ก่อนหน้านี้คุณแม่หลายๆ ท่านคงได้ยินข่าวแทบทุกวันเกี่ยวกับการระบาดของ “ไวรัสโรต้า” ที่แพร่ไปสู่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งแม้แต่ผู้ใหญ่ที่เมื่อรับเชื้อนี้เข้าไปยังต้องไปนอนซมให้น้ำเกลือกันเลยทีเดียว แล้วถ้าหากเกิดกับลูกน้อยล่ะ…? วันนี้เรามาทำความรู้จักกับเจ้า “ไวรัสโรต้า” กันดีกว่าค่ะ เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกน้อย (โดยเฉพาะเด็กที่อายุ 3 เดือน – 3 ขวบ) และคนที่คุณรักได้รับเชื้อนี้เข้าไป
“เชื้อไวรัสโรต้า” หากเทียบกับเชื้อไวรัสตัวอื่นๆ แล้วถือว่าตัวนี้เป็นเชื้อโรคที่พบบ่อยที่สุดในบรรดาเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงในเด็กเล็ก เราจะพบเชื้อนี้มากในฤดูหนาว แต่ฤดูอื่นๆ ก็สามารถพบได้เช่นกัน เพียงแต่น้อยกว่าซึ่งก็ขึ้นอยู่กับ “สุขอนามัยการดูแลรักษาความสะอาด” เพราะเชื้อนี้จะเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายมากค่ะ
เมื่อพูดถึง “ความสะอาด” แน่นอนค่ะ ถ้าขึ้นชื่อว่า “เด็กเล็ก” คุณแม่หรือผู้ปกครองอาจจะดูแลได้ไม่ดีเยี่ยม 100% เพราะบางทีเด็กๆ อาจจะกำลังวิ่งเล่นอยู่แล้วเผลอเอามือเข้าปากโดยไม่รู้ตัว ขณะที่คุณแม่ก็ไม่ทันสังเกตเช่นกัน หากบังเอิญลูกน้อยไปเจอเอาเชื้อนี้เข้าพอดีก็ทำให้อาเจียนและท้องร่วงอย่างรุนแรงได้ไวรัสชนิดนี้จะมีชีวิตอยู่ได้ในอุณหภูมิปกติ
สารบัญ
รับเชื้อได้จากทางใดบ้าง?
- น้ำลาย น้ำมูก หรืออุจจาระของผู้ป่วย
- ไอ จามรดกัน
ไวรัสโรต้าพบในสภาพอากาศแบบไหน
เชื้อไวรัสโรต้ามักจะเจริญเติบโตได้ดีและสามารถทนต่อสภาพแวดล้อมได้นาน โดยเฉพาะในที่แห้งและเย็น เพราะฉะนั้นจึงพบโรคนี้ระบาดมากในหน้าหนาว และพบมากในที่ที่มีคนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ โรงเรียน และตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ
อาการติดเชื้อไวรัสโรต้า
หลังจากที่รับเชื้อไวรัสนี้เข้าสู่ร่างกาย…
- ไวรัสตัวนี้มีระยะฟักตัว 2-4 วัน
- มีไข้สูง
- อาเจียนใน 2-3 วันแรก
- ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำนานประมาณ 3-8 วัน ผู้ป่วยที่มีอาการหนักมาก ในบางรายอาจพบภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาจถึงขั้นช้อคได้ ที่สำคัญอาจมีสารเกลือแร่ในร่างกายที่ผิดปกติรวมอยู่ด้วย ข้อนี้คุณแม่อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจไปนะคะ ว่าเดี๋ยวก็หาย เพราะเด็กเล็กที่มีอายุตั้งแต่ 3 เดือน – 3 ขวบ เป็นช่วงวัยที่รับเชื้อนี้ได้ง่ายมาก
การรักษาไวรัสโรต้า
สำหรับไวรัสตัวนี้ ยังไม่มีตัวยาที่รักษาเฉพาะโรคค่ะ เพียงรักษาตามอาการ เช่น
