มาสัปดาห์ที่ 19 – 23 แล้ว คุณแม่จะได้สัมผัสถึงอาการลูกดิ้นแล้ว ว่าแต่ เริ่มสัปดาห์ไหนนะ ไปดูกันค่ะ
สารบัญ
อายุครรภ์ 19 สัปดาห์
การเปลี่ยนแปลงของแม่ตั้งครรภ์ 19 สัปดาห์
- คุณแม่จะเริ่มรู้สึกถึง “อาการลูกเริ่มดิ้น”
- น้ำหนักคุณแม่เริ่มมากขึ้นในบางส่วนของร่างกาย เช่น สะโพก ซึ่งมดลูกก็จะเริ่มขยายมากขึ้นจนทำให้เส้นเอ็นที่ยึดมดลูกด้านข้างถูกยึดจนตึง ดังนั้น หากคุณแม่เคลื่อนไหวตัวเร็วเกินไป เช่น ลุก นั่ง หรือเอี้ยวตัว คุณแม่อาจรู้สึกเจ็บบริเวณด้านข้างได้
- การเดิน การนอนหลับ คุณแม่ลองหาหมอนหนุนหลัง หรือท้องดูนะคะ จะได้นอนได้สบายมากขึ้นค่ะ
พัฒนาการทารกในครรภ์ 19 สัปดาห์
- สัปดาห์นี้ลูกจะมีความยาวอยู่ที่ 13-15 ซม. หนักประมาณ 200 กรัม
- เส้นประสาทที่เชื่อมต่อกับกล้ามเนื้อต่าง ๆ กำลังเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์
- สมองส่วนหน้ายังเติบโตไม่เต็มที่ ผิวหนังของลูกเริ่มหนาขึ้นเป็น 4 ชั้น ต่อมไขมันพิเศษเริ่มมีการหลั่งไขมันออกมาเป็นลักษัณะขี้ผึ้ง เรียกว่า ไขมันเคลือบผิว เป็นชั้นป้องกันน้ำสำหรับทารกที่ต้องอยู่ในน้ำคร่ำเป็นเวลานาน แขนขาได้สัดส่วน เริ่มเห็นอวัยวะเพศได้ชัดเจนขึ้น
- ทารกสามารถดูดนิ้ว ขยับศีรษะ และเคลื่อนไหวไปมาได้ จนบางครั้งคุณแม่ก็อาจรู้ได้เช่นกัน
- ตาทั้งสองข้างที่ช่วงแรกค่อนไปทางด้านหลัง สัปดาห์นี้ก็จะขยับมาอยู่ที่ด้านหน้า บริเวณใบหน้า
- เริ่มมีขนอ่อน เส้นผม และหนังศีรษะ แต่จะมีเพียงเล็กน้อย
อาหารบำรุงครรภ์ 19 สัปดาห์
ช่วงนี้คุณแม่ควรเน้นอาหารประเภทที่มีสังกะสีมากขึ้นนะคะ เพราะสังกะสีนอกจากจะช่วยเสริมการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์แล้ว ยังมีส่วนช่วยในการป้องกันการคลอดก่อนกำหนดอีกด้วยค่ะ อาหารที่อุดมไปด้วยสังกะสี อาทิ ถั่ว หอยนางรม เมล็ดฟักทอง
หอยนางรมแม้จะมีสังกะสีมาก แต่ก็มีคอเลสเตอรอลมากเช่นกัน ดังนั้น ควรกินแต่พอดีนะคะ
อายุครรภ์ 20 สัปดาห์
การเปลี่ยนแปลงของแม่ตั้งครรภ์ 20 สัปดาห์
- ช่วงนี้จะเริ่มดูออกมากขึ้นแล้วค่ะว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ เอวคุณแม่จะดูหนาขึ้น หน้าท้องเริ่มตึง มดลูกกำลังดันหน้าท้องออกมา คุณที่ชอบใส่ส้นสูง ถึงเวลาพักชั่วคราวก่อนนะคะ และหาเสื้อผ้าที่สวมใส่สบายไม่รัดจนเกินไปมาใส่แทนค่ะ
- รกจะมีขนาดใหญ่ขึ้น และเลื่อนขึ้นไปด้านบนเรื่อย ๆ ซึ่งมดลูกก็จะมีขนาดที่โตขึ้นไปด้วย
