จริงอยู่คนท้องจะเดินทางไปไหนมาไหนก็ลำบาก แต่คนท้องก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เบื่อ ไม่เหงาจริงไหมคะ ก็ยังอยากเดินทางไปโน่นไปนี่อยู่ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปเที่ยงต่างจังหวัดหรือแม้แต่การเดินทางไปไกลไปถึงต่างประเทศ ทั้งนี้ แม่ท้องต้องเตรียมตัว เตรียมสัมภาระ เตรียมเอกสารให้ดี และมีเรื่องอะไรอีกบ้างที่แม่ท้องควรรู้ ไปติดตามกันค่ะ
สารบัญ
คนท้องเริ่มเดินทางได้เมื่อไหร่?
สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์ยังอยู่ในช่วง…
ไตรมาสแรก(3 เดือนแรก)
แนะนำว่ายังไม่ควรเดินทาง เพราะยังมีอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ และอาจมีอาการอ่อนเพลียอยู่ นอกจากนี้ หากร่างกายคุณแม่ได้รับแรงกระแทกบ่อยๆ อาจทำให้แท้งได้
ไตรมาสที่สอง (4-6 เดือน)
เป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุดในการเดินทาง เพราะร่างกายคุณแม่เริ่มปรับตัวได้แล้ว อาการแพ้ท้องน้อยลงเยอะ ท้องก็ยังไม่ใหญ่มาก แต่ก็อย่าเพิ่งเดินทางหรือท่องเที่ยวในที่ที่ต้องใช้กำลังร่างกายมากนะคะ ขึ้นเขาอย่างนี้พักก่อนค่ะ^^ถึงแม้เค้าจะทำเป็นบันไดก็ตาม หรือไปในสถานที่ที่ต้องใช้เวลาในการเดินทางนานๆ เป็นต้น
คนท้องกับการเดินทางโดยพาหนะต่าง ๆ ให้ปลอดภัย
คนท้องนั่งรถยนต์ให้ปลอดภัย
- ควรหยุดพักรถอย่างน้อยทุกๆ 1-2 ชม. เพื่อให้คุณแม่ได้ลงมายืดแข้งยืดขา ยืดกล้ามเนื้ออย่างน้อย 5-10 นาที บรรเทาอาการปวดเมื่อย
- ควรคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งและให้ถูกวิธีคือ เข็มขัดนิรภัยจะคาดระหว่างหน้าอกและหน้าตัก โดยเลี่ยงไม่ให้สายเข็มขัดรัดผ่านท้อง
- คุณแม่ท้องมักจะอ่อนเพลียง่าย ดังนั้นควรพกหมอนรองคอไปด้วย เพื่อลดการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อคอ และเพื่อไม่ให้หลังต้องรับน้ำหนักนานเกินไป
- หากเริ่มรู้สึกว่าอากาศในรถไม่ถ่ายเท คุณแม่เริ่มมีอาการวิงเวียน หน้ามืด ให้เปิดกระจกลงบ้างเป็นครั้งคราว
- เนื่องจากคุณแม่ตั้งครรภ์มักจะหิวบ่อย ของโน้ตเองไม่มีอาการแพ้ท้องอะไร หิวทุก 2 ชม. เลยค่ะ 555 ดังนั้นหากจำเป็นต้องเดินทางไกล ควรเตรียมอาหารว่างที่มีประโยชน์ติดรถไปซักหน่อย (เอาจริง ๆ ก็ไม่หน่อยนะ 555) เช่น นมสด ถั่ว ขนมปังโฮลวีท เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการเดินทางไกลคนเดียว
คนท้องนั่งเครื่องบินให้ปลอดภัย
- แม่ท้องที่มีอายุครรภ์ประมาณ 35 – 36 สัปดาห์ ต้องทำการแจ้งกับสายการบินก่อน (ซึ่งในแต่ละสายการบินจะมีกฎระเบียบไม่เหมือนกัน คุณแม่ควรสอบถามกับสารการบินนั้น ๆ โดยตรงค่ะ)
- หากคุณแม่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 28 สัปดาห์ขึ้นไป ต้องขอใบรับรองจากสูตินรีแพทย์ก่อนวันเดินทาง
- สำหรับบางสายการบินอาจมีการเรียกตรวจสุขภาพก่อนวันเดินทาง
- ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับประกันสุขภาพว่าครอบคลุมถึงไหน มีค่าใช้จ่ายส่วนต่างหรือไม่หากเกิดกรณีฉุกเฉินขึ้น รวมถึงประกันนั้นครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการส่งตัวกลับมารักษาประเทศต้นทางหรือที่จังหวัดที่อาศัยอยู่หรือไม่
