คุณแม่มือใหม่หลายคนมักเป็นกังวลกับลูกน้อยที่ไม่ยอมเข้าเต้า พอถึงเวลาทานนมทีไร เอาเข้าเต้าร้องไห้บ้านแทบแตก จนคุณแม่เองก็แทบจะอ่อนใจต้องยอมให้ทานจากขวดเรื่อยไป แต่เดี๋ยวก่อนค่ะ…ใจเย็นอีกสักนิด รออีกสักหน่อย ก่อนอื่นชวนคุณแม่มาทำความเข้าใจถึงสาเหตุที่ลูกไม่ยอมเข้าเต้ากันก่อนดีกว่า ว่าเพราะอะไรลูกถึงไม่ยอมดูดเต้า แล้วเราค่อยมาดูวิธีแก้กัน พร้อมรึยังคะ ถ้าพร้อมแล้ว ไปดูกันเลยค่ะ
สารบัญ
ขวดนม vs เต้านม
ก่อนอื่นคุณแม่อย่างเพิ่งเสียใจ หรือกังวลใจไปค่ะ โดยทั่วไปแล้วมักจะมีสาเหตุมาจาก
- น้ำนมแม่ยังน้อย : เพราะนมแม่ต้องใช้แรงในการดูดมากกว่าขวดนม ดังนั้น เมื่อลูกเข้าเต้า และต้องใช้แรงดูดมาก ๆ แต่น้ำนมไม่ออก จึงทำให้ลูกหงุดหงิด ไม่อยากเข้าเต้าต่อ
- เต้าแข็ง : กรณีที่คัดเต้ามาก ๆ จะทำให้เต้าแข็ง หัวนมแข็ง ดูดยาก ลูกดูดไม่สะดวก ทำให้ไม่อยากดูดอีก
- น้ำนมไหลมามากไป : เมื่อคัดเต้านมมาก พอดูดแล้ว น้ำนมไหลออกมาแรง และเยอะ ทำให้ลูกกินไม่ทัน เกิดอาการสำลัก ลูกจึงไม่ชอบเข้าเต้า
สาเหตุลูกไม่ยอมเข้าเต้า
ปัญหาการที่ลูกไม่ดูดเต้านั้น มีหลายสาเหตุค่ะ
ติดขวดตั้งแต่แรก
ทารกบางคนติดขวดตั้งแต่อยู่ในโรงพยาบาล เพราะต้องมีการเสริมด้วยนมผง โดยอ้างว่าน้ำนมคุณแม่ยังไม่มา ทั้ง ๆ ที่ความจริงยังไม่จำเป็นต้องเสริม หากไม่มีข้อบ่งชี้ เช่น น้ำหนักของทารกลดต่ำลงกว่าสิบเปอร์เซ็นต์ มีภาวะน้ำตาลต่ำ
บางคนดูดเต้าได้ แต่พอได้ใช้ขวดก็ติดขวด
ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่าถึงเวลาที่คุณแม่ต้องกลับไปทำงานแล้ว จึงทำให้ระหว่างวันลูกน้อยต้องทานนมจากขวดแทน ไม่ทันระวัง ใช้ขวดบ่อยเกินไป อาทิ กินนมสต๊อกเกินชั่วโมงละออนซ์ ถือขวดนมแบบตั้งทำให้นมไหลเร็ว ลูกน้อยจึงติดใจในความเร็ว หรือการเปลี่ยนจุกนมจากเบอร์เล็กไปเป็นเบอร์ใหญ่ขึ้น ทำให้นมไหลเร็วขึ้น
ลูกมีพังผืดใต้ลิ้น
แบบนี้จะส่งผลให้เมื่อเวลาที่ลูกดูดนม น้ำนมจะไหลออกข้างปาก ทำให้ลูกไม่อิ่ม ลูกจึงเกิดอาการหงุดหงิด และไม่อยากเข้าเต้าไม่อีก
ท่าดูดไม่ถูกต้องวลาที่ลูกน้อยหิว
เวลาที่ลูกน้อยหิว แต่ท่าในการเข้าเต้าไม่ถูกต้อง ทำให้ลูกน้อยนอนกินนมไม่สบายตัว ก็เป็นสาเหตุที่ท้าให้เค้าไม่อยากดูดเต้าได้ค่ะ
ปัจจัยอื่น ๆ จากคุณแม่
มีอะไรบ้าง เช่น คุณแม่หัวนมสั้น บอด บุ๋ม
- ฟันกำลังขึ้น
- ไม่สบาย เป็นหวัด
- หูติดเชื้อ ทำให้ลูกน้อยมีอาการเจ็บปวดขณะดูดนม
ผลกระทบลูกไม่ยอมเข้าเต้า
เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกไม่ยอมเข้าเต้า ผลกระทบคือ อาจทำให้ท่อน้ำนมอุดตัน เกิดอาการเจ็บปวด บวม ที่เต้านมได้ค่ะ
วิธีแก้ไขลูกไม่ยอมเข้าเต้า
