ก่อนการตั้งครรภ์ หลายครอบครัวที่มีการตรวจสุขภาพก่อนการตั้งครรภ์ก็จริง ทุกอย่างโอเคหมด ร่างกายมีพร้อมดี แต่ระหว่างการตั้งครรภ์ บางคนพบว่ามีอาการแทรกซ้อนเข้ามาจนทำให้ต้องยุติการตั้งครรภ์ บางรายอาจครรภ์เป็นพิษ ซึ่งอาจทำให้แท้งหรือต้องคลอดก่อนกำหนดได้
แต่…อีกหนึ่งข้อสงสัยว่า “หากคุณแม่เป็นโรคลิ้นหัวใจ ต้องยุติการตั้งครรภ์เลยหรือไม่?” เรื่องนี้มีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณาร่วมกันจะมีอะไรบ้างไปดูกันค่ะ
สารบัญ
ทำความรู้จักกับโรคลิ้นหัวใจ
เป็นอีกหนึ่งภัยใกล้ตัวที่ระยะแรกยังไม่แสดงอาการ แม้แต่ช่วงวัยรุ่นก็อาจจะมีอาการแปลกๆ มาบ้างแต่ก็ยังไม่ชัดเจน จนอายุประมาณ 40-50 ปี อาการจะชัดเจนขึ้น ผู้ที่เป็นจะมีอาการเหนื่อยง่าย หอบ ไม่มีแรง อ่อนเพลีย เป็นลมบ่อย เรียกได้ว่าเป็นบ่อยจนกระทบการใช้ชีวิตประจำวันกันเลยทีเดียว บางรายรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้เพราะหัวใจล้มเหลว
สาเหตุของโรคนี้มักเกิดจากความผิดปกติของเนื้อเยื่อลิ้นหัวใจตั้งแต่กำเนิด จะทำให้ลิ้นหัวใจเสื่อมไวกว่าคนปกติ
ส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์อย่างไร?
การตั้งครรภ์มีผลทำให้ร่างกายของเราเปลี่ยนแปลงหลายอย่างมากถึงมากที่สุดค่ะ 555 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นทั้งน้ำหนักที่มาจากการกินของคุณแม่และน้ำหนักของลูกน้อย รวมไปถึงฮอร์โมนที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่ออารมณ์ที่แปรปรวนซึ่งในส่วนของหัวใจในกรณีที่คุณแม่เป็นลิ้นหัวใจอยู่แล้ว การทำงานของหัวใจก็หนักอยู่แล้ว แต่เมื่อตั้งครรภ์หัวใจก็จะยิ่งทำงานหนักขึ้นไปอีก เต้นแรงและเร็วขึ้น จึงส่งผลให้คุณแม่มีอาการทรุดลงได้ง่ายกว่าปกติ
กรณีที่คุณแม่เป็นโรคลิ้นหัวใจอยู่แล้ว ผลกระทบมีดังนี้
- ทารกในครรภ์มีโอกาสได้รับโรคนี้ผ่านทางกรรมพันธุ์
- ทารกในครรภ์จะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ เพราะเลือดที่สูบฉีดจากหัวใจของคุณแม่ไปเลี้ยงไม่พอ
** คุณแม่จะรู้ได้ก็เมื่อมีอายุครรภ์ได้ 5 เดือนแล้ว ซึ่งคุณหมอจะทำการเจาะน้ำคร่ำและอัลตร้าซาวด์ เพื่อตรวจสอบสุขภาพของทารกในครรภ์
เป็นโรคลิ้นหัวใจ อยากมีลูกจะเป็นไปได้หรือไม่?