พัฒนาการทารกในครรภ์ 20 สัปดาห์
- ความยาวของลูกจะเพิ่มขึ้นเป็น 14-16 ซม. หนักประมาณ 260 กรัม
- นับว่ามาได้ครึ่งแล้วค่ะ ช่วงนี้จะเป็นการพัฒนาในเรื่องของระบบประสาทการรับรู้ ในขณะที่ไขหุ้มทารกกำลังผลิตมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนเล็บมือ เล็บเท้า และผมยังคงงอกต่อไป
- เซลล์ประสาทในสมองของทารกก็พัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเซลล์ประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ รวมไปถึงระบบประสาทสัมผัสในด้านต่าง ๆ เช่น การได้ยิน การมองเห็น และการรับรส เป็นต้น
- ผิวหนังทารกเริ่มหนาขึ้น แบ่งเป็นสองชั้น มีการสร้างชั้นไขมันขาว (Vernix) มาปกคลุมที่ผิวด้านนอก ช่วยลดการเสียดสีในขณะที่ทารกเคลื่อนไหวในครรภ์คุณแม่ค่ะ
อาหารบำรุงครรภ์ 20 สัปดาห์
ช่วงนี้ท้องคุณแม่เริ่มโตขึ้น จนส่งผลให้เบียดลำไส้ และเกิดอาการท้องผูก ถ้าปล่อยไว้อาจทำให้คุณแม่เป็นริดสีดวงทวารได้ ดังนั้น คุณแม่ควรเน้นกินผัก และผลไม้ที่มีใยอาหารสูง อย่างเช่น สับปะรด หรือส้ม เป็นต้น
อายุครรภ์ 21 สัปดาห์
การเปลี่ยนแปลงของแม่ตั้งครรภ์ 21 สัปดาห์
- ในอีก 10 สัปดาห์หลังจากนี้ น้ำหนักของคุณแม่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะลูกจะมีการสะสมไขมันมากขึ้น และอาจส่งผลให้คุณแม่อยากทานโน่น อยากทานนี่ หรือหิวบ่อยขึ้น เพื่อเป็นการตอบสนองต่อเมตาบอลิซึมขั้นพื้นฐานค่ะ
- แม้ลูกน้อยจะเจริญเติบมากขึ้น แต่คุณแม่จะรู้สึกสบายตัวมากขึ้น นั่นเป็นเพราะว่าคุณแม่เริ่มปรับตัวได้แล้วนั่นเองค่ะ
- ต่อมไขมันใต้ผิวหนังเริ่มมีการผลิตไขมันมากขึ้น คุณแม่บางคนอาจมีสิว ควรหมั่นล้างหน้าให้สะอาดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ที่สำคัญ คือ ไม่ควรกินยาลดสิว เพราะจะส่งผลกระทบต่อลูกน้อยได้ค่ะ
- ด้วยฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้เส้นเลือดมีการขยายตัว โป่งพอง และมีอาการเส้นเลือดขอดมากขึ้น คุณแม่จะรู้สึกปวดขามากขึ้น ดังนั้น พยายามเลี่ยงการยืน เดินนาน ๆ ช่วงนี้ยังสามารถออกกำลังกายเบา ๆ เพื่อเป็นการคลายเส้นได้ค่ะ เพื่อช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดได้ดีขึ้น
พัฒนาการทารกในครรภ์ 21 สัปดาห์
- ความยาวลูกในสัปดาห์นี้เพิ่มเป็น 18 ซม. หนักประมาณ 300 กรัม
