ทันที่รู้ตัวว่าเรากำลังมีเจ้าตัวน้อยอีกคนอยู่ในท้อง นาทีนั้นเชื่อว่าคนเป็นแม่ทุกคนต้องดีใจ นั่งนับวันรอว่าเมื่อไหร่จะได้เจอหน้ากัน รู้สึกว่าเกิดความรักทันทีตั้งแต่รู้จนก่อเกิดเป็นความผูกพันมาตลอดระยะเวลา 9 เดือน เพราะไปไหนไปกันตลอด แม่กินอะไร ลูกก็ได้กินด้วย แต่…แต่มีแม่อยู่บางรายที่อาจมีความรู้สึกลึก ๆ ว่า
“เอ…ทำไมเราไม่ได้รู้สึกพิเศษอะไรกับลูกเลย” หรือ
“ไม่ได้รู้สึกว่าผูกพันอะไรเลย”
ผิดไหม? และความรู้สึกนี้เกิดจากอะไร?
สารบัญ
รู้สึกไม่รักลูก ไม่ผูกพัน
ความรู้สึกที่เกิดนี้ของคุณแม่ตั้งครรภ์ บอกได้เลยว่าไม่ผิดค่ะและไม่แปลกด้วย เพราะไม่ใช่แค่คุณแม่คนเดียวที่มีความรู้สึกเช่นนี้เกิดขึ้น แต่จากสถิติพบว่ามีคุณแม่ที่รู้สึกเช่นนี้อยู่ร้อยละ 20 บางคนไม่เพียงแค่ไม่ผูกพันกับลูกนะคะ แต่ยังรู้สึกแย่กับลูกอีกด้วยค่ะ แม้ว่าตัวเองพยายามจะรักลูกแล้วก็ตาม กับเวลา 9 เดือนเต็มที่อุ้มท้องมาแต่ก็ไม่สามารถทำใจให้รักได้
คุณแม่ประมาณ 20% (อันนี้จำไม่ได้ว่าที่มามาจากที่ไหน ?) รู้สึกแบบเดียวกันนี้ครับ ว่า #ไม่ได้รู้สึกผูกพันธ์กับลูก บางคนรู้สึกแย่กับลูกซะด้วยซ้ำ แม้จะเป็นคนที่ตั้งท้องมาเองถึง 9 เดือนเต็ม ๆ ก็ตาม …
ข้อมูลอ้างอิง เพจเลี้ยงลูกตามใจหมอ
สาเหตุที่คุณแม่ได้รักหรือผูกพันกับลูกนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุค่ะ อาทิ เพราะความรักอาจต้องการเวลา ความกังวลของคุณแม่กลัวทำหน้าที่แม่ได้ดี การคลอดนั้นแสนจะเจ็บปวด หรือกังวล ห่วงว่าความเป็นแม่คือ ภาระอันหนักอึ้ง ฯลฯ ซึ่งหนึ่งในหลาย ๆ เหตุผลนั้นก็คือ คุณแม่อาจจะกำลังเผชิญกับ ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Blue หรือ Baby Blue) “Baby Blue ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด…เลี้ยงลูกน่าจะสุข แต่ทำไมเราทุกข์อยู่คนเดียว” อยู่ก็เป็นได้ค่ะ
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression)
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเป็นปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตที่คุณแม่บางท่านต้องเผชิญหลังการคลอดบุตร ซี่งอาจจะมีอาการเครียด กังวล ซึมเศร้า หรือเสียใจ ในบางรายหากมีอาการมาก ๆ อาจถึงขั้นทำร้ายร่างกายตัวเองและลูกน้อยได้ ด้วยอาการซึมเศร้าและความกังวลที่เกิดขึ้นนี้สามารถส่งผลให้คุณแม่ไม่มีกะจิตกะใจจะเอ็นดูลูกได้มากเท่าที่ควร จึงทำให้คุณแม่รู้สึกว่าไม่ได้มีใจผูกพันกับลูกก็เป็นได้ค่ะ
