คุณแม่หลังคลอดร่างกายจะอ่อนเพลียมากจากการคลอด ในขณะที่ก็ไม่สามารถที่จะรอเวลาพักฟื้นให้เต็มที่ได้เนื่องจากมีลูกน้อยที่รอการให้นมจากคุณแม่อยู่ เพราะฉะนั้นคุณแม่หลังคลอดจึงควรได้รับอาหารที่มีประโยชน์สูงสุดทั้งต่อร่างกายคุณแม่เองและเป็นการบำรุงน้ำนมให้ลูกน้อย “ของแสลง” จึงเป็นสิ่งที่ควรเลี่ยงอย่างยิ่ง ผลลบที่เกิดขึ้นไม่ได้กระทบแค่คุณแม่เท่านั้น แต่ยังส่งผ่านไปถึงลูกน้อยทางน้ำนมได้อีกด้วย
สารบัญ
ของแสลง คืออะไร?
ในแง่ของแพทย์แผนจีนกับเรื่องของอาหารมีพื้นฐานมาจากที่ว่า “อาหารคือยา อาหารและยามีแหล่งที่มาที่เดียวกัน” ซึ่งถ้าพูดในแง่ของคนไข้การเลือกกินอาหารให้เหมาะสมกับโรคก็จะทำให้โรคทุเลาลง นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมในเรื่องของการรักษา และช่วยฟื้นฟูร่างกายได้ดี
ในทางตรงกันข้ามหากคุณแม่หลังคลอดเลือกกินอาหารที่ไม่เหมาะสมก็จะส่งผลทำให้ร่างกายฟื้นตัวช้าหรืออาจทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น
ของแสลง หรืออาหารแสลง มีความหมายที่กว้าง ดังนี้
- กินอาหารที่มากหรือน้อยเกินไปก็เกิดโทษ
- กินอาหารชนิดเดียวกัน แบบเดิม ซ้ำซากก็เกิดโทษ
- กินอาหารที่ไม่สอดคล้องกับลักษณะธาตุของแต่ละบุคคลก็เกิดโทษ
- กินอาหารที่ไม่สอดคล้องกับภาวะเจ็บไข้ได้ป่วย
- กินอาหารที่ไม่สอดคล้องกับยาสมุนไพรที่ใช้รักษาขณะที่เป็นโรค
ข้อมูลอ้างอิง rajavithi.go.th
ของแสลง หลังคลอดมีอะไรบ้าง?
กาแฟ
เมื่อพูดถึงกาแฟ สิ่งแรกที่ทุกคนคิดถึงคือ “คาเฟอีน” ซึ่งเป็นสารที่กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ให้เกิดการตื่นตัว แม้ว่าคุณแม่ขอต่อรองว่ากินแค่อึกเดียว แต่จะอึกเดียวหรือครึ่งอึกก็เป็นการนำคาเฟอีนเข้าสู่ร่างกายแล้วค่ะ ซึ่งคาเฟอีนนี้สามารถส่งผ่านไปยังลูกน้อยได้ทางน้ำนม
ดังนั้นเมื่อลูกน้อยได้รับคาเฟอีนเข้าร่างกาย เขายังไม่สามารถที่จะขับคาเฟอีนออกมาได้เองทั้งหมด จึงส่งผลให้ลูกน้อยตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่ยอมนอน ที่สำคัญ คาเฟอีนในจำนวนมาก ๆ สามารถลดระดับธาตุเหล็กในน้ำนมแม่อีกด้วยนะคะ
เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลมากและของหวาน
อาทิ น้ำผลไม้ น้ำอัดลม น้ำหวานชนิดต่าง ๆ และขนมหวานชนิดต่าง ๆ จะมีปริมาณน้ำตาลที่สูงมาก ถ้าหากคุณแม่ที่อยู่ในระยะให้นมกินเข้าไป ปริมาณน้ำตาลที่สูงหรือน้ำตาลมือสองนี้จะถูกส่งต่อไปให้ลูกน้อยทางน้ำนม จะส่งผลให้ดัชนีมวลกาย (BMI) ของลูกน้อยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็สามารถนำไปสู่โรคอ้วนและโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้
ช็อกโกแลต
