พอผ่านช่วงของการตั้งครรภ์ไปเรียบร้อยแล้วก็เดินทางมาถึงช่วงเวลาที่คุณแม่ทุกคนจะต้องมาสรร-หาวิธีปั๊มน้ำนมและวิธีการเก็บรักษาน้ำนมของตนเองเอาไว้ให้ลูกน้อยได้ดื่มตามเวลา
สาเหตุของการปั๊มน้ำนมเก็บไว้เชื่อได้ว่าต่างคนก็ต่างมีเหตุผลที่แตกต่างกันไป อย่างคุณแม่บางคนอาจจะต้องกลับไปทำงานไม่สามารถให้นมลูกได้ตลอดเวลาจึงต้องปั๊มเก็บไว้ บางคนน้ำนมน้อยจึงต้องคอยปั๊มไว้ในเวลาที่ว่างเพื่อจะให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกน้อย หรือไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามแต่วิธีการเก็บรักษาของคุณแม่ทุกคนก็ควรมี 8 ข้อห้ามที่เราจะมาพูดถึงกันในวันนี้เหมือนกัน
เพราะการละเลยรายละเอียดเพียงเล็กน้อยในการเก็บน้ำนมนั้นอาจจะส่งผลให้น้ำนมหมดอายุก่อนเวลาที่ควรจะเป็นและในบางครั้งหากคุณแม่หรือคนให้นมลูกไม่ได้สังเกตดีๆ อาจจะนำนมที่เสียแล้วไปให้ลูกและแน่นอนว่าจะเกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอย่างแน่นอน
และนอกจากการเก็บรักษานมไว้ไม่ให้เสียแล้วนั้นการเก็บรักษาอย่างถูกวิธีก็ยังสามารถช่วยเก็บคุณประโยชน์ของน้ำนมแม่เอาไว้ให้ลูกได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอีกด้วย
8 อย่างต้องห้าม! ในการเก็บน้ำนมแม่ (1/2)
8 อย่างต้องห้าม! ในการเก็บน้ำนมแม่ (2/2)
สารบัญ
8อย่างต้องห้าม!ในการเก็บน้ำนมแม่
ห้ามเก็บน้ำนมแม่ไว้นานเกินไป
การปั๊มน้ำนมหลักๆ ก็มีจุดประสงค์เพื่อให้สามารถเก็บรักษาน้ำนมไว้ให้ได้นานๆ เพื่อให้ลูกน้อยได้ตามที่ต้องการแต่การเก็บน้ำนมไว้นานจนเกินไปนั้นกลับมีผลเสียมากกว่าผลดี สิ่งแรกที่ควรทำในการเก็บน้ำนมก็คือการเขียนวันที่ไว้ที่ถุงน้ำนมแต่ละถุงเพื่อให้สามารถรู้กำหนดก่อนหลังของการปั๊มและหยิบไปให้ลูกกินได้อย่างถูกต้องนั่นเอง
แต่คุณแม่บางคนก็ยังอยากจะรู้อายุของน้ำนมคร่าวๆ ว่าแล้วจะเก็บไว้ในที่แบบไหนได้นานแค่ไหนวันนี้เราจะมายกตัวอย่างให้ฟังกัน
วางในอุณหภูมิห้องประมาณ 25 องศาฯ น้ำนมอยู่ได้ประมาณ 4-6 ชั่วโมง
ใส่กระติกน้ำแข็งอุณหภูมิประมาณ 15 องศาฯ น้ำนมอยู่ได้ประมาณ 24 ชั่วโมง
แช่ตู้เย็นช่องปกติอุณหภูมิประมาณ 0-4 องศาฯ น้ำนมอยู่ได้ประมาณ 8 วัน
แช่ในช่องแข็งของตู้เย็นอุณหภูมิประมาณ -4 องศาฯ น้ำนมอยู่ได้ประมาณ 4-6 เดือน
แช่ไว้ในตู้แช่แข็ง (เช่น ตู้ไอศกรีม) อุณหภูมิประมาณ -19 องศาฯ น้ำนมอยู่ได้ประมาณ 6-12 เดือน
