ผู้หญิงหลายคนบอกว่า ผู้หญิงเรามีความภูมิใจอยู่ที่ขนากของหน้าอก บางคนมีหน้าอกที่เล็ก พอไปเสริมหน้าอกมาแล้วทำให้มีความมั่นใจมากขึ้น ซึ่งบางคนก็มีคำถามว่า “เสริมหน้าอกมาจะให้นมลูกได้ไหม?” หรือ “ถ้าเสริมหน้าอกมาแล้วจะมีผลต่อปริมาณน้ำนมหรือไม่?”
สารบัญ
เสริมหน้าอกให้นมลูกได้ไหม?
ผู้หญิงเราการมีหน้าอกเป็นเรื่องที่ช่วยเสริมความมั่นใจได้อย่างมาก แต่บางคนก็กังวลว่าถ้าเสริมหน้าอกแล้วจะสามารถให้นมลูกได้ไหม กังวลว่าถ้าเสริมหน้าอกมาแล้วจะไม่มีน้ำนมให้ลูกกิน ความจริงแล้วการเสริมหน้าอกมักจะนิยมใช้วิธีการเปิดแผลใต้รักแร้หรือไม่ก็ใต้ราวนม แล้ว ใส่ถุงซิลิโคนเข้าไปข้างใต้หรือเหนือกล้ามเนื้อเต้านม ซึ่งจะไม่มีการตัดท่อน้ำนมหรือตกแต่งใด ๆ ที่บริเวณหัวนมเลย ดังนั้น ถุงสร้างน้ำนมยังคงอยู่เหมือนเดิม เราจะสามารถให้นมลูกได้ตามปกติค่ะ
หลังการเสริมหน้าอกแล้ว ประเด็นสำคัญ คือ ควรหมั่นนวดเต้านมเป็นประจำ เนื่องจากหลังจากที่ใส่ซิลิโคนเข้าไปแล้ว ร่างกายจะมีการสร้างพังผืดมาหุ้มรอบซิลิโคน ซึ่งถ้าไม่ได้มีการนวดประจำสม่ำเสมอ อาจทำให้เต้านมหลังเสริมมีลักษณะที่แข็งไม่เป็นธรรมชาติได้
เสริมหน้าอกจะมีผลต่อปริมาณน้ำนมหรือไม่?
โดยทั่วไปแล้วหลังการเสริมหน้าอกจะไม่ได้ส่งผลให้ปริมาณน้ำนมน้อยลง ถ้าคุณแม่ให้ลูกน้อยดูดนมตั้งแต่หลังคลอด และให้ดูดทุก ๆ 2 – 3 ชั่วโมง พร้อมกับให้ลูกเข้าเต้าได้อย่างถูกวิธี ซึ่งหลัก ๆ ก็คือ ต้องให้ลูกงับเข้าไปถึงลานนม ไม่ใช่ดูดแค่หัวนม ทั้งนี้ ก็อาจมีคุณแม่บางคนเหมือนกันที่มีความรู้สึกชาที่หัวนม ขณะที่ลูกดูด เป็นไปได้ว่าเกิดจากปฏิกิริยาของระบบประสาทในส่วนกระตุ้นให้น้ำนมพุ่งนั้นลดลง ก็อาจส่งผลให้น้ำนมน้อยลงได้บ้างเหมือนกัน
เสริมหน้าอกให้นมลูก นมจะยานไหม?