- ยืดเส้น ยืดสายด้วยการลุกเดินช่วงสั้น ๆ บริเวณทางเดินทุก ๆ 30 นาที แต่ควรพิจารณาเรื่องความปลอดภัยก่อนลุกเดิน
- คาดเข็มขัดนิรภัยไว้ต่ำ ๆ บริเวณรอบกระดูกเชิงกราน ตลอดระยะเวลาของการเดินทาง
- หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะ จะดีมากหากเตรียมไปเอง แต่ควรติดต่อสอบถามทางสายการบินก่อนนะคะ
คนท้องซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซค์ได้ไหม
- ถ้าเลี่ยงได้ก็อยากให้เลี่ยงค่ะสำหรับการซ้อนมอเตอร์ไซค์ เพราะหากคุณแม่ทรงตัวไม่ดี อาจพลักตกมอเตอร์ไซค์ ได้รับอันตรายทั้งคุณแม่และลูกน้อยได้ แต่ถ้าหากเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ ควรแจ้งคนขี่ว่าให้ใช้ความเร็วต่ำ และสวมหมวกนิรภัยให้กระชับทุกครั้ง
คนท้องขึ้นรถประจำทางหรือรถเมล์
- ถ้าจำเป็นต้องขึ้นรถประจำทาง คุณแม่ควรตื่นให้เช้าขึ้นอีกนิดหนึ่งค่ะ เพราะว่าถ้าสาย ๆ ผู้คนบนรถจะแน่น อาจทำให้เกิดการกระแทกหรือกระทบกระทั่งกันสูง
- คุณแม่ควรสังเกตเหตุการณ์รอบ ๆ ข้างด้วยนะคะ โดยเฉพาะขณะขึ้นลงรถเมล์ เพราะยังมีจังหวะที่รถกระชาก รถเบรก รถออกแบบกระชากตัว เป็นต้น
- ไม่ควรยืนบริเวณบันไดหรือใกล้กับบันได อาจเสี่ยงต่อการพลัดตกได้
- ถ้าเลือกได้ คุณแม่ควรนั่งส่วนกลางของรถเมล์และใกล้ทางเดิน เพราะจะกระเทือนน้อยที่สุด และสะดวกต่อการลุกยืน
- ถ้าเป็นระยะใกล้คลอด แล้วคุณแม่ต้องยืนนาน ๆ บนรถเมล์อาจทำให้เท้าบวม และเป็นตะคริวได้
- ถ้าคุณแม่ไม่มั่นใจว่าจะสามารถโดยสารรถประจำทางได้ไหม แนะนำว่านั่งรถแท็กซี่ดีกว่าค่ะ
คนท้องเดินทางด้วยรถไฟฟ้า
- สิ่งที่คุณแม่ท้องต้องระวังคือ บันไดและบันไดเลื่อนที่จะขึ้นไปชานชลาค่ะ เพราะค่อนจะสูงและชันอยู่ รวมถึงประตูรถไฟฟ้าที่เปิด-ปิดก็ควรระวังด้วยเช่นกัน
- ในช่วงเวลาเร่งด่วนจะมีคนมาใช้บริการอย่างหนาแน่น คุณแม่ควรระวังอุบัติเหตุต่าง ๆ ด้วยค่ะ เช่น การสะดุดเท้ากัน การกระแทก การเบียดเสียด ฯลฯ ซึ่งอาจไปกระทบกับท้องของคุณแม่ได้
- ศึกษาทางเข้า ทางออกให้ดี เพราะจะได้ไม่ต้องเดินหาทางออกให้เหนื่อยค่ะ โดยเฉพาะคุณแม่ที่ท้องอ่อน ๆ อาจสงสัยว่า “ท้องอ่อน ๆ เดินเยอะได้ไหม ยืนนานได้ไหม จะอันตรายกับเด็กหรือเปล่า” จริง ๆ แล้วถ้าท้องอ่อน ๆ เป็นอะไรที่คุณแม่ควรระวังมากที่สุดค่ะ
คนท้องรับวัคซีน ก่อนเดินทางไปต่างประเทศ
หากคุณแม่จำเป็นต้องเดินทางไปในประเทศที่ต้องรับวัคซีน ให้แจ้งคุณหมอทุกครั้งว่าคุณแม่กำลังตั้งครรภ์ เพื่อที่คุณหมอจะได้พิจารณาเลือกวัคซีนชนิดที่เชื้อตายแล้วมาฉีดให้ ซี่งหากใช้วัคซีนที่เชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียที่อ่อนกำลังลงแต่ยังไม่ตาย อาจส่งผลกระทบต่อลูกในท้องได้
พึงระวัง…อาหารและเครื่องดื่มต่างประเทศ
เพราะคุณแม่ท้อง อะไรๆ ก็ควรที่จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอาหารต่างถิ่น เพราะหากไม่คุ้นเคยแล้ว อาจส่งผลให้เกิดอาการท้องเสีย ท้องร่วง หรืออาหารเป็นพิษได้ ซึ่งยาบางชนิดของประเทศนั้นๆ อาจไม่เหมาะที่จะใช้ในระหว่างการตั้งครรภ์
คนท้องกับการเดินทางไม่ว่าจะเป็นต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ หากเรามีการเตรียมตัวที่ดีก็ไม่มีอะไรน่ากังวลค่ะ เที่ยวไปกังวลไปคงหมดสนุกพอดี เพราะฉะนั้นอะไรที่ยังไม่เกิดก็ไม่ต้องกังวลไปก่อนนะคะ
ข้อมูลอ้างอิง medthat.com