ทราบระยะเวลาการเก็บน้ำนมในแต่ละอุณหภูมิกันแล้วคุณแม่หลายๆ คนน่าจะวางแผนการเก็บน้ำนมให้ลูกน้อยได้สนุกขึ้นอย่างแน่นอน
ห้ามเอาน้ำนมแม่มาทำเป็นน้ำแข็ง
ดูเป็นวิธีที่ค่อนข้างสร้างสรรค์ในการกินนมให้ลูกน้อยได้ดีทีเดียวเพราะให้ลูกน้อยได้อมน้ำนมเย็นๆ เป็นก้อนแบบพอดีคำ
แต่สิ่งที่ไม่ควรลืมเลยก็คือในเรื่องของความสะอาดบางครั้งพิมพ์ที่ใช้ทำน้ำแข็งอาจไม่มีฝาปิดทำให้แบคทีเรียจากสิ่งอื่นๆ ในตู้เย็นและอากาศในการเปิดปิดตู้เย็นสามารถปนเปื้อนในน้ำนมที่ทำเป็นน้ำแข็งนี้ได้และเด็กในวัยที่ยังกินนมแม่อยู่คือเด็กประมาณแรกเกิดถึง 12 เดือน แน่นอนว่ายังไม่มีภูมิคุ้มกันร่างกายที่แข็งแรงมากนัก เรื่องของความสะอาดเป็นเรื่องที่ต้องได้รับความใส่ใจเพื่อสุขภาพอนามัยที่สมบูรณ์ของลูกน้อยนั่นเอง
ห้ามให้ถุงน้ำนมขาด
ฟังดูอาจจะเป็นเรื่องที่น้อยคนจะสามารถประมาทได้แต่ในกรณีที่ถุงน้ำนมถูกน้ำไปแช่แข็งแล้วก็มักจะเกิดขึ้นเสมอเนื่องจากคุณแม่หลายๆ คนลืมเผื่อพื้นที่ในการแข็งตัวของน้ำนมรวมไปถึงลืมรีดอากาศออกจากถุงน้ำนมจนทำให้เมื่อแช่ไปแช่มาน้ำนมแข็งตัวแล้วเกิดขยายจนทำให้ถุงน้ำนมฉีกขาดได้นั่นเอง
และอีกหนึ่งอย่างที่ไม่ควรทำในการเก็บรักษาน้ำนมนั่นก็คือการนำถุงพลาสติกแบบทั่วไปมาใส่น้ำนมแล้วแช่แข็งเพราะจะทำให้เกิดการฉีกขาดง่ายกว่าการใช้ถุงสำหรับใส่น้ำนมโดยเฉพาะและยังอาจมีสารเคมีปนเปื้อนมากับถุงได้อีกด้วย
ห้ามเก็บน้ำนมแม่ไว้ใกล้เนื้อดิบ
บางครั้งคุณแม่อาจหลงลืมไปในเรื่องของการวางถุงน้ำนมและอาจนำไปวางไว้ใกล้เนื้อสัตว์ซึ่งแน่นอนว่ามีแบคทีเรียอยู่มากมายอย่างแน่นอนซึ่งถือว่าควรหลีกเลี่ยง
และนอกจากนี้การจัดวางน้ำนมไว้ในตู้เย็นควรมีการแบ่งโซนเพราะหากวางรวมไว้กับสิ่งอื่นๆ แล้วนั้นอาจจะมีการหยิบย้ายไปมาทำให้มือที่สัมผัสสิ่งอื่นแล้วมาจับถุงน้ำนมต่ออาจมีแบคทีเรียติดมาได้จึงเป็นเรื่องที่ควรให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษอีกด้วย
ห้ามอุ่นนมแบบผิดวิธีเด็ดขาด
โดยปกติการละลายของแข็ง การทำให้ของเย็นๆ อุ่น ส่วนใหญ่แล้วมักจะคุ้นเคยกับการโยนเข้าไมโครเวฟการน้ำไปต้มในน้ำร้อนซึ่งมันเป็นวิธีที่ควรหลีกเลี่ยงที่สุดสำหรับการอุ่นน้ำนมของคุณแม่ให้ลูกน้อยเพราะความร้อนจะทำให้สูญเสียคุณค่าทางอาหารได้