- ระบบย่อยอาหารเริ่มทำงานมากขึ้น และพัฒนามากพอที่จะดูดซึมน้ำและน้ำตาลจากน้ำคร่ำที่กลืนเข้าไป กรองบางส่วนผ่านไตและไล่ของแข็งปริมาณเล็กน้อยออกมา
- ทารกเริ่มมีการสร้างปุ่มรับรสที่ลิ้น ความรู้สึกในการรับรสดีขึ้น ซึ่งมาจากพัฒนาการทางสมองและปลายประสาทนั่นเอง
- ช่วงนี้ทารกจะมีการเคลื่อนไหวในท้องโดยหมุนไปเรื่อย ๆ ได้มากขึ้น จนคุณแม่รู้สึกได้ชัดเจน
- ตับและม้ามของทารกเริ่มทำหน้าที่ผลิตเม็ดเลือดแดงหลัก
- ไขกระดูกจะเริ่มทำหน้าที่ผลิตเม็ดเลือดแดงอีกด้วยในไตรมาสที่ 3
อาหารบำรุงครรภ์ 21 สัปดาห์
เนื่องจากระบบย่อยอาหารของทารกเริ่มทำงานได้ดีมากขึ้น สามารถดูดซึมน้ำ และน้ำตาลได้จากการกลืนน้ำคร่ำเข้าไป และมีการขับของเสียออกมา ลำไส้ใหญ่จึงมีความต้องการพลังงานมากขึ้น อาหารที่ช่วยส่งเสริมระบบการทำงานส่วนนี้ได้แก่ เนื้อหมู เนื้อไก่ ปลา เห็ด ถั่วชนิดต่าง ๆ งา รวมถึงธัญพืช
อายุครรภ์ 22 สัปดาห์
การเปลี่ยนแปลงของแม่ตั้งครรภ์ 22 สัปดาห์
- คุณแม่จะมีปริมาณเลือดเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิด “ภาวะเลือดจางทางสรีรวิทยาแห่งการตั้งครรภ์” ภาวะนี้จะพบค่อนข้างบ่อย ซึ่งคุณหมอจะดูว่าคุณแม่ได้รับธาตุเหล็กเพียงพอหรือไม่
- อัตราการเผาผลาญพลังงานในร่างกายของคุณแม่จะเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติถึง 20% จึงทำให้คุณแม่รู้สึกว่าตัวเองขี้ร้อนมากทั้งกลางวันและกลางคืน ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงที่จะอยู่ในที่กลางแจ้ง หรือในที่ ๆ มีผู้คนแออัด และควรดื่มน้ำเปล่าสะอาดในปริมาณที่มากซักหน่อย
พัฒนาการทารกในครรภ์ 22 สัปดาห์
- ลูกจะเริ่มยาวขึ้นเป็น 19 ซม. หนักประมาณ 350 กรัม
- สมองยังคงพัฒนาเติบโตไปอย่างรวดเร็ว อวัยวะภายในเริ่มเคลื่อนไหวนิ่มนวลมากขึ้น แม้ว่าผิวยังคงมีสีแดงอยู่ มีรอยย่นและขนอ่อนปกคลุม
- มีฟันซี่เล็ก ๆ เป็นตุ่มขาว ๆ ขึ้นที่ใต้เหงือก
- ดวงตาเริ่มพัฒนาไปเกือบสมบูรณ์แล้ว เพียงแต่ยังไม่สามารถระบุสีได้
- ขนอ่อนเริ่มพัฒนาขึ้นทั่วร่างกาย เพื่อทำหน้าที่ยึดไขมันไว้กับผิว
- ระบบสืบพันธ์ของทารกยังมีการพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ ถุงอัณฑะของทารกเพศชายเริ่มเคลื่อนลงมา ส่วนทารกเพศหญิงจะเริ่มมีการจัดวางรังไข่และมดลูกให้อยู่ในตำแหน่งที่ปกติ รวมถึงช่องคลอดก็เริ่มมีการพัฒนาตามไปด้วย