หากลูกน้อยติดขวดนมจากโรงพยาบาล เพราะอ้างว่าน้ำนมแม่ไม่พอนั้น ให้คุณแม่ปรับมาเป็นให้นมแบบจิบหรือติดอุปกรณ์ Lactation Aids แทน (ตามภาพด้านล่าง)
เพราะอุปกรณ์ Lactation Aids นี้ จะเหมาะสำหรับทารกที่ติดขวดนมมาแล้ว แต่คุณแม่ต้องการปรับพฤติกรรมการกินใหม่โดยจะให้กลับมาเข้าเต้า โดยระหว่างที่ลูกน้อยดูดนมจากอุปกรณ์นั้น คุณแม่ยังคงอุ้มลูกน้อยไว้เสมือนให้เค้าดูดจากเต้าค่ะ
image : 9prompt.com
Lactation Aids
- กรณีลูกมีพังผืดที่ลิ้น แก้ไขได้โดยการไปพบคุณหมอ เพื่อขลิบใต้ลิ้น
- คุณแม่ควรศึกษาท่าทางการให้นมเพิ่มมากขึ้นค่ะ เพราะท่าให้นมมีหลายแบบ แล้วลองทุกท่า เอาที่ทั้งลูกและทั้งคุณแม่สบายที่สุด จะช่วยกระตุ้นให้ลูกอยากเข้าเต้ามากที่สุดค่ะ
- แม่หัวนมสั้น บอด บุ๋ม แนะนำว่าคุณแม่ควรตรวจเช็คด้วยนะคะ หากพบว่ามีลักษณะดังกล่าว ควรปรึกษาคุณหมอที่คลินิกนมแม่ เพื่อให้คุณหมอช่วยแก้ไขให้ค่ะ
- เวลาที่ลูกร้องหิวนม ให้คุณแม่เสนอเต้าเข้าปากเลย แต่หากยังร้องอยู่อาจทำใหม่อีกครั้งในขณะที่ลูกร้องจนง่วง กำลังจะหลับ แต่ข้อนี้ต้องอาศัยความใจแข็งของคุณแม่หน่อยนะคะ เพราะเด็กบางคนอึดค่ะ ร้องนานมาก บางทีร้องจนตาบวมก็มี
- ขณะให้นม ควรทำบรรยากาศให้เงียบ ไม่มีเสียงใด ๆ รบกวน เพราะเสียง…จะเป็นอีกตัวกระตุ้นที่ทำให้ลูกไม่สนใจเต้า แต่อยากจะฟังเสียงนั้น ๆ มากกว่า
- พยายามให้ลูกดูดเต้าให้ตรงเวลา เพื่อหลีกเลี่ยงอาการเต้านมคัดและท่อนมอุดตัน
- ก่อนการดูดเต้า ให้คุณแม่หาผ้าชุบน้ำอุ่นๆ มาประคบที่รอบเต้านม เพื่อเป็นการกระตุ้นให้น้ำนมไหลเวียนได้สะดวกมากขึ้น
เทคนิคดูดนมแม่ให้ลูกอิ่มสบาย
ในกรณีที่คุณแม่กังวลว่าจะมีน้ำนมน้อย วันนี้เรามีคำแนะนำจาก พญ.วิมล เสกธีระ กุมารแพทย์ กุมารเวชศาสตร์ด้านทารกแรกเกิด-ปริกำเนิด รพ.เวชธานี โดยใช้หลักการกระตุ้นน้ำนมแม่ดังนี้
ดูดเร็ว
เมื่อลูกคลอดออกมาแล้วภายใน 15 – 30 นาที ควรให้ลูกน้อยเข้าเต้าเลย เพื่อเป็นการกระตุ้นน้ำนมในครั้งแรก
ดูดบ่อย
ให้ดูดบ่อย ๆ ทุกวัน วันละ 8 – 12 ครั้ง หรือเมื่อใดก็ตามที่ลูกน้อยต้องการ ถ้าลูกร้องงอแงหรือหิวก็สามารถให้ลูกดูดได้
ดูดนาน
ควรให้ลูกดูดนาน ๆ ประมาณข้างละ 15 นาที หรือจะปล่อยให้ลูกดูดจนกว่าลูกจะคายเต้าเอง แต่ไม่ควรเกินข้างละ 30 นาที สลับซ้าย – ขวา
การให้ลูกเข้าเต้าเป็นอะไรที่ดีที่สุด เพราะระหว่างที่ลูกเข้าเต้านั้นนับเป็นการสานสายใยความผูกพันธ์ได้ดีระหว่างคุณแม่และลูก ซึ่งอย่างที่คุณแม่รู้กันค่ะว่าเด็กแต่ละคนก็มีความแตกต่างกัน บางคนมีลูกไม่ชอบเข้าเต้า บางคน “ลูกไม่ยอมดูดขวด จะเข้าเต้าอย่างเดียว ทำอย่างไรดี?” ซึ่งเหนือสิ่งอื่นใดไม่ว่าจะเข้าเต้าหรือจะดูดจากขวดขอให้เป็นนมแม่นะคะ เพราะนมแม่…แน่ที่สุดค่ะ