เมื่อพูดถึงการ “มองโลกในแง่บวก” ทุกคนอาจร้อง “อ๋อ” เพราะนึกออกและเข้าใจดี แต่ถ้าพูดถึงเรื่อง “การเลี้ยงลูกเชิงบวก” ล่ะ คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจจะอ๋อ แต่ในขณะที่อีกหลายคนอาจจะ “เอ๊ะ…มันคืออะไร ต้องเลี้ยงอย่างไร แล้วผลลัพธ์ที่ได้นั้นดีอย่างไร?” ไปค่ะ ไปติดตามกัน
สารบัญ
การเลี้ยงลูกเชิงบวกคืออะไร?
เนื่องจากว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่เติบโตมากับวัฒนธรรมเชิงอำนาจและวัฒนธรรมเชิงลบมาอย่างยาวนาน พ่อแม่มีอำนาจเหนือลูก บางครอบครัวเรียกได้ว่าเป็นเจ้าชีวิตกันเลยทีเดียว ครูมีอำนาจเหนือศิษย์ มักชอบใช้วิธีที่ขู่บังคับ ทำให้กลัวต่าง ๆ นานา หรือไม่ก็ลงโทษตีให้หลาบจำ ซึ่งจะแตกต่างจากการเลี้ยงลูกในเชิงบวก
การเลี้ยงลูกในเชิงบวก จะเป็นวิธีการเลี้ยงที่ให้เข้าใจการทำงานของสมองทางวิทยาศาสตร์ เน้นการเลี้ยงดูด้วยความรัก ความเข้าใจ มีระเบียบวินัยเป็นเครื่องมือ รวมถึงไม่ใช้ความรุนแรงทั้งทางคำพูดและการกระทำ ซึ่งหลักการสำคัญของการเลี้ยงลูกเชิงบวกคือ “ใช้วิธีการสอน และลงมือทำ เพื่อให้เด็กได้เห็นถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น และใชเทคนิคต่าง ๆ กระตุ้นให้สมองส่วนหน้าเกิดการทำงาน และการคิดวิเคราะห์ได้ดีขึ้น” หรือจะพูดง่าย ๆ ก็คือ วิธีนี้จะเป็นวิธีที่ไม่สร้างบาดแผลทั้งทางร่างกายและจิตใจให้กับเด็ก แต่จะเปลี่ยนเป็นการให้กำลังใจ ชื่นชม ให้เด็กได้เรียนรู้ผลลัพธ์ตามธรรมชาติ พร้อมกับมีการฝึกวินัยเป็นประจำนั่นเองค่ะ
เทคนิคการเลี้ยงลูกเชิงบวก
กระตุ้นให้สมองส่วนคิดวิเคราะห์ทำงานได้ดีขึ้น
สมองของมนุษย์เรามี 3 ส่วน คือ สมองส่วนบน (หรือสมองส่วนคิด) สมองส่วนกลาง (หรือสมองส่วนอารมณ์) และสมองส่วนล่าง (หรือสมองส่วนสัญชาตญาณ)
ปกติแล้วสมองส่วนสัญชาตญาณจะมีการพัฒนาได้ดีอยู่แล้วตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งส่วนใหญ่มักจะทำงานร่วมกับสมองส่วนอารมณ์ เรียกว่าเมื่อไหร่ก็ตามมนุษย์เรารู้สึกไม่ปลอดภัยหรือเครียด สมองส่วนสัญชาตญาณจะตอบสนองทันที โดยการตอบสนองจะมีอยู่ 3 แบบด้วยกัน
- สู้ : เมื่อเด็กโตขึ้นจะกลายเป็นเด็กที่ก้าวร้าวและมักใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา
- หนี : เมื่อเด็กโตขึ้นจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่กังวลง่ายและมักจะซึมเศร้า
- ยอม : สุดท้ายเด็กจะไม่นับถือตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า ไม่มีศักยภาพ (Low Self – Esteem)