ช่วงนี้คุณแม่สามารถเริ่มทำบันทึกการตื่นและการนอนของลูกได้แล้วล่ะค่ะ สามารถปลุกเค้าให้ตื่นได้ด้วยการเคาะท้องหรือเรียกเค้า นอกจากนี้ลูกยังสามารถก้มหน้ามาดูดนิ้วได้อีกด้วยค่ะ ซึ่งกระบวนการนี้ลูกจะเรียนรู้และพัฒนาอีกครั้งหลังเกิด เช่น การนำสิ่งของเข้าปาก เป็นต้น
อาหารบำรุงครรภ์ 22 สัปดาห์
สารอาหารที่จำเป็นและสำคัญของคุณแม่ในช่วงนี้คือ วิตามินบี 12 ซึ่งมีมากในตับของลูกวัว ปลาซาร์ดีน ปลากะพง ปู กุ้งก้ามกราม ปลาแซลมอน หอยกาบ หอยนางรม หอยแมลงภู่ เนื้อวัว นม ชีส และไข่
อายุครรภ์ 23 สัปดาห์
การเปลี่ยนแปลงของแม่ตั้งครรภ์ 23 สัปดาห์
- เนื่องจากท้องที่เริ่มขยายใหญ่มากขึ้น อาจมีผลต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ระบบย่อยอาหาร อาจมีอาการแสบร้อนกลางหน้าอก อาหารย่อยไม่ค่อยดี ดังนั้น คุณแม่ควรทานในปริมาณน้อยในแต่ละมื้อ แต่ทานให้บ่อยขึ้น แต่ยังคงเน้นเป็นธาตุเหล็กเพิ่มขึ้นจากปกติเล็กน้อยนะคะ
- ข้อเท้าและเท้าเริ่มบวมขึ้น เนื่องจากการหมุนเวียนของเลือดมีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้มีการกักเก็บน้ำในบางส่วนของร่างกายที่เพิ่มขึ้น หรือที่เรียกกันว่า “อาการบวมน้ำ” หากคุณแม่เริ่มมีอาการบวมมากจนใส บวมที่แขน ขา และรอบดวงตา อาจเป็นสัญญาณของอาการครรภ์เป็นพิษ ควรรีบปรึกษาแพทย์ด่วน
พัฒนาการทารกในครรภ์ 23 สัปดาห์
- ความยาวทารกสัปดาห์นี้จะอยู่ที่ 20 ซม. หนักประมาณ 455 กรัม
- ใบหน้าและลำตัวดูเหมือนทารกที่ครบกำหนดคลอดมากขึ้น แต่ผิวหนังยังแดงและบาง สามารถมองเห็นกระดูกและอวัยวะภายในบางอย่างได้
- ตับอ่อนยังคงพัฒนาต่อไป ต่อมาจะมีการผลิตอินซูลินซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญในการคงไขมันในเนื้อเยื่อ การได้ยินจะไวขึ้น เนื่องจากกระดูกหูขึ้นแล้ว ได้ยินเสียงต่ำของผู้ชายได้ง่ายกว่าเสียงสูงของผู้หญิง
- ปอดเริ่มผลิตสารลดแรงตึงผิว ซึ่งช่วยให้ถุงลมในปอดพองตัวเมื่อหายใจเข้า และหดตัวเมื่อหายใจออก โดยยังคงรูปเดิมไว้ ไม่ยุบหรือติดกันขณะที่หดตัว
อาหารบำรุงครรภ์ 23 สัปดาห์
เนื่องจากพลาสมาในตัวคุณแม่เพิ่มมากขึ้น อาจทำให้คุณแม่เสี่ยงต่อภาวะโรคโลหิตจางได้ สามารถป้องกันได้ด้วยการกินอาหารที่มีธาตุเหล็ก อาทิ เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ รวมถึงอาหารทะเล
การเปลี่ยนแปลงแม่ตั้งครรภ์ แต่ละสัปดาห์
[random_posts2 limit=10]