ช็อกโกแลตก็เป็นหนึ่งในอาหารต้องห้ามค่ะ เนื่องจากในช็อกโกแลตมีสาร Theobromine ซึ่งมีผลคล้ายกับคาเฟอีน และเป็นที่รู้กันดีว่าช็อกโกแลตก็มีปริมาณน้ำตาลที่สูง หากคุณแม่กินเข้าไปแล้วล่ะก็ได้เห็นลูกน้อยหงุดหงิด งอแงแน่นอน
ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว
จริงอยู่ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวจะอุดมไปด้วยวิตามินซี แต่ด้วยความเปรี้ยวของมันจะทำให้กระเพาะของลูกน้อยเกิดความระคายเคืองได้ นอกจากนี้ความเปรี้ยวมีแนวโนมที่จะทำให้กลิ่นของรสชาติในน้ำนมนั้นเปลี่ยนไป ซึ่งส่งผลให้ลูกน้อยไม่ยอมเข้าเต้าได้ ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว ได้แก่ ส้ม มะนาว เกรพฟรุต กีวี และสับปะรด
เชอร์รี่ เบอร์รี่ พรุน
ผลไม้เหล่านี้จะดีมากสำหรับลูกน้อยที่สามารถเคี้ยวได้แล้ว แต่ถ้าหากลูกน้อยยังกินนมแม่อย่างเดียว การที่คุณแม่กินผลไม้เหล่านี้เข้าไปจะส่งผลให้ลูกน้อยท้องอืด ท้องเฟ้อ เกิดแก๊สในกระเพาะได้ เนื่องจากระบบการย่อยอาหารของลูกน้อยยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่
ปลาที่มีปริมาณสารปรอทสูง
ได้แก่ ปลากระโทง ปลาอินทรีย์ ปลาเก๋า ปลาฉลาม ปลาทูน่าครีบเหลือง หากสารปรอทเข้าสู่ร่างกายลูกน้อยจะส่งต่อการเจริญเติบโตทางระบบประสาทของลูกน้อย
แอลกอฮอล์
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค ระบุว่า การที่คุณแม่ดื่มแอลกอฮอล์เพียงหนึ่งดริ้งค์จะไม่เป็นอันตรายต่อทารก แต่ทางที่ดีที่สุดเลี่ยงได้เลี่ยงดีกว่าค่ะ หรือถ้าต้องการดื่มจริง ๆ สามารถดื่มเป็นเครื่องดื่มแบบม็อกเทลซึ่งมีสูตรคล้ายกับค็อกเทลแต่ไม่มีแอลกอฮอล์แทนได้ค่ะ
อาหารที่มีกลิ่นแรง
อาทิ สะตอ กระเทียม และทุเรียน อาหารเหล่านี้เป็นอาหารที่กลิ่นแรง สะตอมีสารประกอบทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะ มีปริมาณสารกำมะถันสูง มีฤทธิ์ที่ช่วยในการขับถ่าย
อาหารรสจัด และรสเผ็ด
ได้แก่ น้ำพริก ต้มยำ รวมถึงเครื่องแกงต่าง ๆ อาหารเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีพริกเป็นส่วนประกอบ แต่การที่คุณแม่กินพริกเข้าไปไม่ได้หมายความว่าน้ำนมแม่จะเผ็ดนะคะ เพียงแต่สารอาหารในพริกต่างหากที่ทำให้กลิ่นของน้ำนมของคุณแม่เปลี่ยนไป ซึ่งอาจทำให้ลูกปฏิเสธการกินนมได้
ข้าวโพด
สารอาหารในข้าวโพดที่ถูกส่งต่อลูกน้อยผ่านน้ำนมแม่นั้นมีสารอาหารที่ทำให้ลูกน้อยเกิดอาการคัน มีลมพิษขึ้นที่รอบดวงตา และคัดจมูก บางรายอาจมีอาการหายใจลำบาก ครืดคราด หอบ คอบวม และช็อกได้
ความเป็น “แม่” โดยเฉพาะคุณแม่หลังคลอด จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดูแลตัวเองให้ดี เลือกกินแต่อาหารที่เหมาะสมกับระยะเวลานั้น ๆ บางคนได้อยู่ไฟหลังคลอด “อยู่ไฟหลังคลอดกินอะไรได้บ้าง เมนูอาหารแม่หลังคลอด พร้อมวิธีทำ” เพื่อการเจริญเติบโตของลูกน้อยที่มีประสิทธิภาพนะคะ