ช่วงนี้ไทยเรายังอยู่ฤดูฝนเต็มตัว ซึ่งแต่ละฤดูก็จะมีโรคระบาดแตกต่างกันไปบ้างอันเป็นเหตุให้เด็กป่วยกันบ่อย วันนี้ผู้เขียนมีเรื่องของพาหะนำโรคที่คุณพ่อคุณแม่ควรทราบ เพื่อที่จะได้ดูแลให้ลูกน้อยห่างไกลจากพาหะดังกล่าวนะคะ มีอะไรบ้างไปเริ่มกันเลยค่ะ
5 พาหะนำโรคช่วงฤดูฝน
แมลงก้นกระดก
เป็นแมลงตัวจิ๋วที่มีพิษสงร้ายแรง ลักษณะของแมลงก้นกระดกนี้ ลำตัวจะเป็นปล้องๆ สีดำสลับสีแดงหรือสีแดงอมส้ม หากเราไปสัมผัสกับเจ้าแมลงตัวนี้เข้า มันจะปล่อยของเหลวออกมา ทำให้เรารู้สึกปวดแสบปวดร้อน มีผื่นแดง คัน และเป็นตุ่มน้ำ
วิธีป้องกัน
- ห้ามตีหรือขยี้ด้วยเปล่า ให้หาสิ่งของเขี่ยออกไป
- ติดมุ้งลวด
- หากใช้ยาฆ่าแมลง ให้ใช้ภาชนะตักออกใส่ถุงพลาสติกแล้วมัดปากถุงให้สนิท อย่าสัมผัสแมลงด้วยมือเปล่าเด็ดขาด เพราะไม่ว่าแมลงจะตายแล้ว ก็ยังมีพิษเคลือบอยู่ที่ตัวอยู่
รักษาพยาบาลเบื้องต้น
ในกรณีทีมีการสัมผัสกับแมลง ให้เอาบริเวณนั้นแช่หรือจุ่มในน้ำเย็น 5-10 นาที และเป่าให้แห้งสลับกันไป แต่หากพบว่ามีอาการอักเสบให้รีบพบคุณหมอทันที
กิ้งกือ
กิ้งกือเป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่หลายคนคุ้นเคย และดูเหมือนจะไม่มีพิษสงอะไร แต่หากลูกเราโนเข้าไปล่ะก็ สร้างความเจ็บปวดได้ไม่น้อยเลยค่ะ เพราะกิ้งกือบางชนิดจะปล่อยสารพิษจากลำตัวออกมา หากสัมผัสโดนจะทำให้ผิวหนังไหม้ ปวดแสบปวดร้อนได้
วิธีป้องกันไม่ให้กิ้งกือเข้าบ้าน
คุณพ่อคุณแม่ต้องรักษาบริเวณรอบบ้านให้สะอาด ตัดหญ้าหน้าบ้านให้สั้น แดดส่องถึงดิน อุดรอยร้าวตามขอบบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้กิ้งกือเข้าบ้าน
รักษาพยาบาลเบื้องต้น
- ล้างบริเวณที่ถูกพิษด้วยน้ำสะอาดในปริมาณมากๆ และทายาฆ่าเชื้อโรค
- หากพิษเข้าตา อาจทำให้ตาอักเสบ น้ำตาไหลมาก ให้ล้างตาด้วยน้ำอุ่นและหยอดยา เพื่อลดอาการเจ็บปวด
แมลงสาบและแมลงวัน
แมลงสองชนิดนี้เราคงคุ้นเคยกันดี เป็นพาหะที่มาจากอาหาร เช่น
- แมลงวัน เป็นพาหะของโรคบิด ไข้รากสาด อาหารเป็นพิษ อหิวาตกโรค รวมถึงโรคผิวหนัง เช่น คุดทะราด และโรคเรื้อน เป็นต้น
- แมลงสาบ เป็นพาหะนำโรค ทั้งโปรโตซัว แบคทีเรีย และไวรัสมากถึง 40 ชนิด
วิธีป้องกันแมลงวันและแมลงสาบ
- ทำความสะอาดบ้านให้สะอาด ใช้ฝาปิดอาหารให้มิดชิด
- หากใช้สารเคมีกำจัด ควรอ่านคู่มือก่อนใช้และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
ยุงลาย
เป็นสัตว์เล็กอีกหนึ่งชนิดที่เราพบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน แต่พิษสงของมันไม่เบาเลยค่ะ ยุงลาย เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก เราต้องทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ดังนี้ค่ะ
- ไม่ควรให้มีภาชนะที่สามารถเก็บกักน้ำได้ ปิดโอ่งน้ำ หรือถังน้ำให้มิดชิด
- หลีกเลี่ยงการโดนยุงกัด ด้วยการนอนกางมุ้ง หรือทาครีมกันยุง เป็นต้น
หนู
เป็นพาหะนำโรคฉี่หนู นับเป็นโรคร้ายแรงชนิดหนึ่ง แต่โรคฉี่หนูไม่ได้มีหนูเป็นพาหะอย่างเดียวนะคะ ยังมี แมว สุนัข หมู ม้า วัว ควาย แพะ และแกะ เพียงแต่เราพบที่มาจากหนูบ่อยที่สุด โรคฉี่หนู สามารถติดต่อจากสัตว์ไปสู่คนได้ โดยขับถ่ายเชื้อโรคมาทางปัสสาวะ เชื้อโรคมักอาศัยอยู่ในดินที่ชื้นแฉะ และเข้าสู่ผิวหนังทางซอกเท้า ซอกนิ้วมือ และทางบาดแผล หรือหายใจเอาละอองเข้าไป
วิธีป้องกัน
- ไม่เดินย่ำในที่ที่มีน้ำท่วมขัง แต่ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ให้ใส่รองเท้าบูททรงสูงแทน
- พาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนตามกำหนด และไม่สัมผัสกับสัตว์เลี้ยงที่ไม่น่าไว้ใจ
- จัดการกับสิ่งแวดล้อมให้สะอาด ถูกสุขลักษณะ ไม่มีน้ำขัง
- หากสัมผัสกับสิ่งสกปรก ให้รีบอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายโดยเร็ว เพื่อป้องกันโรค
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ พาหะของโรคส่วนใหญ่มาจาสัตว์ที่เราคุ้นเคยกันทั้งสิ้น เมื่อคุณพ่อคุณแม่ได้รู้อย่างนี้แล้ว ควรเพิ่มความระมัดระวัง ดูแลใส่ใจลูกน้อยมากเป็นพิเศษนะคะ เพราะพาหะนำโรคนี้มีอยู่รอบตัวเรา แถมเยอะซะด้วยสิ เพราะเวลาที่ลูกไม่สบายแล้ว หัวอกคนเป็นพ่อเป็นแม่นี่อยากไม่สบายแทนลูกจริงๆ