของครอบครัว” นั่นเอง
อย่างที่หลายคนพูดกันว่ายุคนี้คือ ยุคดิจิทัล ยุคที่อะไร ๆ ก็ใช้ผ่านเทคโนโลยี ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือ การใส่ใจคนรอบข้างให้มากพอ โดยเฉพาะในเรื่องของการเลี้ยงลูก ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติของลูกแล้ว เราก็จะเลี้ยงลูกได้อย่างมีความสุขค่ะ
อ้างอิง
Thepotential.org