เข้าสัปดาห์ที่ 5 แล้ว คุณแม่และลูกจะมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง อย่าช้า ไปดูกันเลยค่ะ
สารบัญ
อายุครรภ์ 5 สัปดาห์
การเปลี่ยนแปลงของแม่ตั้งครรภ์ 5 สัปดาห์
- คุณแม่จะเริ่มเหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก จมูกไวขึ้น ปัสสาวะบ่อย และยังมีอารมณ์แปรปรวยอยู่
- บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ อาเจียน อยากกินแต่อาหารแปลก ๆ
- ช่วงนี้หากประจำเดือนขาด คาดว่าตั้งครรภ์แล้วใช้ชุดทดสอบการตั้งครรภ์หากผลเป็นลบ ค่อยเว้นระยะห่างซัก 2-3 วันแล้วค่อยทดสอบใหม่ หากเป็นบวกก็เป็นไปได้มากว่าตั้งครรภ์ แต่ทั้งนี้ช่วงไตรมาสแรก คุณแม่ต้องคอยระวังเรื่องอาการแทรกซ้อนที่อาจขึ้นได้ ซึ่งอาจส่งผลให้แท้ง ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยและสบายใจ ให้คุณแม่ไปพบหมอเพื่อตรวจอีกครั้งแล้วฝากครรภ์กับสูตินรีแพทย์ คุณหมอก็จะดูแลในทุกเรื่องรวมไปถึงการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ค่ะ
พัฒนาการทารกในครรภ์ 5 สัปดาห์
- ในสัปดาห์นี้ลูกเริ่มมีรูปร่างเกือบเหมือนท่อนเหล็กยกน้ำหนัก มีร่องตามหลังซึ่งจะปิดสนิทและกลายเป็นท่อของระบบประสาท
- เกิดเนื้อเยื่อที่เรียกว่า “ปล้อง” ขึ้นทั้ง 2 ด้านของท่อนี้ ซึ่งภายหลังจะเติบโตเป็นกล้ามเนื้อและโครงสร้างอื่น ๆ อีกทั้งจะเริ่มเกิดรอยโป่งขึ้น เพื่อเป็นที่อยู่ของหัวใจและหลอดเลือดขั้นต้น ในขั้นนี้ถุงไข่แดงจะทำหน้าที่ให้อาหาร ผลิตเซลล์สืบพันธุ์ และเลือด
อายุครรภ์ 6 สัปดาห์
การเปลี่ยนแปลงของแม่ตั้งครรภ์ 6 สัปดาห์
- คุณแม่เองจะเริ่มรู้สึกว่าตัวเองมีอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ แต่ก็ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้
- ยังคงมีอาการแพ้ท้องอยู่ คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ และเหนื่อยง่าย บางรายอาจเป็นลมได้ง่าย เนื่องจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ถ้ามีอาการเช่นนี้บ่อย ๆ ควรไปปรึกษาแพทย์นะคะ โดยเฉพาะหากคุณแม่ตั้งครรภ์มาแล้ว 6 สัปดาห์
พัฒนาการทารกในครรภ์ 6 สัปดาห์
- สัปดาห์นี้ความยาวของลูกอยู่ที่ 2-4 มม.
- ถุงน้ำคร่ำมีปริมาตรประมาณ 2.5 มล.
- หัวใจของลูกยังมีลักษณะยาวเป็นท่อ แต่ก็เริ่มเต้นแล้วประมาณ 180 ครั้งต่อนาที ซึ่งจะเร็วกว่าคุณแม่ 2 เท่า
- เริ่มมีพัฒนาการของไขสันหลัง สมองเติบโตอยู่ภายในศีรษะ แขนและขาเริ่มเป็นปุ่มให้เห็น ลำตัวจะโค้งงอ ตับ ตับอ่อน ต่อมไทรอยด์ ปอด คอ และขากรรไกรเริ่มพัฒนา
อายุครรภ์ 7 สัปดาห์
การเปลี่ยนแปลงของแม่ตั้งครรภ์ 7 สัปดาห์
- ช่วงนี้คุณแม่จะเริ่มหงุดหงิดขึ้น เพราะไม่สบายเต้านม อาจรู้สึกชาในบางครั้ง อาจเหนื่อยง่ายขึ้นทั้งที่ไม่ได้ออกกำลังกายอะไรมาก ทั้งนี้เป็นเพราะฮอร์โมนโพรเจสเตอโรนสูงขึ้นนั่นเอง
- เริ่มปัสสาวะบ่อยขึ้น มีน้ำลายมากขึ้น และมีเมือกออกมาจากช่องคลอดมากขึ้น
- ขนาดของมดลูกขยายตัวเป็นสองเท่า จึงทำให้คุณแม่รู้สึกหน่วง ๆ ที่ท้องน้อย ในบางครั้งอาจมีเจ็บบริเวณปีกมดลูก เนื่องจากมดลูกโตขึ้น ปีกมดลูกจึงถูกดึงรั้งนั่นเองค่ะ
พัฒนาการทารกในครรภ์ 7 สัปดาห์
- ลูกจะเริ่มยาวขึ้นอยู่ที่ 4-5 มม.
