ตั้งแต่ที่คุณแม่รู้ว่ามีลูกน้อยอยู่ในท้อง ก็เริ่มดูแลทั้งตัวเองและลูกน้อยด้วยการทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย หลังคลอดลูกคุณแม่หลายท่านคงเปรี้ยวปาก เกิดอาการอยากทานอาหารรสจัดอย่าง ส้มตำ หรือต้มยำกันบ้าง แต่…คำถามคือ คุณแม่ยังอยู่ในระยะให้นมลูก จะทานเผ็ดได้มั้ย? น้ำนมจะมีรสเผ็ดตามหรือเปล่า? วันนี้เรามาไขข้อข้องใจกันค่ะ
Youtube : แม่ให้นมลูก อยากทานส้มตำรสจัดหรืออาหารเผ็ด จะทำให้น้ำนมเผ็ดด้วยไหม
สารบัญ
แม่ทานเผ็ด น้ำนมจะเผ็ดด้วยมั้ย
การที่แม่ทานอาหารที่มีรสเผ็ดนั้น จะไม่ได้ส่งให้น้ำนมเผ็ดตามไปด้วย เพียงแต่เครื่องปรุงอื่นๆ ต่างหากที่จะทำให้น้ำนมของคุณแม่มีกลิ่นที่เปลี่ยนไป เช่น ถ้าคุณแม่ทานส้มตำมา กลิ่นของกระเทียมอาจจะมีออกมาด้วยกับน้ำนมที่ลูกทาน เป็นต้น
เรื่องที่ว่าด้วยน้ำนมมีกลิ่นกระเทียมนี้ มีผลการวิจัยออกมาแล้วด้วยนะคะว่า แม่ที่ทานอาหารที่มีส่วนผสมของกระเทียม เวลาให้นมลูกก็จะมีกลิ่นกระเทียมออกมาด้วย ลูกก็จะคุ้นเคยกับน้ำนมที่มีลิ่นกระเทียม ทำให้ลูกน้อยดูดนมได้นานขึ้น และดูดแรงขึ้นมากกว่าคุณแม่ที่ไม่ได้ทานกระเทียมค่ะนอกจากนี้ยังพบอีกว่า ในช่วงที่คุณแม่ให้นมลูกนั้นแล้วชอบทานอาหารอะไร ชนิดไหน เมื่อลูกโตขึ้นเค้าก็จะชอบไปด้วย
แต่การทานอาหารรสจัดหรือเผ็ดมากๆ บ่อยๆ คุณแม่ต้องสังเกตตัวเองด้วยนะคะ ว่าถ้าหากมีอาการแสบร้อนกลางอก ให้ลดความเผ็ดน้อยลง เพื่อให้ลูกได้ค่อยๆ ปรับตัวเช่นกัน และสังเกตลูกด้วยนะคะว่าเค้ามีอาการอย่างไร
ทั้งนี้ ทั้งนั้น เรื่องการทานเผ็ดหรืออาหารรสจัดต้องบอกว่าบางครอบครัวหรือคุณแม่บางท่านทานเผ็ดกันเป็นประจำอยู่แล้ว ทั้งก่อนท้อง ระหว่างท้อง และหลังคลอด ดังนั้น ลูกก็จะคุ้นชินกับการที่คุณแม่ทานเผ็ด เพราะเด็กแต่ละคนมีภูมิต้านทานที่ต่างกันค่ะ
ข้อสังเกต หากลูกไม่ชอบทานเผ็ดหรือรสจัด
เพราะเด็กทารกยังไม่สามารถพูดสื่อสารกับคุณแม่ได้ ดังนั้น คุณแม่ต้องหมั่นสังเกตอาการหลังให้นมทกครั้งนะคะ ว่าเค้ามีอาการดังต่อไปนี้เปล่า
- หงุดหงิดหลังทานนมแม่
- นอนน้อยลง
- งอแง ร้องไห้นานขึ้น
- นอนดิ้นไป ดิ้นมา ดูไม่สบายตัว
- ขณะหลับจะมีอาการสะดุ้งตื่นบ่อย บ่อยจนบางครั้งเด็กก็รำคาญตัวเองจนร้องไห้
อันตราย! หากลูกมีอาการเหล่านี้
- ลูกหายใจดังครืดคราดทั้งเวลาหลับและตื่น
- ผิวหนังเริ่มมีผื่นแดง
- อุจจาระออกมามีมูกเขียวปน
อาการข้างต้นที่กล่าวมา อาจจะยังไม่สามารถฟันธงได้ซะทีเดียวว่าอาการข้างต้นเป็นผลมาจากการที่แม่ทานเผ็ด บางทีลูกอาจจะมีอาการแพ้อาหารตัวอื่นได้ เช่น แป้งสาลี ข้าวโพด ถั่ว และกุ้งแห้ง เป็นต้น หากลูกเริ่มมีอาการดังกล่าว คุณแม่ลองงดทานอาหารเผ็ดหรือรสจัดซัก 1 สัปดาห์ แล้วสังเกตอาการของลูกน้อย ถ้ายังไม่ดีขึ้นควรพาไปหาคุณหมอเพื่อให้คุณหมอวินิจฉัยและทำการรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป
อาหารอะไรบ้างที่คุณแม่ควรเลี่ยงในระยะให้นมลูก
- นมวัว และผลิตภัณฑ์จากนมวัว เช่น พิซซ่า เบเกอรี่ ไอศกรีม และชีส เป็นต้นรวมไปถึง นมถั่วเหลือง แป้งสาลี ไข่ อาหารทะเล ผลไม้รสเปรี้ยว หรือ อาหารที่คุณพ่อคุณแม่แพ้ หากคุณแม่ทานอาหารเหล่านี้ ลองสังเกตลูกน้อยด้วยนะคะว่าเค้ามีอาการแพ้หรือเปล่า ส่วนใหญ่จะแสดงอาการภายใน 2 เดือน โดยดูได้จาก ลูกร้องงอแงมากกว่าปกติ มีผื่นขึ้นทีผิวหนัง คันตามตัว หรือมีอาการจากระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ถ่ายเหลว หรือระบบทางเดินหายใจ เช่น คัดจมูก คันตา หายใจครืดคราด เป็นต้น
- ผักที่ทำให้เกิดแก๊ส เช่น บรอกโคลี ดอกกะหล่ำ และหน่อไม้ เพราะจะส่งผลให้ลูกท้องอืด และงอแงได้
- ปลาดิบ ทานได้ค่ะ หากมั่นใจว่าสะอาดและปลอดภัย ไม่มีสารปรอทตกค้างจากโรงงานอุตสาหกรรม แต่ทานเยอะไปลูกอาจเสี่ยงแพ้ได้
- ปลาร้า ถ้ามั่นใจว่าสุกก็ทานได้
- กาแฟดำ และ ไวน์ ทานได้ไม่เกินวันละ 1 แก้ว
คุณแม่ที่อยู่ในระยะให้นม ควรทานอาหารให้หลากหลายครบทั้ง 5 หมู่จะดีที่สุดค่ะ อย่าเพิ่งเน้นเผ็ดอย่างเดียว เพื่อให้ลูกน้อยได้รับสารที่ครบถ้วนมากที่สุดจากนมแม่ เพราะ “นาทีทองแบบนี้” จะอยู่กับเราเพียงไม่กี่ปีเท่านั้นนะคะ