“การสื่อสาร” เป็นสิ่งสำคัญในการที่จะทำให้คนอื่นรู้ถึงความต้องการหรือความคิดเห็นของตัวเอง แต่การสื่อสารของทารกแม้จะไม่ใช่การพูดที่เป็นคำ ๆ แต่เค้าก็จะอ้อแอ้ แสดงอาการท่าทางได้ว่าเค้าต้องการให้ตอบสนองอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นอาการหิวนม ฉี่เปียก อึดอัดไม่สบายตัว อยากให้อุ้ม หรือแม้แต่อุ้มแล้วไม่อยากให้แม่วาง ซึ่งทั้งคุณแม่และลูกน้อยต่างก็ต้องใช้เวลาศึกษาและปรับหากันและกัน เพื่อการสื่อสารและการตอบสนองอย่างถูกต้อง
ในแต่ละวัน ลูกจะได้เรียนรู้ทักษะการสื่อสาร และเรียนรู้เรื่อง “การพูด” จากคุณแม่ โดยในแต่ละช่วงอายุลูกจะได้เรียนรู้และมีพัฒนาการอะไรบ้างไปดูกันค่ะ
สารบัญ
- พัฒนาการด้านการพูด
- ความสำคัญของการฝึกลูกพูด
- 18 เทคนิค ฝึกลูกพูด เพื่อทักษะการสื่อสารที่ดีในอนาคต
- ชวนลูกคุยทุกวัน
- มองตาลูกขณะที่คุยกับเค้า
- ทำเสียงให้สูง-ต่ำ หลากหลาย
- คนหนึ่งพูด คนหนึ่งฟัง
- ฝึกลูกพูดด้วยการฮัมเพลง
- อ่านหนังสือนิทานกับลูก
- การฝึกลูกพูดแบบยืดเสียงสระ
- ชี้ชวนลูกคุยกับสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน
- ตอบลูกด้วยข้อมูลที่มากกว่าลูกถาม
- ใช้คำศัพท์ที่ถูกต้อง
- ใช้ไวยากรณ์ให้ถูกต้อง
- นัดให้ลูกได้เจอกับเด็กคนอื่นบ้าง
- ใช้ความสงสัยของลูกในการฝึกพูด
- เรียกชื่อลูกบ่อย ๆ
- แก้ไขคำพูดที่ลูกพูดผิด ให้ถูกต้องอย่างนุ่มนวล
- คุยกับลูกให้เหมือนคุยกับผู้ใหญ่คนหนึ่ง
- เล่นเกมเพื่อคำศัพท์
- อย่าให้ลูกเป็นโรคหูอักเสบบ่อย ๆ
พัฒนาการด้านการพูด
- ช่วงอายุประมาณ 1-2 ขวบ หลังจากที่เฝ้ามองคุณแม่พูดมานาน ตอนนี้จะเริ่มมีการเลียบเสียงภาษาพูด แต่จะยังฟังไม่ได้เป็นคำที่มีความหมาย แต่จะคล้ายๆ ลูกบ่นพึมพำ
- พอมาช่วงอายุ 2 ขวบ ลูกจะมีคำศัพท์ในสมองประมาณ 200 คำ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นศัพท์ที่คุณพ่อคุณแม่หรือคนในบ้านใช้พูดกัน
- ช่วงอายุ 3 ขวบ ลูกจะเริ่มมีคำศัพท์และใช้คำศัพท์ได้มากขึ้นประมาณ 5 เท่า หรือเท่ากับ 1,000 คำ
- …และจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยมากกว่า 2,000 คำ เมื่อจะเข้าเตรียมอนุบาล
ความสำคัญของการฝึกลูกพูด
- เพื่อใช้ในการทักทายกันในชีวิตประจำวัน รวมถึงการเข้าสังคม
- เพื่อใช้ในการถ่ายทอดความรู้สึก
- เพื่อใช้ในการเรียนรู้กิจกรรมต่าง ๆ
- ช่วยให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน
- เพื่อใช้ในการให้กำลังใจคนรอบข้าง และยังทำให้เรารู้สึกเป็นคนที่มีคุณค่าอีกด้วย
18 เทคนิค ฝึกลูกพูด เพื่อทักษะการสื่อสารที่ดีในอนาคต
เด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน บางคนเรียนรู้และพูดได้เร็วเมื่อเข้าอายุ 2-3 ขวบ ในขณะที่บางคนยังไม่ค่อยจะยอมพูด คุณแม่บางคนกลุ้มใจว่า “ลูกพูดช้า เพราะอะไร แบบไหนที่เรียกว่าผิดปกติ” แบบนี้ก็มีค่ะ ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณแม่และคนรอบข้างสามารถช่วยฝึกลูกได้ ดังนี้ค่ะ