- เริ่มมีลักษณะของใบหน้าให้เห็น ตาเริ่มเป็นแผ่น รูจมูกเริ่มเปิดเล็กน้อย ปากเป็นรอยเว้า ปุ่มแขนและขาเริ่มยาวออกมามากขึ้น เห็นข้อศอก ไหล่ เท้า และมือ
- สมองแบ่งออกเป็นส่วน ๆ
- ตับของทารกในครรภ์เริ่มผลิตฮอร์โมนอินซูลินที่ใช้สำหรับการช่วยย่อยอาหาร ส่วนลำไส้ก็เริ่มก่อตัวเป็นโพรง เพื่อทำการส่งถ่ายเลือดและออกซิเจน รวมถึงสารอาหารอื่น ๆ ไปเลี้ยงร่างกายของทารกเอง
อายุครรภ์ 8 สัปดาห์
การเปลี่ยนแปลงของแม่ตั้งครรภ์ 8 สัปดาห์
- บางรายยังคงมีอาการแพ้ท้องหนักอยู่โดยเฉพาะในช่วงเช้า แต่พอเข้าสัปดาห์ที่ 14 คุณแม่ส่วนใหญ่ก็จะมีอาการดีขึ้น แต่ก็ยังเป็นๆ หายๆ อยู่ หากยังมีอาการแพ้อยู่ให้ลองทานแครกเกอร์ธัญพืช ทานมื้อละน้อย ๆ แต่แบ่งเป็นหลายมือแทน และลองดื่มน้ำขิงร้อนๆ ดูค่ะ จะพอบรรเทาอาการลงได้
- คุณแม่จะเหนื่อยมากขึ้น อ่อนเพลียมากขึ้น เนื่องจากระดับฮอร์โมนโพรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้น จึงรู้สึกได้ว่าตัวเองทำอะไรช้าลง อืดอาดมากขึ้น
คุณแม่จะรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนท้องที่อุ้ยอ้ายมากขึ้น เพราะความที่ทั้งเพลีย อยากนอน ถ้าคุณแม่ท่านไหนที่สามารถงีบหลับได้ก็ให้นอนพักนะคะ เพราะการพักผ่อนของแม่ตั้งครรภ์สำคัญมากค่ะ
พัฒนาการทารกในครรภ์ 8 สัปดาห์
- ความสูงของลูกจะอยู่ที่ 1.6 ซ.ม. อวัยวะทุกส่วนเริ่มเห็นชัดมากขึ้น โดยเฉพาะนิ้วมือ
- ระบบทางเดินหายใจเริ่มต่อยาวจากลำคอไปที่ปอดได้แล้ว
- เซลล์ประสาทต่าง ๆ ในสมองของทารกเริ่มมีการพัฒนาได้มากขึ้น
อาหารบำรุงครรภ์ 5 – 8 สัปดาห์
- สารอาหารที่สำคัญสำหรับช่วงนี้คือ โปรตีน ที่มีมากในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื้อปลา เป็ด ไก่ ไข่ นม ถั่ว เต้าหู้ นม โยเกิร์ต ชีส และพืชตระกูลถั่ว
- ไม่ควรอดอาหารเด็ดขาดนะคะ เพราะคุณแม่บางรายมีอาการแพ้ท้องมาก และนาน จึงทำให้ไม่อยากอาหาร แต่ทางที่ดี ควรแบ่งอาหารเป็นหลายมื้อ มื้อละน้อย ๆ พร้อมกับจิบน้ำขิงอุ่น ๆ และดื่มน้ำผลไม้สดแทนค่ะ
- เน้นอาหารที่อุดมไปด้วยโอเมก้า 3 ซึ่งจะช่วยให้ทารกในครรภ์มีพัฒนาการทางสมองที่ดี ฉลาด และระบบประสาทด้านการมองเห็นดี นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคหัวใจ โรคหอบหืด ข้ออักเสบ โอเมก้า 3 จะอยู่ในอาหารจำพวก น้ำมันปลา
- โฟเลตก็ยังคงต้องกินอยู่นะคะ กินอย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์แนะนำค่ะ
ช่วงตั้งครรภ์ในสัปดาห์ที่ 5 – 8 นี้ คุณแม่จะเริ่มรู้สึกอ่อนเพลีย อยากแต่จะนอนมากขึ้น เหตุเพราะฮอร์โมนโพรเจสเตอโรนนั่นเอง อย่างที่บอกค่ะ การพักผ่อนของแม่ตั้งครรภ์เป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็จะส่งผลต่ออารมณ์ของคุณแม่ได้ และสิ่งนี้จะส่งต่อไปยังลูกน้อยด้วยนะคะ
การเปลี่ยนแปลงแม่ตั้งครรภ์ แต่ละสัปดาห์
[random_posts2 limit=10]