คุณแม่ควรนำออกมาละลายด้วยน้ำสะอาดอุณหภูมิห้องอย่างใจเย็นแล้วค่อยให้ลูกกินเย็นหน่อยไม่เป็นไรให้ลูกกินง่ายขึ้นก็พอเพื่อช่วยรักษาประโยชน์ของนมแม่ไว้ให้มากที่สุดนั่นเอง
ห้ามแช่น้ำนมแม่ที่กินเหลือเอาไว้ให้ลูกกินต่อ
แน่นอนว่าอาจจะมีบางครั้งที่ลูกน้อยกินนมไม่หมดถุงแล้วบางครั้งคุณแม่อาจเกิดเสียดายขึ้นมานำไปแช่ตู้เย็นหรือช่องแข็งต่อ นี่ถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่งเพราะอาจจะเสี่ยงทำให้นมหมดอายุและเมื่อนำมากินอีกทีก็เสี่ยงอีกว่าจะทำให้ลูกน้อยท้องเสีย รวมไปถึงสารอาหารในนมที่นำเข้านำออกเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิบ่อยๆ ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์แน่นอน ซึ่งถ้าลูกกินไม่หมดสิ่งที่ควรทำก็คือโยนนมถุงนั้นทิ้งไปได้เลยเพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย
ห้ามลืมล้างมือก่อนปั๊มนม
ในจุดนี้อาจจะเป็นด้วยความเร่งรีบหรือปัจจัยใดก็ตามทำให้คุณแม่หลายคนลืมล้างมือให้สะอาดก่อนมาปั๊มนมเก็บไว้ให้ลูก
ในข้อนี้ถือว่าต้องมีการเอาป้ายมาติดเตือนหรือทำอย่างไรก็ได้ให้ไม่ลืมที่จะล้างมือก่อนปั๊มนมเพื่อเป็นการรักษาความสะอาดให้มากที่สุดเพราะมือของคุณแม่อาจจะผ่านการสัมผัสอะไรมาเยอะจนทำให้มีแบคทีเรียติดมาและเมื่อปั๊มนมก็อาจจะเป็นตัวนำสิ่งสกปรกติดน้ำนมไปจึงควรระวังเป็นอย่างยิ่ง
ระวังไว้ให้ดีกับตู้เย็นที่มีระบบละลายน้ำแข็งอัตโนมัติ
ระบบละลายน้ำแข็งอัตโนมัติถือว่าเป็นเรื่องที่ดีกับตู้เย็นของคุณแต่อาจไม่ดีกับน้ำนมที่ปั๊มไว้ของคุณแน่นอนเพราะการเปลี่ยนอุณหภูมิในการแช่นมนั้นอาจส่งผลให้นมมีกลิ่นหรือบูดและเสียได้
แต่ในเมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้หากพบว่าตู้เย็นดันละลายน้ำแข็งอัตโนมัติไปแล้วก็ควรชิมและเช็คน้ำนมให้ดีก่อนว่ายังดีอยู่หรือไม่น้ำนมเสียหรือไม่เพื่อที่จะช่วยป้องกันผลเสียที่จะตามมาสู่ลูกน้อยนั่นเอง
การปั๊มน้ำนมแม่เก็บไว้ถือว่าเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมกันอย่างมากสำหรับคุณแม่แทบจะทุกคนและยังมีการพัฒนาเครื่องปั๊มนมต่างๆ ออกมามากมายเพราะน้ำนมแม่เป็นอาหารที่เหมาะและดีที่สุดสำหรับพัฒนาการของลูกน้อย
หวังว่าข้อห้ามต่างๆ ในการเก็บรักษาน้ำนมในครั้งนี้จะมีประโยชน์ช่วยให้คุณแม่เก็บน้ำนมกันได้อย่างถูกวิธีและมีความสุขไม่ต้องมาคอยกังวลกับปัญหาเหล่านี้อีกต่อไปแล้วมาคอยเฝ้าดูพัฒนาการที่ดีของลูกน้อยจากน้ำนมแม่กันดีกว่า