โดยปกติแล้วพัฒนาการของเด็กในวัย 2 – 6 ขวบ จะเป็นวัยที่เริ่มมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เริ่มเรียนรู้อะไรได้เยอะมากขึ้น อย่างที่คุณแม่หลาย ๆ คนอาจจะรู้จักกันดีในเรื่องของวัยทอง 2 ขวบ (Terrible Two) (คลิกที่นี่ >> “Terrible Two (วัยทอง 2 ขวบ) คืออะไร? ข้อดีของ Terrible Two” ที่ลูกน้อยเริ่มมีความก้าวร้าว พอเข้า 3 ขวบ ลูกก็เริ่มวีน เหวี่ยง และเจ้าอารมณ์มากขึ้น ซึ่งวันนี้ก่อนที่เราจะไปเรื่องของการแก้ไข หรือการรับมือ แม่โน้ตอยากชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความเข้าใจถึงสาเหตุกันก่อนค่ะ
สารบัญ
ลูก 3 ขวบ เจ้าอารมณ์ เกิดจากอะไร?
เริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง
อย่างที่รู้กันว่าเด็กในวัย 2 – 6 ขวบ เขาจะเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง อยากเรียนรู้ และอยากหาคำตอบได้ด้วยตัวเอง จนในบางครั้งการที่ลูกน้อยต้องการจะทำอะไรด้วยตัวเองต้องทำให้เขาต้องหาทางแสดงออกให้คุณพ่อคุณแม่รับรู้ แต่ด้วยความที่คำศัพท์ในหัวเขายังน้อย ทำให้ลูกไม่รู้ว่าจะสื่อสารอย่างไรให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจ ลูกน้อยจึงเกิดอาการหงุดหงิด (ทั้งที่ตัวเองก็ไม่รู้จะสื่อสารอย่างไร ผนวกกับคุณพ่อคุณแม่ไม่เข้าใจ) ลูกน้อยจึงแสดงอาการก้าวร้าว โมโห วีน เหวี่ยง และเจ้าอารมณ์ออกมา
ต้องการอิสระ
Erik Erickson นักจิตวิทยาเจ้าของทฤษฎีจิตสังคม ได้ระบุเอาไว้ว่า เมื่อเด็กอายุได้ 2 – 3 ขวบ เขาจะเริ่มมีพฤติกรรมที่ต่อสู้เพื่อเรียกร้องอิสรภาพของตนเอง พัฒนาการนี้เริ่มตั้งแต่การที่ลูกน้อยเริ่มเดินได้ เขาจึงอยากที่จะสำรวจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ดังที่คุณแม่จะสังเกตเห็นได้ว่าเขาจะชอบเดิน ๆ ๆ และเดิน เดินไม่หยุด รวมถึงเขาต้องการที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเองอีกด้วย
สังเกตง่าย ๆ เวลาที่คุณแม่พาลูกไปเดินห้าง หรือสวนสาธารณะ เขาจะชอบสะบัดมือออกจากคุณแม่แล้วเดินเอง เขาจะรู้สึกมีความสุขมาก ๆ คุณแม่ก็คอยตามดูอยู่ห่าง ๆ อย่างห่วง ๆ ไป
เกิดจากการเลียนแบบ
การเลียนแบบของเด็กเกิดได้ทั้งจากที่บ้านและที่โรงเรียน หากสาเหตุจากที่บ้านก็มักจะมาจากการที่เด็กถูกดุ ถูกตะคอก หรือถูกลงโทษอย่างรุนแรงมาก่อน ทำให้เด็กฝังใจและจำพฤติกรรมเหล่านี้มา ส่วนที่โรงเรียน เด็ก ๆ อาจเห็นพฤติกรรมนี้จากเพื่อน ๆ ที่เมื่อต้องการอะไรแล้วก็จะกรีร้อง ทำให้ลูกน้อยซึมซับพฤติกรรมนี้จากเพื่อนที่โรงเรียน
เริ่มฝึกการควบคุมตนเอง