ชวนลูกคุยทุกวัน
คุณแม่ที่ชวนลูกคุยทุกวัน คุยอย่างสม่ำเสมอ ลูกจะมีพัฒนาการในด้านการพูดที่เร็วกว่าเด็กทั่วไป ยิ่งหัดเค้าเร็วเท่าไหร่ก็จะยิ่งเป็นผลดีมากเท่านั้น ถึงแม้ลูกจะไม่สามารถเข้าใจได้ในทุกคำ แต่เค้าก็ได้เรียนรู้คำศัพท์ และจดจำแล้วเป็นที่เรียบร้อย
มองตาลูกขณะที่คุยกับเค้า
การมองหน้าลูกขณะที่คุณแม่กำลังพูด จะทำให้ลูกมีพัฒนาการด้านการสื่อสารมากขึ้น เพราะลูกจะได้เรียนรู้เรื่องการออกเสียง หรือการแสดงออกทางสีหน้า คุณแม่ควรฝึกกับเค้าตั้งแต่เค้ายังเป็นทารก เมื่อเขาโตเวลาที่คุณแม่จะบอกหรือสอนอะไรเค้าก็ตาม ควรมองหน้าลูกและให้ลูกมองหน้าคุณแม่ด้วยนะคะ
ในขณะที่ลูกยังอยู่ในวัยทารก ขณะที่คุณแม่พูดกับลูก ควรสังเกตด้วยว่าลูกมองหน้าคุณแม่อยู่หรือเปล่า หากลูกไม่ได้มอง ให้คุณแม่หยุดพูด แล้วค่อยๆ เชยคางลูกกลับมามองหน้าคุณแม่แล้วค่อยชวนเค้าคุยต่อ
ทำเสียงให้สูง-ต่ำ หลากหลาย
ต้องบอกว่าเวลาที่ทารกได้ยินเสียงอะไรที่สูงๆ ต่ำ ๆ เค้าจะเกิดความสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งสิ่งนี้เอง ทำให้เด็กมีสมาธิและจะจดจ่ออยู่กับสิ่งที่คุณแม่ทำ
ผู้เขียนเคยเริ่มจากการอ่านนิทานให้ลูกฟัง โดยพากย์เป็นเสียงที่แตกต่างกันไปในตัวละครแต่ละตัว เค้ามองหน้าเราและก็มองหนังสือ ถึงแม้หน้าเค้าจะงงๆ ก็ตามแต่ก็ทำให้เรารู้ว่าเค้าเกิดความสนใจฟัง หรือจะใช้ตัวละครผ้าที่สวมนิ้วหรือสวมมือก็ได้ค่ะ เล่นกับเค้าแล้วทำเสียงเอาก็ได้เหมือนกัน
คนหนึ่งพูด คนหนึ่งฟัง
เวลาที่จะพูดคุยกับลูกนั้น สิ่งแวดล้อมข้างๆ ไม่ควรที่จะมีเสียงอื่น ๆ มาแทรกหรือจะมีได้ก็เพียงเบาๆ ไม่เช่นนั้นเสียงอื่นจะแย่งความสนใจไปจากคุณแม่ซะหมด
ที่สำคัญ เวลาพูดควรพูดทีละคน เพื่อให้เค้าได้ฟังตามคำพูดของคุณแม่ได้อย่างชัดเจน ถึงแม้ว่าเค้าจะยังไม่เข้าใจความหมายได้ทั้งหมดก็ตาม
ฝึกลูกพูดด้วยการฮัมเพลง
จากการศึกษาในงานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นพบว่า เพลง สามาระจูงใจและดึงความสนใจเด็กเล็กได้ดีกว่าการพูดอย่างเดียว เพราะฉะนั้น คุณแม่อาจเลือกเพลงมาฮัมเบา ๆ ให้ลูกฟังได้ทั้งเพลงช้าเพลงเร็วค่ะ แต่เพลงเร็วก็ขอให้เร็วแบบนุ่มนวลนะคะ จะดีมากหากคุณแม่ได้ได้อยู่กับลูกสองต่อสอง และฮัมเพลงให้เขาฟัง เพราะเขาจะให้ความสนใจกับคุณแม่เต็มที่
อ่านหนังสือนิทานกับลูก
การอ่านนิทานลูกจะได้ทั้งทักษะการพูด การฟัง และการมองเห็น ซึ่งสิ่งสำคัญอีกอย่างที่ลูกจะได้รับ ได้เรียนรู้ไปด้วยก็คือ การได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ในนิทานว่าสิ่งนั้น ๆ เรียกว่าอะไรอีกด้วยค่ะ
การฝึกลูกพูดแบบยืดเสียงสระ
