สำหรับคู่แต่งงานที่ต้องการมีลูก แต่ว่าไม่แน่ใจว่าอาการแบบไหนที่เรียกว่าแพ้ท้อง เพราะอาการแพ้ท้องไม่ได้เกิดกับทุกคน ดังนั้น การตั้งครรภ์ในสัปดาห์แรกร่างกายของคุณแม่จะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร และเมื่ออายุครรภ์มากขึ้น จะมีอาการอย่างไร รวมไปถึงลูกน้อยด้วย วันนี้ผู้เขียนมีข้อมูลมาฝากค่ะ แถมด้วยอาหารที่บำรุงครรภ์ในแต่ละช่วง จะมีอะไรบ้างนั้นไปดูกันเลยค่ะ
สารบัญ
อาการแพ้ท้อง
การแพ้ท้อง เกิดจากระดับฮอร์โมนที่มีชื่อว่า “Human Chorionic Gonadotropin – HCG” ในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น จนทำให้คุณแม่รู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ดังนี้
- อารมณ์แปรปรวน วิตกกังวลง่าย เครียดง่าย จิตใจอ่อนไหว
- ประสาทการรับกลิ่นไวมากขึ้น เช่น เหม็นกลิ่นอาหาร และกลิ่นต่างๆ
- เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน บางรายถ้าเป็นมากก็จะอ่อนเพลีย
- อยากทานอาหารแปลกๆ ซ้ำๆ และอาจเบื่ออาหารที่เคยทานแบบเดิมๆ
อายุครรภ์ 1 สัปดาห์
การเปลี่ยนแปลงของแม่ตั้งครรภ์ 1 สัปดาห์
ในสัปดาห์แรกนี้ คุณแม่ที่ไม่ได้มีการวางแผนการตั้งครรภ์มาก่อน อาจจะไม่ค่อยได้เห็นความเปลี่ยนแปลงเท่าไหร่
แต่หากจะมีการวางแผน ควรไปปรึกษาคุณหมอเพื่อเตรียมตัว เช่น งดแอลกอฮอล์ งดบุหรี่ หลีกเลี่ยงยาที่ไม่จำเป็น และที่สำคัญคุณหมอจะให้คุณแม่ทานโฟลิคต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์
พัฒนาการทารกในครรภ์ 1 สัปดาห์
โดยทั่วไปแล้วในช่วงสัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่บางท่านอาจจะยังไม่ค่อยทราบว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์ ยกเว้นเสียแต่ว่าคุณแม่สังเกตตัวเองว่าประจำเดือนขาดไปประมาณ 12 – 16 วัน (จะรู้เร็วถ้าคุณแม่เป็นคนที่ประจำเดือนมาตรงกันทุกเดือน) ถ้าแบบนี้เป็นไปได้ว่าคุณแม่กำลังจะมีข่าวดีค่ะ นอกจากนี้ให้คุณแม่สังเกตอาการอื่นร่วมด้วยนะคะ อาทิ อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ หรือคัดตึงเต้านม เป็นต้น
ถ้าหากสงสัยว่าตั้งครรภ์ คุณแม่สามารถซื้อชุดทดสอบการตั้งครรภ์มาทดสอบได้ค่ะ แนะนำให้ซื้อซัก 3 ยี่ห้อ เพื่อความแม่นยำนะคะ
ของแม่โน้ตก็ใช้ 3 ยี่ห้อเหมือนกันค่ะ ขึ้น 2 ขีด ทั้ง 3 ยี่ห้อเลย วันรุ่งขึ้นไปพบแพทย์เพื่อฝากครรภ์เลยค่ะ
อายุครรภ์ 2 สัปดาห์
การเปลี่ยนแปลงของแม่ตั้งครรภ์ 2 สัปดาห์
- การตกไข่โดยมากมักเกิดขึ้นก่อนมีประจำเดือนครั้งต่อไป 14 วัน ซึ่งถ้าคุณแม่มีรอบเดือนอยู่ที่ 28 วัน วันที่ 14 น่าจะเป็นวันที่ไข่ตก ซึ่งน่าจะมีโอกาสตั้งท้องได้มากที่สุด
- อารมณ์แปรปรวนง่าย ขึ้น ๆ ลง ๆ
คุณแม่บางท่านอาจเริ่มมีอาการหงุดหงิดง่าย วิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน จนคนรอบข้างรู้สึกได้ว่าคุณแม่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว
พ่อเหมี่ยวสงสัยว่าแม่โน้ตตั้งครรภ์ก็เพราะอารมณ์แปรปรวนนี่แหละค่ะ จึงซื้อชุดตรวจการตั้งครรภ์มาตรวจ ถึงได้รู้ว่าแม่โน้ตตั้งครรภ์ อารมณ์แปรปรวนขนาดพ่อเหมี่ยวรู้สึกได้^^
- เริ่มคัดตึงเต้านม