ด้วยความที่ลูกเริ่มเดินได้ เขาจะเดินสำรวจสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ส่งผลให้เขาเดินไม่หยุด ทำให้คุณพ่อคุณแม่คิดว่าลูกเรานี่ซนเหลือเกิน เดินได้ทั้งวัน ดื้อ บอกก็หยุด แต่สิ่งเหล่านี้คือเป็นวิธีการเสริมสร้างพัฒนาการของตัวเองตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องอาศัยจัหวะนี้สอนลูกน้อย ว่าสิ่งใดควรทำและไม่ควรทำ ต่อไปลูกน้อยก็จะเริ่มชั่งใจได้ว่าสิ่งไหนคือ สิ่งที่ควรทำมากที่สุด
เกิดจากการเลี้ยงดูของครอบครัว
ถ้าจากในมุมมองของนักจิตวิทยาเด็กจะแนะนำให้คุณ่พ่อคุณแม่เลี้ยงลูกแบบเอาใจใส่ (Authoritative) มากกว่าการควบคุม (Authoritarian) เช่น สนับสนุนให้ลูกได้มีอิสระ มีพัฒนาการการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ตามวัย แต่ก็ต้องมีการกำหนดขอบเขตของพฤติกรรมลูก ๆ ด้วย โดยการอธิบายให้ลูกฟังก่อนว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ พร้อมทั้งควรเปิดโอกาสให้ลูกได้พูด คุณพ่อคุณแม่ก็ควรรับฟังอย่างเปิดใจ ไม่บังคับให้ลูกต้องในความต้องการของคุณพ่อคุณแม่อยู่ตลอดเวลา
ลูก 3 ขวบ เจ้าอารมณ์ แก้ไขอย่างไร?
สอนลูกด้วยเหตุผล
ถ้าอยากให้ลูกเป็นเด็กมีเหตุผล คุณพ่อคุณแม่ควรมีเหตุผลกับลูกก่อน เช่น ถ้าลูกชอบเอาของเล่นมาเคาะโต๊ะจนเกิดเสียงดัง ไม่ควรพูดกับลูกด้วยอารมณ์ “ไม่เคาะ ๆ หนวกหู รำคาญ!” แต่ควรพูดว่า “หนูชอบอยู่ในที่ที่เสียงดังไหมลูก?” เป็นต้น
ลงโทษได้ แบบมีเหตุผล
ถ้าลูกทำผิด คุณพ่อคุณแม่ควรตั้งสติก่อน ไม่ควรตีลูกหรือดุด่ารุนแรง แต่ควรถามลูกว่า “เพราะอะไรหนูถึงทำแบบนี้คะ?” เพื่อฟังแนวความคิดของลูกก่อน กลับกันถ้าหากคุณพ่อคุณแม่ใช้ความรุนแรงกับลูกจะยิ่งทำให้ลูกยิ่งแสดงออกในทางที่ก้าวร้าวมากขึ้น เนื่องจากเขาจะคิดว่าเพราะอะไรคุณพ่อคุณแม่ไม่ฟังเขาบ้าง แต่การลงโทษควรอธิบายให้ลูกเข้าใจก่อนว่าเพราะอะไรถึงต้องลงโทษเขา
ชื่นชม ให้กำลังใจ
การตอบสนองลูกในเชิงบวกเป็นอะไรที่ดีที่สุด ซึ่งถ้าลูกพยายามปรับตัว ทำในสิ่งดี ๆ ไม่ก้าวร้าว เจ้าอารมณ์ คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมชื่นชมและให้กำลังใจลูกตามสมควรนะคะ คือไม่จำเป็นต้องให้เป็นของขวัญอะไรขนาดนั้น เพราะจะทำให้ลูกกลายเป็นติดการให้สินบนได้
ไม่ดุลูก เมื่อลูกแสดงออกทางอารมณ์
จริง ๆ แล้ว เป็นการดีที่ลูกแสดงออกทางอารมณ์ สิ่งที่คุณแม่ควรทำคือ คอยเตือนลูกถ้าหากลูกมีการแสดงอารมณ์ที่รุนแรงมากเกินไป ดีกว่าควบคุมลูกไม่ให้แสดงออกทางอารมณ์เลย เพราะลูกจะกลายเป็นเด็กเก็บกด
การเลี้ยงลูกเป็นอะไรที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ทั้งทางคำพูดและการกระทำ การเลี้ยงลูกไม่ใช่ดุไม่ได้เลย แต่ต้องใช้สติในการดุลูก ป้องกันลูกเก็บกดและต่อต้าน จะดุอย่างไรนะ คลิกที่นี่ >> “ดุลูก 3 ขวบ อย่างไรให้ได้ผล”