การยืดเสียงสระให้ยาวจะช่วยให้ลูกน้อยเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น เช่น บอลลลล โยนนนน จากผลงานการวิจัยในสหรัฐอเมริการะบุว่า การทำแบบนี้จะช่วยพัฒนาทักษะด้านภาษาของลูกได้
การฝึกลูกพูดยังไม่จบนะคะ ยังมีต่อ สามารถติดตามได้ที่ “12 เทคนิค ฝึกลูกพูด เพื่อทักษะการสื่อสารที่ดีในอนาคต (2)”
ชี้ชวนลูกคุยกับสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน
เริ่มตั้งแต่ตื่นเช้ามา อาบน้ำ กินนม นอน กินข้าว ฯลฯ คุณแม่สามารถชวนลูกพูดคุยและก็สอนเค้าได้ค่ะว่าสิ่งต่าง ๆ ที่ลูกกำลังหยิบจับนั้นคืออะไร หรือสิ่งนี้เรียกว่าอะไร เป็นต้น
มีนักวิจัยได้ทำการศึกษาการสนทนาของคู่แม่ลูก 24 คู่ โดยลูกที่มีอายุระหว่าง 15-21 เดือน พบว่าการใช้เวลาที่คุยกับลูกและพูดถึงสิ่งที่เค้ากำลังเล่น จะส่งผลดีต่อพัฒนาการด้านภาษาได้ดีกว่าการที่คุณแม่พูดสิ่งไกลตัว เพราะสิ่งที่เค้ากำลังเล่นก็คือสิ่งที่เค้าให้ความสนใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้วนั่นเอง
ตอบลูกด้วยข้อมูลที่มากกว่าลูกถาม
เช่น ถ้าลูกพูดว่า “แมว แมว”
ให้คุณแม่เสริมว่า “ถูกต้องค่ะ แมวสีน้ำตาล”
แม้บางครั้งลูกอาจจะยังไม่เข้าใจได้ทั้งหมดที่คุณแม่พูด แต่อย่างน้อยลูกก็ได้เรียนรู้เพิ่มเติมและจดจำเข้าระบบเรียบร้อย
ใช้คำศัพท์ที่ถูกต้อง
คุณแม่และคนรอบข้างควรสอนลูกด้วยคำศัพท์ที่ถูกต้อง เช่น “แมว” ไม่ควรสอนลูกว่า “เหมียว” ฟังดูน่ารักก็จริง แต่จะทำให้ลูกจำไปแบบผิดๆ หรือ “ตังค์” ที่ถูกคือ “เงิน” เป็นต้น
ใช้ไวยากรณ์ให้ถูกต้อง
สิ่งนี้คุณพ่อคุณพ่อคุณแม่ควรปลูกฝังเค้าตั้งแต่เล็ก ก่อนอายุ 3 เพราะลูกจะต้องเริ่มเรียนรู้เรื่องการผสมคำให้เป็นประโยค หรือแม้แต่เรื่องการเรียงประโยคให้ถูกต้อง ดีกว่าการพูดแบบลูกซึ่งพูดเป็นคำ ๆ แต่ถ้าลูกถึงวัยที่ควรจะพูดได้เป็นประโยคแล้วแต่ “ลูกพูดไม่เป็นประโยค เพราะอะไร” เหล่านี้คุณแม่ควรหมั่นสังเกตลูกด้วยนะคะ
นัดให้ลูกได้เจอกับเด็กคนอื่นบ้าง
การพาลูกไปเดินเล่นที่สวนสาธารณะเป็นเรื่องที่ดีอีกเรื่องหนึ่งค่ะ เพราะลูกจะได้มีโอกาสเจอกับเด็กคนอื่น ๆ ในวัยเดียวกัน ให้เขาได้เล่นกับเด็กคนอื่น เพื่อเป็นการกระตุ้นการฟัง และการพูดของลูกได้ค่ะ
ใช้ความสงสัยของลูกในการฝึกพูด
คุณแม่ลองสังเกตดูว่าสิ่งของไหน หรือของเล่นชิ้นไหนที่ลูกให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ รวมถึงสิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น ลูกอาจจะสนใจตุ๊กตาหมี ก็ให้นำคำว่า “ตุ๊กตาหมี” มาสร้างเป็นเรื่องราวที่พูดคุยกับลูก เพื่อเป็นการให้ลูกได้เรียนรู้คำศัพท์ต่าง ๆ นั่นเอง
เรียกชื่อลูกบ่อย ๆ
การเรียกชื่อลูกบ่อย ๆ หรือเรียกทุกครั้งก่อนพูดจะเป็นการดึงดูดความสนใจให้ลูกหันมาทางคุณแม่ค่ะ และขณะที่พูดคุณแม่ควรสบตาลูก เขาจะเข้าใจได้ว่าคุณแม่กำลังคุยกับเขาอยู่ค่ะ
แก้ไขคำพูดที่ลูกพูดผิด ให้ถูกต้องอย่างนุ่มนวล
เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกพูดผิด คุณแม่ควรแก้ไขให้ถูกต้องอย่างนุ่มนวล ไม่ควรต่อว่าลูก ยกตัวอย่างเช่น ทุกเย็นพ่อจะเลิกงาน แล้วขับรถกลับบ้าน
ลูกพูดขึ้นมาว่า…“พ่อกลับมาบ้านแล้ว”
แต่ความเป็นจริงคือ คุณพ่อกำลังขับรถกลับบ้าน แต่ยังไม่ถึงบ้าน ให้คุณแม่แก้เป็น…
“คุณพ่อกำลังขับรถกลับมาบ้านจ่ะ”
พร้อมอธิบายลูกว่า “ถ้ากลับมาแล้ว” หมายถึง คุณพ่อต้องอยู่บ้านแล้ว เป็นต้น
คุยกับลูกให้เหมือนคุยกับผู้ใหญ่คนหนึ่ง
ถึงแม้ว่าลูกจะยังไม่สามารถเข้าใจในสิ่งที่คุณแม่พูดได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยลูกจะได้เรียนรู้ว่าการพูดต้องมีส่วนประกอบกันเป็นประโยค อีกคนพูด อีกคนหยุดฟัง สิ่งนี้เมื่อลูกโตขึ้นไป อย่างน้อยเมื่อลูกอายุ 7-8 เดือน เค้าจะเรียนรู้ว่าเมื่อมีคนอื่นมาคุยด้วย เค้าจะหยุดฟัง
โดยกฎสำคัญในการเรียนรู้คือ “ขณะที่คนอื่นพูดอยู่ เราไม่ควรพูดแทรก” สิ่งนี้เองที่คุณแม่สามารถปลูกฝังเค้าได้ตั้งยังเป็นทารก
ข้อนี้แม่โน้ตเน้นมาตั้งแต่น้องมินเล็ก ๆ เลยค่ะ อย่าเพิ่งคิดแทนลูกว่าเขาไม่เข้าใจ เพราะถ้าเขาไม่เข้าใจ และเขาอยากรู้ เขาก็จะถามเองค่ะ สิ่งนี้จะทำให้ลูกเป็นเด็กที่เข้าใจเหตุผลและเข้าใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้มากกว่าคนอื่นค่ะ
เด็กที่มีการสอบถามคุณพ่อคุณแม่อยู่บ่อย ๆ มักมีแนวโน้มที่จะเป็นเด็กที่พูดถูกและเขียนถูกไวยากรณ์มากกว่าเด็กที่ไม่ค่อยถาม เด็กที่ถามบ่อยนี้จะเรียนรู้คำศัพท์ได้มากกว่า นอกจากนี้ เด็กที่ถามบ่อย จะรู้ว่าช่วงไหนควรหยุดฟัง หรือช่วงไหนพูดได้ เค้าจะมีทักษะที่ดีทั้งการฟังและการพูด ทำให้เมื่อเค้าโตขึ้นจะเข้าสังคมกับคนอื่นได้ดี
เล่นเกมเพื่อคำศัพท์
เมื่อลูกอายุได้ 2 ปี ลูกสามารถเข้าใจและเริ่มพูดได้รู้เรื่องมากขึ้น คุณแม่ควรสอนคำศัพท์เค้า อาจเริ่มจากสิ่งที่เค้าสนใจก่อนก็ได้ค่ะ หรืออาจเรื่องของตำแหน่งที่วางสิ่งของ เช่น บน ล่าง ด้านข้าง หรือจะเป็นในเรื่องของอวัยวะก็ได้เช่นกันค่ะ
อย่าให้ลูกเป็นโรคหูอักเสบบ่อย ๆ
เด็กที่ยังอยู่ในช่วงวัยแรกเกิด-4 ขวบ หากปล่อยให้เป็นโรคหูอักเสบบ่อย ๆ อาจส่งผลให้สูญเสียการได้ยินชั่วคราว ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ด้านการสื่อสาร โดยเฉพาะเรื่องการพูด หากลูกเคยมีประวัติการป่วยด้วยโรคนี้บ่อย ๆ ให้คุณแม่ลองสังเกตเรื่องการฟังของลูกด้วยนะคะ ว่าเค้ามีปัญหาเรื่องการฟังหรือไม่ หากไม่มั่นใจ ลองไปปรึกษาคุณหมอ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยดูนะคะ
เพราะ “การพูด” เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการสื่อสาร การพูดทำให้เกิดการเรียนรู้ได้มากมาย ทำให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีติดตัวไปจนโต อยากให้ลูกมีพัฒนาการด้านการสื่อสารที่ดี คุณแม่สามารถช่วยลูกได้ตั้งแต่วันนี้ค่ะ