อาการภาวะซึมเศร้าหลังคลอด
โดยมากมักเกิดขึ้นในช่วงปีแรกหลังจากการคลอดบุตร ซึ่งอาการที่มักพบมีดังนี้
- รู้สึกเสียใจ หมดหวัง เศร้า
- อารมณ์แปรปรวน ขึ้น ๆ ลง ๆ โกรธง่าย ฉุนเฉียวง่าย หรืออยู่นิ่งได้ไม่นาน
- วิตกกังวงลมากผิดปกติ
- มักจะมีปัญหาในการนอนหลับ อาทิ นอนหลับมากผิดปกติ หรืออาจนอนไม่หลับเลย
- ร้องไห้ง่ายมากกว่าปกติ หรือร้องไห้อย่างไม่มีเหตุผล
- มีปัญหาเรื่องการจดจำรายละเอียด ไม่มีสมาธิ มีปัญหาเรื่องการตัดสินใจ
- หมดความสนใจในเรื่องงานอดิเรกที่รักที่ชอบทำโดยปริยาย
- กินอาหารได้น้อยลง บางรายอาจกินอาหารได้มากขึ้นอย่างผิดปกติ
- มีปัญหาด้านสุขภาพโดยที่ไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน เช่น ปวดศีรษะบ่อย ปวดกล้ามเนื้อตามส่วนต่าง ๆ หรืออาจมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร
- ชอบอยู่ตามลำพัง เก็บตัวอยู่คนเดียว
- มีปัญหาในการสร้างความผูกพันระหว่างแม่กับลูกน้อย
- มีความวิตกกังวลว่าจะเป็นแม่ที่ไม่ดี ไม่มีความสามารถในการเลี้ยงลูก
- มีความคิดที่จะทำร้ายร่างกายตัวเองและลูก
ฮอร์โมนแห่งความรัก (Oxytocin)
จากอาการของภาวะซึมเศร้าข้างต้นที่กล่าวมาทั้งหมดถ้าคุณแม่มีความรู้สึกว่าไม่ได้ผูกพันหรือรักลูกเท่าที่ควรจะทำอย่างไรดี ?
…ให้เวลาค่ะ
ให้เวลากับลูกไปเรื่อย ๆ ดูแลลูก ให้นมลูก อาบน้ำให้ลูก กอดลูก แล้วความรักความผูกพันจะค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นการกระตุ้นฮอร์โมนที่มีชื่อว่า “Oxytocin หรือ ฮอร์โมนแห่งความรัก” ให้หลั่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ และเมื่อถึงจุดหนึ่งคุณแม่จะรู้สึกได้ถึงความผูกพันและความรักค่ะ
ออกซิโตซิน (Oxytocin) เป็นฮอร์โมนที่อยู่ในต่อมใต้สมอง เป็นฮอร์โมนที่จำเป็นสำหรับการคลอดลูกและให้นมลูก นอกจากนี้ฮอร์โมนตัวนี้ยังเป็นตัวที่ทำให้เกิดสายใยรักและความผูกพันระหว่างแม่ลูกอีกด้วยค่ะ
ประโยชน์ของฮอร์โมนแห่งความรัก
- ช่วยลดความกังวล ลดความเครียด
- มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
- มีความโรแมนติกมากขึ้น
สำหรับคุณแม่มือใหม่ที่เพิ่งคลอดลูกน้อย คุณแม่ไม่ผิดหรอกค่ะหากจะยังรู้สึกว่าไม่ได้ผูกพันหรือรักลูก เพียงแต่ให้คุณแม่ทำหน้าที่ของคุณแม่ต่อไป แสดงบทบาทของคุณแม่ต่อไป อุ้มลูก ให้นมลูก กอดลูก แล้ววันหนึ่งคุณแม่จะรู้สึกผูกพันกับลูก รักลูกแบบไม่รู้ตัวเลยทีเดียวค่ะ
ข้อมูลอ้างอิง pobpad.com