ด้วยธรรมชาติของคุณแม่ตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์ไปจนถึงระยะหลังคลอด และระยะให้นมบุตร ร่างกายจะเริ่มมีการผลิตน้ำนมมารออยู่แล้ว จึงส่งผลให้เต้านมขยาย และคัดตึงมากขึ้น และถ้าผนวกกับเป็นคุณแม่ที่เสริมหน้าอกด้วยก็เป็นธรรมดาที่เมื่อหลังให้นมลูก เต้านมจะย่อนคล้อยค่ะ
ข้อควรรู้ก่อนการเสริมหน้าอก
สำหรับใครที่กำลังคิดที่จะเสริมหน้าอก เรามีคำแนะนำและข้อควรรู้ดังนี้ค่ะ
อาการคัดตึงเต้านมก่อนให้นมลูก
ด้วยวิธีการผ่าตัดเสริมหน้าอก อาจมีบ้างที่มีการทำลายท่อน้ำนม ต่อมน้ำนม เส้นเลือด หรือเส้นประสาทบางส่วน โดยเฉพาะแผลที่อยู่ใต้ลานนม นอกจากนี้จะยังมีในส่วนของการเพิ่มปริมาณนมจากการเสริมหน้าอก อาจส่งผลให้ขณะที่ให้นมลูกน้อยอาจมีอาการบวม คัดตึง ได้มากกว่าปกติ ทำให้คุณแม่รู้สึกไม่ค่อยสบายตัวเท่าไหร่
ปริมาณน้ำนมจะลดลงไหม
โดยปกติแล้วในคุณแม่ที่ไม่ได้มีการเสริมหน้าอก จะมีปริมาณน้ำนมที่เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ หากให้ลูกดูดทุก ๆ 2 – 3 ชั่วโมง และให้ลูกเข้าเต้าได้ถูกวิธี แต่สำหรับคุณแม่ที่เสริมหน้าอกมาอาจมีความรู้สึกชาที่หัวนม ขณะที่ลูกน้อยดูด เนื่องจากผลกระทบของระบบประสาทที่กระตุ้นการไหลของน้ำนมนั้นสูญเสียไปบางส่วน ก็อาจจะทำให้ปริมาณน้ำนมนั้นน้อยลงได้บ้าง
ความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ควรเป็นไปอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งในรายที่เป็นคุณแม่เสริมเต้านม พบว่า “โอกาสของคุณแม่เสริมเต้านมมาจะให้นมลูกครบ 6 เดือนนั้นสำเร็จน้อยกว่าคุณแม่ที่ไม่ได้เสริมหน้าอกมาถึง 3 เท่า” โดยมีปัจจัยที่น่าสนใจดังนี้
- ความมุ่งมั่นในการให้นมลูกนั้นน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้เสริมหน้าอก ซึ่งมีงานวิจัยทางการแพทย์ ระบุว่า ผู้หญิงที่เสริมหน้าอกนั้น มักจะเป็นผู้หญิงที่มีอายุน้อย ฐานะดี สุขภาพแข็งแรง แต่งงานมีครอบครัวแล้ว มีลูกแล้ว รวมถึงเป็นผู้หญิงที่ให้ความสำคัญกับรูปร่างของตัวเอง
- เกรงว่าสารซิลิโคนเหลวที่ใช้บรรจุในถุงซิลิโคนจะทำอันตรายต่อลูกน้อย ซึ่งแม้แต่คุณแม่เองก็ยังพบว่ามีอาการภูมิแพ้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย จึงทำให้คุณแม่มีความกังวลว่า การถุงซิลิโคนมีการรั่วไหล หรือแตกขึ้นมา ก็จะเป็นอันตรายต่อลูกน้อยได้ จึงไม่สามารถให้นมลูกได้อย่างเต็มที่
- เกรงว่าเต้านมจะหย่อนคล้อยหลังการให้นมลูก เพราะขณะที่คุณแม่ตั้งครรภ์ เต้านมจะขยายมากขึ้น คัดตึงมากขึ้น ดังนั้น หลังการให้นมลูกแล้ว เต้านมของคุณแม่ที่เสริมหน้าอกมาก็ย่อมจะหย่อนคล้อยมากกว่าผู้ที่ไม่ได้เสริมเป็นธรรมดา
การเสริมหน้าอกของผู้หญิงเรา สามารถทำได้ค่ะ เพราะสำหรับผู้หญิงบางคน การเสริมหน้าอกถือเป็นการเสริมบุคลิก เสริมความมั่นใจได้ เพียงแต่ก่อนการเสริมหน้าอก ควรหาข้อมูลให้ดี ทั้งวัสดุที่ทำและเลือกสถานบริการที่มั่นใจได้ว่าปลอดภัยมากพอนะคะ ที่สำคัญ หากใครวางแผนที่จะมีครอบครัว หรือมีลูก ต้องแจ้งและปรึกษาคุณหมอก่อนการตัดสินใจเสริมหน้าอกด้วยนะคะ เพื่อเป็นข้อมูลให้คุณหมอได้ทำการตัดสินใจค่ะ