อย่างที่คุณพ่อคุณแม่หลายๆ คนคงทราบกันดีว่าขณะตั้งครรภ์อาหารต่างๆ หรือเครื่องดื่มต่างๆ ที่เราทานเข้าไปนั้นมีผลต่อลูกในครรภ์ทั้งสิ้น แล้วเรื่องของอารมณ์ล่ะ? เพราะคนท้องมักมีอารมณ์อ่อนไหวง่ายเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว คำถามคือ
“ถ้าหากคุณแม่ร้องไห้…แล้วจะมีผลต่อลูกในครรภ์ด้วยหรือเปล่า?”
Youtube : แม่ท้องร้องไห้บ่อย จะมีผลระยะยาวกับลูกในท้องหรือเปล่า?
สารบัญ
จากการศึกษาและวิจัย
สมาคมจิตวิทยาในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ทำการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้วพบว่า อารมณ์ของคุณแม่จะเริ่มมีผลต่อลูกน้อยในครรภ์ได้ก็ต่อเมื่อเค้ามีอายุครรภ์ได้ 6 เดือน และไม่เพียงแค่นั้นนะคะ อารมณ์ของคุณแม่หลังจากนี้จะกลายเป็นรากฐานสำคัญด้านอารมณ์และทัศนคติการใช้ชีวิตของลูกน้อยไปทั้งชีวิตเลยทีเดียว
สาเหตุที่แม่ท้องร้องไห้
อย่างที่ทราบกันดีว่า คุณแม่ท้องอารมณ์จะอ่อนไหวง่าย หงุดหงิดง่าย เรียกได้ว่าอารมณ์ขึ้นลงเร็ว แต่ที่สำคัญคือ จะมีผลกับลูกน้อยในครรภ์หรือไม่ จากการศึกษาระบุว่าต้องดูที่สาเหตุว่าแม่ร้องไห้เพราะอะไรและอารมณ์นั้นๆ จะส่งผลกับลูกน้อยในครรภ์อย่างไร ไปดูกันค่ะ
เกิดความเครียดขณะท้อง
ขึ้นชื่อว่า “ความเครียด” ไม่ว่าจะมาจากอะไรก็ตาม และถ้าคุณแม่ท้องปล่อยให้มันกัดกินใจเราไปนานๆ วนเวียนอยู่ในหัวเราไปนานๆ คิดไม่ตกซักที แบบนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะส่งผลถึงลูกทำให้ลูกเครียดตามไปด้วย เพราะเมื่อเวลาที่คุณแม่ท้องเกิดความกังวลมากๆ ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนความเครียดขึ้นมาอัตโนมัติ บางคนอาจบอกว่าอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ ไม่สามารถส่งผ่านรกได้ แต่เชื่อหรือไม่คะ….ว่าฮอร์โมนตัวนี้สามารถส่งไปยังลูกน้อยในครรภ์ได้ และหากคุณแม่ท้องแล้วเกิดความเครียดบ่อยๆ ร่างกายก็จะผลิตฮอร์โมนตัวนี้ออกมามากเช่นกัน ซึ่งท้ายสุดแล้วลูกน้อยในครรภ์ก็จะกลายเป็นเด็กที่มีความเครียดสะสมเรื้อรังตามไปด้วย
หดหู่ขณะท้อง
เรื่องของการตั้งครรภ์กับเรื่องของอารมณ์หดหู่ คุณพ่อคุณแม่คงเคยได้ยินกันมาบ้างใช่มั้ยคะว่า “อาการซึมเศร้ามักเกิดหลังคลอด” แต่…จากการศึกษาวิจัยครั้งนี้พบประเด็นที่น่าสนใจอีกหนึ่งประเด็น นั่นคือ “อาการซึมเศร้าก่อนคลอด” สิ่งนี้ได้สร้างความประหลาดใจแก่นักจิตวิทยาเป็นอย่างมาก โดย 10% ของคุณแม่ใกล้คลอดมีอาการดังกล่าวนี้
ทารกที่เกิดจากคุณแม่มีอารมณ์หดหู่ก่อนคลอดพบว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้าสูงถึง 1.5 เท่า และไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้โดยจะเห็นได้ชัดเจนเมื่อเค้าโตเป็นวัยรุ่นอายุประมาณ 18 ปี
แต่สำหรับคุณแม่บางคนที่ไม่ได้มีอาการหดหู่ก่อนคลอดแต่กลับมีอาการหดหู่หลังคลอดแทน เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องปกติค่ะ แต่ก็ควรสังเกตตัวเองด้วยนะคะว่ามีอาการมากหรือน้อยแค่ไหน เพราะหากมีอาการมากแนะนำว่าควรไปปรึกษาคุณหมอเพื่อได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง
ท้องแบบไม่ตั้งใจ ไม่สนใจลูก
จะว่าไปคุณแม่ที่ท้องในลักษณะนี้ ลูกเป็นสิ่งที่ไม่ได้ตั้งใจให้เกิด หนำซ้ำยังไม่เป็นที่ต้องการอีก แน่นอนค่ะ คุณแม่คงไม่ได้ใส่ใจที่จะมอบความรัก ความอบอุ่นให้เหมือนทารกทั่วไป ซึ่งทารกในท้องรับรู้ได้ค่ะ เมื่อเด็กเกิดและเติบโต เค้าจะเป็นเด็กที่มีอารมณ์รุนแรง ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้
คิดหนักบ้างเป็นบางวันขณะท้อง
ตลอดระยะเวลา 9 เดือนที่คุณแม่อุ้มท้อง หากมีเรื่องให้ใช้ความคิดมากเป็นบางวัน แบบนี้ถือว่าปกติค่ะ ไม่ส่งถึงลูกแน่นอน
ความเครียด…กับคุณแม่ท้องเป็นอะไรที่ไม่ควรเกิดบ่อย เกิดได้บ้างนะคะ ไม่ใช่ไม่ควรเกิดเลย เพราะการที่คุณแม่ท้องและต้องอุ้มท้องเป็นระยะเวลากว่า 9 เดือน คุณแม่ต้องเผชิญกับเรื่องต่างๆ มากมาย ทั้งต้องบำรุงร่างกายตัวเอง ร่างกายลูกน้อย แถมต้องรับกับการปวดตามตัว ปวดหลัง อาการบวมต่างๆ ร้อยแปดพันเก้าเรื่องราว จะไม่ความเครียดเลยคงเป็นไปได้ยาก
แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือ การใช้ “สติ” รู้ให้ทันว่าเราเครียดเรื่องอะไร หาสาเหตุ และเข้าไปแก้ไข หากแก้ได้ก็ดีไป แต่หากแก้ไม่ได้ ก็ต้องปล่อยวางก่อน ไม่ควรปล่อยให้ร่างกายเครียดนานๆ นะคะ เพราะทารกในครรภ์จะเครียดตามไปด้วยค่ะ
อ้างอิง momjunction.com