โรคภัยในปัจจุบันมีมากมายและคุณพ่อคุณแม่ก็จำเป็นที่จะต้องตื่นตัวรู้ให้ทันกันเสมอเพื่อที่จะไม่ให้โรคภัยเหล่านี้เข้ามาทำร้ายลูกน้อยของพวกคุณกันได้ และวันนี้ก็อยากจะมาแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ได้รู้จักกับเจ้าเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า RSV หรือชื่อเต็มๆ ว่า Respiratory Syncytial Virusนั่นเอง ซึ่งมันคือเชื้อไวรัสที่เป็นตัวการสำคัญในการก่อให้เกิดโรคทางระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะในเด็กเล็ก
แล้วถ้าถามว่าพอติดเชื้อไวรัสนี้เข้าเจ้าตัวเล็กของพวกคุณจะต้องเจอกับภาวะอะไรแล้วล่ะก็บอกได้เลยว่าเขาจะต้องเผชิญกับภาวะปอดอักเสบนั่นเอง ซึ่งเชื้อไวรัสตัวนี้จะติดต่อกันง่ายมากผ่านทางสารคัดหลั่งทั้งหลาย เช่น น้ำมูก น้ำลาย และเสมหะ ส่วนอาการและการป้องกันของการติดเชื้อไวรัสตัวนี้จะมีอะไรกันบ้างมาติดตามกันต่อได้เลย
ถ้าลูกติดเชื้อไวรัสRSV เขาจะมีอาการอย่างไรบ้าง?
- หอบเหนื่อย
- หายใจเร็วและหายใจแรงรวมทั้งหายใจครืดคราดด้วย
- ตัวเขียว
- มีเสียงหวีดในปอด
- มีเสมหะมาก
- ไอแบบโขลกๆ
อาการนี้ถ้าเกิดขึ้นกับเด็กที่ยังเล็กมากและภูมิต้านทานยังต่ำมากรวมทั้งเด็กที่มีอาการของโรคปอด หอบหืด หัวใจ รวมอยู่ด้วยแล้วอาจจะทำให้เขามีอาการทรุดเร็วขึ้นอีกด้วย และอาจจะหยุดหายใจเป็นช่วงๆ ลามไปถึงการหายใจล้มเหลวได้เลยทีเดียว
และส่วนที่น่ากลัวไปกว่านั้นก็คือยังไม่มีตัวยาที่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสตัวนี้ได้โดยตรงจะมีเพียงยาที่ใช้เพื่อรักษาอาการข้างเคียงต่างๆ ตามที่เป็นเท่านั้น เช่น ยาแก้ไอ ยาละลายเสมหะ ยาขยายหลอดลม ยาลดไข้ ให้สารน้ำทางหลอดเลือด ยาพ่นขยายหลอดลม เคาะปอด ดูดเสมหะ ให้ออกซิเจน ส่วนถ้าหนักมากก็อาจจะต้องใส่เครื่องช่วยหายใจกันเลยทีเดียว และมีความเป็นไปได้ที่เด็กอาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่าง เชื้อไข้หวัดใหญ่ เชื้อมัยโคพลาสมา หรือเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ อีกด้วยซึ่งในส่วนของการรักษาแพทย์ก็จำเป็นที่จะต้องรักษาไปตามอาการต่างๆ นั่นเอง
ร้ายแรงแบบนี้มารู้วิธีป้องกัน RSV กันเอาไว้ดีกว่า
การป้องกันเพื่อไม่ให้ลูกน้อยติดไวรัสRSV นั้นเริ่มจากการหมั่นล้างมือของเขาให้สะอาดอยู่เสมอปลูกฝังเรื่องนี้ให้กับเขาไปเลยเพราะช่วยป้องกันได้หลายโรคเลยทีเดียว
แต่ถ้าเกิดลูกติดเชื้อขึ้นมาแล้วนั้นการป้องกันไม่ให้เขานำเชื้อไปติดเด็กคนอื่นๆ ก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน ถ้าลูกน้อยเข้าโรงเรียนแล้วล่ะก็ให้เขาหยุดเรียนจนกว่าจะหายดีน่าจะดีที่สุดเพื่อตัวเขาเองจะได้ไม่ต้องไปเจอกับเชื้อโรคอื่นๆ อีกและเพื่อนๆ ของเขาจะได้ไม่ต้องเสี่ยงการติดเชื้อนี้อีกด้วย
อย่างไรก็ตามเมื่อลูกรักษาจนเชื้อไวรัสนี้ค่อยๆ หายไป ภูมิต้านทานของเขาแข็งแรงขึ้นแต่อาการไออาจจะอยู่กับเขาไปอีกเป็นเดือนก็เป็นได้อย่างไรคุณพ่อคุณแม่ก็ควรเฝ้าระวังและพาเขาไปพบแพทย์เพื่อตรวจสอบอาการต่างๆ อย่างสม่ำเสมออีกด้วย