สำหรับผู้ที่เป็นโรคลิ้นหัวใจอยู่แล้ว แต่อยากมีลูก คุณหมอจะแนะนำให้ผ่าตัดให้เรียบร้อยก่อนการตั้งครรภ์ ซึ่งการเปลี่ยนลิ้นหัวใจนี้หลักๆ มี 2 ชนิด คือ
ลิ้นหัวใจที่ทำจากโลหะ
ซึ่งแบบนี้ต้องทานยาละลายลิ่มเลือดไปตลอดชีวิต ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อลูกในครรภ์และอาจทำให้ลูกพิการได้
ลิ้นหัวใจที่ทำจากเนื้อเยื่อ
ผู้ป่วยต้องทานยาละลายลิ่มเลือดเป็นเวลา 3 เดือน แล้วไม่จำเป็นต้องทานอีกต่อไป แต่เนื้อเยื่อนี้จะมีอายุการใช้งานที่ 10 ปี ซึ่งหากลิ้นหัวใจเสื่อมหรือตีบ ต้องมาผ่าตัดแก้ไขใหม่
เพิ่งรู้ว่าตัวเองเป็นโรคลิ้นหัวใจ ขณะตั้งครรภ์
หากตั้งครรภ์แล้ว เพิ่งพบว่าคุณแม่เป็นโรคลิ้นหัวใจ คุณหมอจะพิจารณาจากระดับความรุนแรง
- หากไม่รุนแรง สามารถดูแลครรภ์ใกล้ชิดร่วมกับคุณหมอได้
- หากรุนแรงมาก คุณหมอจะพิจารณาจากอายุครรภ์ ซึ่งถ้าอายุครรภ์ไม่เกิน 2-3 เดือน คุณหมอจะยุติการตั้งครรภ์ด้วยการขุดมดลูก แต่หากอายุครรภ์เกิน 5 เดือนแล้ว คุณหมอจะดูแลและประคับประคองไปจนกว่าอายุครรภ์ได้ 36 สัปดาห์ แล้วทำการผ่าคลอด
ระดับความรุนแรงที่พบในคุณแม่ สามารถดูได้จากอาการที่ปรากฏเป็นหลัก หรือเรียกว่า Functional Class แบ่งได้เป็น 4 แบบ ดังนี้
- Class 1 ยังสามารถทำกิจกรรมได้ตามปกติโดยไม่มีอาการอ่อนเพลีย หอบเหนื่อย ใจสั่น หรือแน่นหน้าอก
- Class 2 แม้จะทำกิจกรรมปกติ แม้เพียงเล็กน้อย ก็เริ่มเหนื่อย ใจสั่น หรือแน่นหน้าอก
- Class 3 แม้จะทำกิจกรรมปกติ แม้เพียงเล็กน้อย จะเริ่มเหนื่อย ใจสั่น หรือแน่นหน้าอก อาทิ ขึ้นบันไดเพียง 2 ขั้นก็มีอาการที่เห็นได้ชัดแล้ว
- Class 4 แม้นั่งเฉยๆ ก็เหนื่อย หอบ ใจสั่น หรือแน่นหน้าอก
หากคุณแม่ยังอยู่ใน Class 1 และ Class 2 ยังสามารถตั้งครรภ์ได้ตามปกติ เพียงแต่ต้องอยู่ในความดูแลของคุณหมออย่างใกล้ชิด เนื่องจากขณะตั้งครรภ์หัวใจของคุณแม่จะสูบฉีดเลือดเพิ่มมากขึ้นกว่าคนปกติ 40% เพราะมีลูกน้อยอยู่ในครรภ์ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่อายุครรภ์ได้ 8 สัปดาห์และสูงสุดจะอยู่ในช่วงกึ่งกลางของการตั้งครรภ์
แต่หากคุณแม่อยู่ใน Class 3 และ Class 4 ต้องพบคุณหมอทันที เพื่อได้รับการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งหากคุณแม่มีการผ่าตัดลิ้นหัวใจประเภทเนื้อเยื่อมาก่อน ก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติได้ แต่หากเป็นประเภทโลหะ อาจต้องหยุดทานยาละลายลิ่มเลือดแล้วเปลี่ยนมาเป็นยาฉีดแทนตามคุณหมอสั่ง
สำหรับผู้หญิงที่ยังไม่มีลูก ควรตรวจความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์ เพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายเราสมบูรณ์พร้อมที่จะมีลูก หรืออย่างน้อยหากพบความผิดปกติอะไร เรายังสามารถแก้ไขได้ก่อนโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แล้วค่อยมีลูกก็ยังไม่สายค่ะ
อ้างอิง นายแพทย์วิฑูรย์ ปิติเกื้อกูล rakjakjai.com