ในขณะที่สมองส่วนหน้า ซึ่งเป็นส่วนของการคิดวิเคราะห์เป็นส่วนที่พัฒนาได้ช้าที่สุด โดยจะพัฒนาได้เต็มที่เมื่ออายุ 25 ปี ด้วยเหตุนี้เอง เวลาที่เด็กถูกขัดใจก็จะร้องโวยวาย ไม่ฟังเหตุผลใด ๆ นั่นเป็นเพราะการตอบสนองจากสมองส่วนสัญชาตญาณ และเป็นข้อจำกัดที่เด็กมี …การเลี้ยงลูกเชิงบวกคือ การสอนลูกเพื่อการสงบอารมณ์ เป็นการฝึกให้ลูกได้ใช้สมองส่วนคิดวิเคราะห์ทำงานให้มากขึ้นค่ะ
ช่วยให้ลูกรู้จักอารมณ์ของตนเอง เข้าใจ และจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้
เช่น ลูกกำลังหัดช่วยเหลือตัวเองด้วยการแต่งตัว หนูพยายามที่จะติดกระดุมเสื้อเอง แต่เจ้ากรรมก็ยังติดไม่ได้ซักที ถ้าคุณแม่เริ่มสังเกตเห็นว่าลูกเริ่มจะมีอารมณ์โมโห ให้รีบพูกับลูกในเชิงบวกแบบนี้ก่อนค่ะ
“แม่เข้าใจว่าหนูหงุดหงิดที่ยังติดกระดุมไม่ได้ ลองหายใจลึก ๆ แล้วค่อยมาลองอีกทีดีไหมคะ” หรือไม่คุณแม่ก็นั่งสาธิตวิธีติดกระดุมกับลูกไปด้วย “เราลองหันเม็ดกระดุมให้เป็นแนวเดียวกันกับรังดุมก่อนไหมคะ แบบนี้ เผื่อจะเข้าได้ง่ายขึ้น”
แต่ที่สำคัญ คือ คุณแม่ไม่ควรใช้คำพูดในเชิงลบกับลูก เช่น
“บอกแล้วไง ให้ติดให้ไหมก็ไม่เอา แล้วเป็นไงล่ะ ทำไม่ได้ แถมช้าอีก อย่ามาร้องไห้นะ หยุดเลยนะ”
แบบนี้จะทำให้เด็กรู้สึกอารมณ์พลุ่งพล่าน เพราะสมองส่วนอารมณ์ถูกกระตุ้นแต่ก็ห้ามแสดงออกอีก เด็กอาจเก็บกดได้
คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่พูดเชิงลบ
อย่างที่กล่าวไว้ในช่วงแรกค่ะว่า สังคมไทยเติบโตมากับวัฒนธรรมในเชิงลบมาอย่างยาวนาน จนซึมซับอยู่ในสัญชาตญาณไปแล้ว หลายครั้งคนที่พูดก็พูดอะไรออกไปโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงความรู้สึกของคนรับสาร เช่น ลูกเล่นของเล่นแล้วไม่เก็บเข้าที่ให้เรียบร้อย คุณแม่ก็จะพูดว่า “เล่นของเล่นแล้วก็เก็บเข้าที่ด้วยสิ” แต่ถ้าการเลี้ยงลูกในเชิงบวกจะพูดแบบนี้ค่ะ “ของเล่นล่ะคะลูก” เพียงเท่านี้เด็กก็จะเข้าใจได้แล้วค่ะว่าให้เก็บเข้าที่
ปลูกฝังตั้งแต่ยิ่งเล็ก ยิ่งดี
คุณแม่สามารถเริ่มได้ตั้งแต่ลูกอายุ 2 – 3 ปี ขึ้นไปค่ะ เพราะช่วงอายุขนาดนี้ เด็กกำลังเรียนรู้และจดจำสิ่งที่ต่าง ๆ ได้ดี เพราะตามหลักการของพัฒนาการแล้วเด็กในวัย 2 – 3 ปี เค้าจะเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง อยากทำอะไรได้ด้วยตัวเอง ส่วนอายุ 4 – 5 ปี เป็นช่วงที่ความจำพัฒนาได้ดีมาก คุณแม่ไม่ต้องแปลกใจนะคะ หากว่าลูกอายุ 5 ขวบของคุณแม่จะร้องเพลงได้ถูกต้องทั้งเพลง
การเลี้ยงลูกในเชิงบวกต้องอาศัยหลาย ๆ อย่างร่วมกัน โดยเฉพาะการเป็นต้นแบบที่ดีของคุณพ่อคุณแม่ เพราะลูกจะเรียนรู้และเลียนแบบพฤติกรรมและความคิดของคุณพ่อคุณแม่ค่ะ