- ถ้ามีไข้ก็ทานยาลดไข้ แต่หากมีไข้สูงต้องเช็ดตัวควบคู่กันไป เพื่อลดไข้เป็นระยะค่ะ ไม่อย่างนั้นหากปล่อยให้มีไข้สูงมากๆ ผู้ป่วยอาจช้อคได้
- ให้สารน้ำ อาจจะโดยการรับประทานหรือให้ทางเส้นเลือด เพื่อป้องกันและแก้ไขภาวะขาดน้ำ
- หากผู้ป่วยมีอาการคลื่นไสหรืออาเจียน แพทย์จะพิจารณาให้ยาลดอาการคลื่นไส้อาเจียน หรือหากมีภาวะบกพร่องแลคเตสให้พิจารณาเปลี่ยนนมเป็นนมที่ไม่มีแลคโตส นมที่ไม่มีแลคโตส อย่างเช่น นมถั่วเหลือง เป็นต้น
- ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อน รสไม่จัดควรให้รับประทานอาหารและน้ำทีละน้อยๆ แต่บ่อยค่ะ
- นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
การป้องกันไวรัสโรต้า
- การดูแลเรื่องความสะอาด – สุขอนามัย
ข้อนี้นับเป็นประตูด่านแรกที่สำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้ค่ะ- ควรตัดเล็บให้สั้น หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือน้ำยาล้างมือโดยเฉพาะหลังการขับถ่ายและก่อนการรับประทานอาหารทุกครั้ง
- ใช้ช้อนกลางในการตักอาหาร
- หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกันกับผู้ป่วย
- หมั่นล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ
- รับวัคซีนเสริมภูมิคุ้มกันไวรัสโรต้า สามารถรับได้ตั้งแต่ลูกน้อยอายุได้ 6 สัปดาห์ขึ้นไป
- ดื่มนมแม่ เพราะจะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อยได้
สัญญาณที่บอกว่าให้พบแพทย์ทันที
หากลูกน้อยมีอาการดังต่อไปนี้ ควรพาไปพบแพทย์ทันที
- มีอาการซึม
- ไม่มีแรง ไม่เล่น ไม่ร่าเริงเหมือนเคย
- ปัสสาวะน้อย และมีสีเข้ม
- ตัวเย็น
- ร้องไห้ไม่มีน้ำตา เนื่องจากภาวะขาดน้ำ
- มีไข้สูง
- หอบ เหนื่อย
- อาเจียนอย่างรุนแรง
- ท้องร่วงอย่างต่อเนื่อง
เมื่อครั้งที่น้องมินอายุได้ประมาณ 2 ขวบ กว่า น้องรับวัคซีนเสริมภูมิคุ้มกันไวรัสโรต้าไปแล้วนะคะ แต่หลังจากนั้นไม่นานน้องก็มีอาการท้องเสีย เพราะได้รับไวรัสนี้เข้าไป แต่อาการไม่รุนแรงมาก (แต่ก็แอดมิดไป 2 – 3 วัน) คือ ถึงแม้ว่าจะได้รับวัคซีนนี้เข้าไปแล้ว ไม่ใช่ว่าจะไม่เป็นเลยนะคะ มีอาการบ้างแต่น้อยกว่าไม่ได้รับวัคซีนเลย เพราะฉะนั้นคุณแม่อย่าลืมให้น้องรับวัคซีนตามที่แพทย์นัดนะคะ
อาการท้องเสีย ท้องร่วงที่เกิดในเด็กมักจะมีอาการรุนแรงกว่าเสมอ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรรู้จักกับ “วิธีรับมือเบื้องต้นเมื่อลูกท้องเสีย” ไว้ด้วยนะคะ แต่ถ้าหากลูกได้รับเชื้อไวรัสโรต้าจริง ๆ และมีอาการท้องเสียอย่างรุนแรงค่อยพาไปพบแพทย์