เป็นอาการที่คุณแม่จะเริ่มรู้สึกได้ คือ มีอาการคัดเต้านมเหมือนช่วงเวลาก่อนที่จะมีประจำเดือนเลยค่ะ และหัวนมก็จะค่อนข้างเปราะบาง อ่อนไหว และไวต่อความรู้สึกมากขึ้น - มีเลือดออกเล็กน้อยทางช่องคลอด
คุณแม่อาจพบว่ามีเลือดไหลออกมาเล็กน้อยจากช่องคลอด บางคนเรียกอาการอย่างนี้ว่า “เป็นเลือดล้างหน้าเด็ก” แต่ความจริงแล้วมันเกิดจากไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้วกำลังฝังตัวเข้าไปที่ผนังมดลูก จึงอาจทำให้มีเลือดซึมออกมาได้ แต่เลือดที่ไหลออกมาเล็กน้อยนี้จะมีลักษณะจางกว่าและปริมาณน้อยกว่าประจำเดือน - ปวดเกร็งมดลูก
อาการนี้จะมีลักษณะคล้ายช่วงที่จะมีประจำเดือนค่ะ เพราะเมื่อตั้งครรภ์นั้นในมดลูกจะมีเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงมากขึ้น มดลูกหนักขึ้น จึงทำให้คุณแม่รู้สึกปวดหน่วง ๆ ที่ท้องน้อยมากขึ้นนั่นเอง
พัฒนาการทารกในครรภ์ 2 สัปดาห์
- ไข่ที่สุกจะหลุดออกจากรังไข่และปากแตรจะดูดเข้าสู่ท่อนำไข่ ไข่จะเดินทางไปตามท่อรังไข่ไปยังโพรงมดลูก ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 12 – 24 ชั่วโมง
- ตัวอสุจิที่แข็งแรงที่สุดก็จะว่ายผ่านปากมดลูกเข้าไปในมดลูกและเข้าไปถึงท่อรังไข่โดยใช้เวลาเพียงแค่ 5 นาทีนับจากมีการปล่อยอสุจิออกมา แต่…กว่าที่อสุจิจะเตรียมการเจาะเข้าไปปฏิสนธิจนเสร็จสิ้นก็จะใช้เวลาอีกกว่า 6 ชั่วโมง
- การปฏิสนธิจะเกิดขึ้นได้ในช่วง 72 ชั่วโมงก่อนไขจะตกไปจนถึง 24 ชั่วโมงหลังไข่ตกเท่านั้น เพราะอสุจิจะมีชีวิตรอดอยู่ในภายในท่อรังไข่ได้ประมาณ 72 ชั่วโมง ส่วนไข่จะมีชีวิตรอดอยู่ได้ภายใน 24 ชั่วโมง
อายุครรภ์ 3 สัปดาห์
การเปลี่ยนแปลงของแม่ตั้งครรภ์ 3 สัปดาห์
- ในช่วงนี้คุณแม่บางท่านก็อาจจะยังไม่รู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์นะคะ เพราะในบางครั้งไข่ที่ปฏิสนธิแล้วกำลังเดินทางไปฝังตัวที่เยื่อบุโพรงมดลูก อาจทำให้มีเลือดออกมาทางช่องคลอดเล็กน้อย จะมีแบบนี้อยู่ประมาณ 1 – 2 วัน คุณแม่บางท่านอาจเข้าใจไปว่าเป็นประจำเดือนค่ะ
- เยื่อบุโพรงมดลูกคุณแม่จะหนาขึ้น เนื่องจากมีเลือดไหลเวียนมาเลี้ยงในบริเวณนี้มากขึ้น ผนวกกับฮอร์โมนเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการรองรับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ค่ะ
พัฒนาการทารกในครรภ์ 3 สัปดาห์
- ในสัปดาห์นี้จะเริ่มกำหนดเพศจากโครโมโซม 2 แท่ง จาก 46 แท่ง โครโมโซมทั้งสองนี้มาจากไข่และอสุจิอย่างละ 1 แท่ง โดยไข่เป็นโครโมโซม X และอสุจิมีทั้งโครโมโซม X และ Y หากอสุจิโครโมโซม X ผสมกับไข่ จะได้ลูกสาว แต่ถ้าอสุจิโครโมโซม Y ผสมกับไข่จะได้ลูกชาย
- ไข่และอสุจิที่มีการปฏิสนธิกันเรียบร้อยแล้วก็จะกลายเป็นเซลล์เล็ก ๆ ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งเราจะเรียกว่า Zygote โดยจะเริ่มมีการแบ่งขยายเซลล์เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และจะกลายเป็นตัวอ่อนที่เรียกว่า Embryo หลังจากนั้นก็จะใช้เวลาเดินทางไปยังโพรงมดลูกใน 36 ชั่วโมง และไปฝังอยู่ที่เยื่อบุโพรงมดลูก
อายุครรภ์ 4 สัปดาห์
