อาการซึมเศร้าคือสิ่งที่ได้ยินกันหนาหูมากในช่วงนี้แต่สำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งท้องและคลอดลูกออกมาแล้วนั้นอาจจะคาดไม่ถึงว่าอาการนี้จะเกิดขึ้นกับคุณได้เหมือนกันเพราะในความเป็นจริงแล้วคุณแม่แทบทุกคนก็มักมีความสุขไปกับช่วงเวลาที่ได้เห็นหน้าลูกแต่ภัยเงียบจากอาการซึมเศร้ากลับเข้ามาทักทายคุณอย่างช้าๆ ถ้าคุณรู้ไม่ทันมันและใจไม่แข็งพอก็อาจจะพ่ายแพ้กันไปได้ง่ายๆ
ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถป้องกันการเกิดอาการซึมเศร้าหลังคลอดได้แต่หากรู้ทันมันไว้สักนิดก็คงพอจะเอาตัวรอดจากมันได้อยู่บ้างและนอกจากนี้ก็ยังไม่มีการระบุแน่นอนว่าอาการนี้จะคงอยู่กับคุณแม่แต่ละคนนานมากน้อยแค่ไหนเพราะบางคนก็เป็นอยู่แค่ไม่กี่สัปดาห์บางคนก็ยิงยาวไปเป็นปีเลยทีเดียว
เอาเป็นว่าเรามาทำความรู้จักและเรียนรู้วิธีรับมือเบื้องต้นกับอาการซึมเศร้าหลังคลอดกันดีกว่าเพื่อที่คุณแม่จะได้มีเวลาเตรียมตัวก่อนที่อาจจะต้องเผชิญกับอาการนี้หลังคลอดกัน
ตั้งรับให้พร้อมและให้อาการซึมเศร้าแค่เข้ามาทักทายแล้วรีบไป
1.โรคซึมเศร้าหลังคลอดรวมทั้งความวิตกกังวลและความผิดปกติทางอารมณ์อื่นๆ
มารู้จักกันก่อนว่าโรคซึมเศร้าหลังคลอดนั้นจะแบ่งออกเป็น 4 ชนิด
- ซึมเศร้า
- วิตกกังวลแบบซึมเศร้าและวิตกกังวลแบบไม่ซึมเศร้า
- ตื่นตระหนก
- ย้ำคิดย้ำทำ
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีขอบเขตกว้างแต่รายละเอียดนั้นค่อนข้างที่จะละเอียดอ่อนอยู่พอสมควรนี่เป็นแค่แนวทางของกลุ่มโรคนี้แบบกว้างๆ ทางที่ดีคุณแม่หลังคลอดแล้วก็ควรหมั่นไปปรึกษาและพบแพทย์อยู่เสมอเพื่อติดตามอาการและในบางครั้งโรคนี้ก็น่ากลัวตรงที่ว่าคุณแม่ไม่รู้ตัวว่าเป็นนั่นเอง
2.โรคซึมเศร้าหลังคลอด กับ ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด “ไม่เหมือนกัน”
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดหรือที่รู้จักกันดีว่า Baby Blues เรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์หลังคลอดเลยก็ว่าได้เพราะคุณแม่กว่า 50-85% มักจะต้องเจอกับอาการนี้ มันจะเกิดขึ้นในช่วงหลังคลอดไม่กี่วันและในช่วงวันที่ 4-5 ส่วนใหญ่จะพีคสุดและเบาลงในวันที่ 10 บางรายยาวนานสุดก็จะประมาณ 2 สัปดาห์
แต่ก็เป็นไปตามธรรมชาติเพราะผู้เชี่ยวชาญเผยว่ามันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนครั้งยิ่งใหญ่หลังจากคลอดนั่นเอง
ถ้าคุณแม่พบว่าตัวเองร้องไห้โดยไม่ทราบสาเหตุ อารมณ์ขึ้นลง และจะหายไปเองแต่ถ้าหากเป็นโรคซึมเศร้าแล้วล่ะก็จะมีความผิดปกติทางอารมณ์อื่นๆ เข้ามาร่วมด้วยและแน่นอนว่ามันต้องการที่จะได้รับการรักษา
3.การอดนอนก็สามารถทำให้โรคซึมเศร้าปะทุ
หลังคลอดและกลับมาบ้านคุณแม่ต้องปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวันมากมายเพื่อปรับตัวให้กับการเลี้ยงลูกและแน่นอนว่าการอดนอนก็มักจะชอบเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำและเลี่ยงได้ยากพอสมควร
แต่อย่างไรก็ตามคุณแม่ก็จำเป็นที่จะต้องหาวิธีมาแก้ไขเรื่องนี้ ทางที่ดีที่สุดก็คือหาคนมาช่วยแบ่งเบาการเลี้ยงลูกเพียงแค่ให้วันหนึ่งคุณแม่ได้พักผ่อน 5-6 ชั่วโมงติดต่อกันและมีเวลางีบระหว่างวันบ้างก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โรคนี้ดีขึ้นหรือทำให้ห่างไกลการจะเกิดได้มากขึ้นเช่นเดียวกัน
4.ความคิดของคุณแม่สามารถทำร้ายตัวเองได้
โรคซึมเศร้าน่ากลัวเมื่อภายนอกดูปกติแต่ภายในกลับจมทุกข์และไม่เห็นทางออกส่วนใหญ่แล้วคุณแม่ที่เป็นโรคนี้มักจะมีความรู้สึกไร้ค่า รู้สึกผิด คิดว่าตัวเองทำอะไรก็ไม่ดีไม่ถูก แถมยังชอบเก็บความรู้สึกเหล่านี้เอาไว้คนเดียว
แต่ถ้าคุณแม่รู้ทันว่าอาการและความคิดแบบนี้มันเป็นเรื่องของโรคซึมเศร้าคุณแม่ก็จะสามารถฝืนและปลดตัวเองออกมาขอความช่วยเหลือได้บ้าง และแน่นอนถ้าคุณรู้ทันตัวเองแล้วอย่ากังวลแม้ว่ามันจะยากมากเราเข้าใจแต่อยากให้คุณรู้ว่ามีคนที่พร้อมช่วยเหลือคุณอยู่เสมอ
5.หลังคลอดลูกคนแรกและมีแผนจะมีลูกคนที่สองควรเตรียมตัวไว้ให้ดี
ถ้าคุณแม่รอดพ้นจากโรคนี้มาในท้องแรกการตั้งท้องครั้งที่สองก็จะต้องเฝ้าสังเกตและระวังตัวเองให้มากขึ้นเพราะมันอาจจะเกิดขึ้นได้แต่ขอให้ทำใจให้สบายพยายามช่วยตัวเองด้วยความคิดที่ดีและให้เชื่อมั่นว่าคนรอบข้างพร้อมที่จะช่วยเหลือคุณแม่เสมอ และหากพบว่าตัวเองเริ่มมีอาการที่เข้าข่ายอย่ารอช้ารีบพาตัวเองไปพบแพทย์เพื่อหาแนวทางบำบัดต่อไป
โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่แพ้ความเข้มแข็ง ความเข้าใจ ความใส่ใจ แพ้กำลังใจดีๆ จากทั้งตัวเองและคนรอบข้าง อย่ายอมแพ้คุณแม่ต้องผ่านมันไปให้ได้เพื่ออยู่ต่อและเป็นตัวอย่างในความเข้มแข็งให้กับลูกน้อยของคุณได้เรียนรู้อะไรจากคุณและมีความสุขกันต่อไปในอนาคตอีกด้วย