ปัญหาหัวนมแตก เจ็บหัวนม เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่คุณแม่มือใหม่หลายคนกำลังเผชิญ ซึ่งหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้หัวนมแตกนั่นก็คือ การที่ให้ลูกเข้าเต้าไม่ถูกต้อง หรือผิดวิธีนั่นเอง ในระยะแรกของการให้นม อาจจะยังไม่เห็น คิดว่าให้ในท่าไหนก็ได้ แม่เมื่อให้นมลูกในท่าที่ผิดไปนาน ๆ เข้า ก็เริ่มเจ็บหัวนมแล้วทีนี้ บางรายเจ็บมากอาจต้องไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษากันทีเดียวค่ะ เพราะถ้าปล่อยไว้อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ และการเข้าเต้าที่ถูกต้อง ทำอย่างไร? ไปดูกันค่ะ
การเข้าเต้าที่ถูกต้อง
สิ่งที่แน่นอนและนอนมาก็คือ การที่ให้ลูกลับไปถึงลานนม พร้อมกับ “4 ท่าให้นมลูกยอดนิยมพร้อมท่าทางที่ถูกต้อง” มีวิธีดังนี้ค่ะ
- ใช้ท่าอุ้มขวางตัก จะช่วยให้ลูกเข้าเต้าได้ดี และคุณแม่ส่วนใหญ่ก็จะถนัดท่านี้
- ใช้มือประคองเต้านม ให้นิ้วหัวแม่มืออยู่ที่ด้านบน เหนือขอบด้านนอกของลานนม นิ้วที่เหลือประคองด้านล่าง *ไม่ควรใช้ท่าเหมือนนิ้วคีบบุหรี่ เพราะช่องว่างระหว่างนิ้วจะแคบ ลูกจะอมเต้าได้ไม่ลึกพอ และนิ้วอาจไปกดท่อน้ำนม ทำให้น้ำนมไหลไม่ดี*
- อุ้มลูกโดยใช้มืออีกข้างประคองต้นคอและท้ายทอย (ไม่กดใบหู) จับลูกเงยหน้าขึ้นเล็กน้อย ศีรษะสูงกว่าลำตัวเสมอ
- เคลื่อนลูกเข้ามา โดยให้คางของลูกมาชิดกับเต้านมส่วนล่าง
- ลูกจะเริ่มอ้าปาก แต่ถ้าลูกไม่อ้าปากให้ใช้หัวนมเขี่ยที่ริมฝีปากล่างของลูกเบา ๆ เพื่อกระตุ้นให้ลูกอ้าปาก
- รอให้ลูกอ้าปาก จึงเคลื่อนศรีษะลูกเข้าหาเต้านมอย่างรวดเร็ว แต่นุ่มนวล ชิงจังหวะก่อนที่ลูกจะหุบปากลง และจะไม่ใช้วิธีโน้มตัวแม่มาปากลูก
คุณแม่ต้องรีบชิงจังหวะในขณะที่ลูกอ้าปากกว้างก็เพราะว่าเป็นจังหวะที่ลูกจะอ้าปากกว้างที่สุดแล้ว แบบนี้ถึงจะสามารถงับเข้าไปถึงลานนมได้ค่ะ
- ให้ลูกงับไปถึงลานนม โดยให้ลูกงับที่ลานนมส่วนล่างมากกว่าลานนมส่วนบน
- ให้คางลูกแนบชิดกับเต้านมส่วนล่าง
ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้ลิ้นของลูกยื่นออกมารีดน้ำนมจากเต้าของคุณแม่ได้ดีขึ้น น้ำนมจะออกมากขึ้น ซึ่งจมูกของลูกจะอยู่ห่างเต้านมแม่เล็กน้อย ลูกยังสามารถหายใจได้อยู่ค่ะ
วิธีสังเกตว่าลูกงับถึงลานนมหรือยัง?
นอกจากวิธีเข้าเต้าที่ถูกต้องแล้ว เรามาติดตามผลกันดีกว่าค่ะว่า ลูกงับได้ถึงลานนมแล้วหรือยัง? ซึ่งสังเกตได้จาก
- เมื่อมองจากด้านบน คุณแม่จะเห็นว่าลูกอมลานนมด้านล่างได้มากกว่าด้านบน โดยดูจากลานนมเป็นหลัก คุณแม่จะเห็นว่าลานนมด้านล่างถูกอมได้เยอะกว่าด้านบน
- ปากลูกอ้ากว้าง แนบสนิทกับเต้านมของคุณแม่
- ริมฝีปากล่างมีลักษณะบานออกเหมือนปากปลา
- คางลูกจะแนบชิดกับเต้านมแม่
ด้วยความที่เป็นคุณแม่มือใหม่ เวลาที่เข้าเต้ากลัวลูกจะหายใจไม่ออก จึงใช้นิ้วมือกดที่เต้านมใกล้กับจมูกลูก แต่โดยธรรมชาติแล้วเวลาที่เด็กกินนม ปีกจมูกจะบานออกเพื่อการหายใจ เต้านมของแม่ไม่ได้ปิดกั้นการหายใจของลูกนะคะ เว้นเสียแต่ว่าคุณแม่มีเต้านมที่ใหญ่มาก ๆ ซึ่งการที่คุณแม่ใช้นิ้วกดที่เต้านมนั้น จะส่งผลให้ปากลูกอมได้ไม่ลึกเท่าที่ควร เหงือกของลูกจะไปกดที่หัวนม และลิ้นของลูกก็จะถูไปถูกมากับหัวนมของคุณแม่ ซึ่งจะทำให้หัวนมแตก และเจ็บได้นั่นเองค่ะ
การให้ลูกเข้าเต้าได้อย่างถูกต้องจะช่วยให้ปัญหาหัวนมแตกหมดไป ลูกก็จะรักการเข้าเต้ามากขึ้น น้ำนมก็ไหลได้เยอะขึ้น แต่มันจะดีมากสำหรับเด็กที่ตื่นแล้ว พร้อมจะกินนม ส่วนเด็กที่นอนเก่ง ตื่นยาก แบบนี้คงต้องสรรหา “วิธีปลุกลูกเต้า แบบละมุนละม่อม ลูกไม่ร้องงอแง” กันซะหน่อยแล้ว ไม่อย่างนั้นจะมีผลต่อการผลิตน้ำนมของคุณแม่ (ถ้าไม่ปั๊มออก)
ข้อมูลอ้างอิง thaibf.com