การเปลี่ยนแปลงของแม่ตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์
- ในช่วงสัปดาห์ที่ 4 นี้ รกจะเริ่มสร้างฮอร์โมนของการตั้งครรภ์หรือ Human Chorionic Gonadotropin (HCG) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่จะทำให้รังไข่หยุดการตกไข่ชั่วคราว ซึ่งรังไข่จะทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนที่ช่วยหล่อเลี้ยงการตั้งครรภ์แทน โดยฮอร์โมนนี้สามารถตรวจพบได้ทั้งในเลือดและปัสสาวะ ดังนั้น ช่วงนี้คุณแม่จึงสามารถใชชุดตรวจสอยการตั้งครรภ์ได้นั่นเอง
- ฮอร์โมน HCG จะไปกระตุ้นให้รังไข่สร้างฮอร์โมนเอสโตรเจนขึ้น ส่งผลให้โพรงมดลูกหนาขึ้น มีเลือดไปเลี้ยงทารกในครรภ์มากขึ้น และเต้านมของคุณแม่ก็จะคัดมากขึ้น จึงเป็นสัญญาณในการเปลี่ยนแปลงช่วงแรก ๆ ของแม่ตั้งครรภ์
พัฒนาการทารกในครรภ์ 4 สัปดาห์
- ช่วงนี้ถุงน้ำคร่ำที่เกิดขึ้นจะทำหน้าที่ไปเลี้ยงดู สร้างเม็ดเลือดแดงเพื่อส่งสารอาหารสำคัญต่าง ๆ รวมถึงออกซิเจนในทารกในครรภ์แต่เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ นะคะ ต่อมาเมื่อรกมีการพัฒนามากขึ้นก็จะทำหน้าที่นี้ต่อไป
- ทารกในครรภ์ไปฝังตัวที่เยื่อบุโพรงมดลูกเรียบร้อย และยังมีการแบ่งของเซลล์ในส่วนต่าง ๆ ต่อไปเรื่อย ๆ จนในช่วงปลายสัปดาห์ที่ 4 นี้ ก็จะกลายเป็นกลุ่มเซลล์จำนวนมากที่รวมกันเป็นแท่งยาว
- ตัวอ่อนในสัปดาห์นี้จะมีขนาดเพียง ¼ นิ้วเท่านั้น ประกอบไปด้วยเนื้อเยื่อ 3 ชนิด ชนิดแรกจะพัฒนาต่อไปเป็นผม เล็บ หูส่วนใน เลนส์ตา ชนิดที่สองจะพัฒนาต่อไปเป็นระบประสาท จอตา ต่อมใต้สมอง กล้ามเนื้อ กระดูก และเซลล์เลือด เซลล์น้ำเหลือง และชนิดที่สามจะพัฒนาไปเป็นปอด หลอดลม ระบบทางเดินอาหาร ตับ ตับอ่อน กระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น
อาหารบำรุงครรภ์ 1 – 4 สัปดาห์
แน่นอนเลยค่ะการเตรียมตัวเป็นแม่ ต้องกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และควรพิถีพิถันในการเลือกกินอาหาร ดังนี้
- เน้นกินโฟเลต ซึ่งอาหารที่อุดมไปด้วยโฟเลตคือ จำพวกเนื้อสัตว์ ผักใบเขียว โฟเลตจะช่วยให้เซลล์เม็ดเลือดแดงและเซลล์ของตัวอ่อนมีความแข็งแรงมากขึ้น ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในเรื่องความปกติของพัฒนาการทางสมอง และระบบประสาทต่าง ๆ ของทารกในครรภ์
- เน้นกินธาตุเหล็ก เพราะในธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ซึ่งเม็ดเลือดแดงนี้เองจะเป็นตัวที่นำออกซิเจนจากปอดเข้าสู่เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย ป้องกันภาวะโลหิตจาง อาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กได้แก่ ธัญพืช ถั่วตระกูลต่าง ๆ ไข่แดง ตับ ผักใบเขียว และเนื้อสัตว์
ในช่วงการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 1 – 4 นี้ หากคุณแม่รู้แล้วว่าตัวเองกำลังจะมีลูกน้อย สิ่งสำคัญที่สุดคือ การต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตประจำวัน เริ่มตั้งแต่รองเท้า อาหารการกิน และการพักผ่อน เพื่อให้ลูกน้อยได้เจริญเติบอย่างแข็งแรงและสมบูรณ์นะคะ
การเปลี่ยนแปลงแม่ตั้งครรภ์ แต่ละสัปดาห์
[random_posts2 limit=10]