เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่แหลายๆ คนคงเคยได้ยินกันมาบ้างแล้วใช่มั้ยคะว่า เด็กในวัย 3 – 5 ขวบจะเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเองมากขึ้น อยากมีส่วนร่วมในการช่วยตัดสินใจ อยากมีสิทธิเลือกของใช้ของเค้าได้เอง ดังนั้น “การเถียง” จึงเป็นอีกสิ่งที่เด็กจะเริ่มแสดงออก แต่เนื่องจากสังคมไทยเราส่วนใหญ่ เราจะสอนเด็กและพูดต่อๆ กันมาว่า “เป็นเด็กอย่าเถียงผู้ใหญ่” สิ่งนี้ยิ่งจะทำให้เด็กไม่ได้ฝึกหัดเรื่องความคิดรอบด้าน หรือแม้แต่เรื่องของ “การคิดวิเคราะห์” เลย
คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนให้ “ลูกเถียงอย่างสร้างสรรค์ได้” แต่จะมีวิธีสอนอย่างไร ไปติดตามกันค่ะ
สารบัญ
โลกของเด็กไม่ต่างจากผู้ใหญ่
เด็กก็เหมือนผู้ใหญ่ในเรื่องของความเห็นต่าง มีความขัดแย้ง หรือแม้แต่การแย่งชิงพื้นที่ความเป็นส่วนตัว
อลิสัน โจนส์ (Alyson Jones) นักบำบัดและผู้เขียนหนังสือ M.O.R.E. A New Philosophy for Exceptional Living กล่าวว่า
“เราไม่ได้มีหน้าที่ปกป้องเขาจากปัญหาความขัดแย้งทุกอย่างในชีวิต อันที่จริงปัญหาเหล่านั้นจะช่วยให้พวกเขาสร้างเครื่องมือสำคัญในชีวิตที่เราต่างก็อยากให้พวกเขามีใจจะขาด”
เครื่องมือที่ว่าก็คือ ทักษะในการคิดวิเคราะห์ หรือการโต้แย้งด้วยเหตุผล รู้จักแยกข้อมูลออกเป็นส่วนๆ วิเคราะห์ คัดกรอง และทดสอบแนวคิดของตัวเองจะช่วยให้เด็กๆ อยู่รอดท่ามกลางกองทัพข้อมูลข่าวสารทั้งจริงและเท็จในปัจจุบัน
เพราะอะไรลูกชอบเถียง
โดยหลัก ๆ แล้ว สามารถแบ่งออกเป็น 2 หัวข้อใหญ่ ๆ ดังนี้
ลูกมีความเป็นตัวของมากขึ้น
ลูกน้อยจากที่เป็นเด็กว่านอนสอนง่าย พอเริ่มเข้าวัย 2 ขวบ เขาจะเริ่มรู้เรื่องมากขึ้น เข้าใจอะไรต่าง ๆ มากขึ้น หรือที่หลาย ๆ คนเรียกว่า “Terrible Two (วัยทอง 2 ขวบ) คืออะไร? ข้อดีของ Terrible Two” ยิ่งพอเข้าสู่วัย 3 ขวบ ลูกน้อยเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง อยากทำอะไรด้วยตัวเอง อยากมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งถ้าหากคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้เขามีส่วนร่วมล่ะก็ เขาก็จะเริ่มหงุดหงิด เริ่มโมโหนั่นเอง
ศัพท์ในหัวยังมีน้อย
ถัดมาหลังจากที่ลูกน้อยทำอะไรไม่ได้ดั่งใจตัวเอง ไม่รู้จะอธิบายกับคุณพ่อคุณแม่ได้อย่างไร ด้วยความที่เขากลัวว่าคุณพ่อคุณแม่จะไม่เข้าใจเขา ผนวกกับศัพท์ในหัวยังมีน้อย ก็ยิ่งทำให้เขาหงุดหงิดมากขึ้นไปใหญ่ ลูกน้อยจะโมโหจากที่ตัวเองอธิบายไม่ถูก และโมโหที่คุณพ่อคุณแม่ไม่เขาใจเขา ผู้ใหญ่จึงมักเข้าใจไปว่าลูกชอบเถียง
วิธีฝึกลูกให้คิดวิเคราะห์
เพราะความที่เป็นเด็ก เค้าจะมีความอยากรู้อยากเห็น และขี้สงสัยอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งถ้าหากคุณพ่อคุณแม่สามารถทำให้เค้าได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ก็จะยิ่งเป็นการฝึกการคิดวิเคราะห์ได้ดีทีเดียวค่ะ มาดูกันค่ะว่าคุณพ่อคุณแม่จะฝึกเค้าได้อย่างไรบ้าง
- พูดเรื่องยาก ๆ ซับซ้อนต่อหน้าลูกบ้างก็ได้ค่ะ เช่น ความเป็นไปของโลก ศิลปะ วัฒนธรรม การเมือง สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ชอบ หรือสิ่งที่อยากทำให้ดีขึ้น ไม่ต้องกลัวว่าลูกจะไม่เข้าใจ เพราะเค้าจะถามเอง
- ยอมรับความแตกต่างและความอยากรู้อยากเห็น ใจเย็น ๆ เปิดใจกว้างและแย้งกันด้วยเหตุผล แต่…การเปิดใจกว้างไม่ใช่เปิดในทุกเรื่อง ต้องมีขอบเขตที่เหมาะสม และสม่ำเสมอ ไม่เข้มงวดเกินไป ไม่หย่อนเกินไป
- ทำให้ลูกรู้สึกว่าบ้านเป็นสถานที่ที่ปลอดภัย เด็ก ๆ สามารถรู้จักอารมณ์ของตัวเอง รู้เท่าทันอารมณ์ และให้รู้ว่าทุกอารมณ์สามารถจัดการได้ ไม่มีร้ายหรือดี ไม่คงอยู่กับเราตลอดไป แต่พฤติกรรมจากอารมณ์ควรมีขอบเขตเสมอ
- ฟังให้มากกว่าพูด ไม่ด่วนสรุป ใช้เวลาพูดคุยกัน ทำให้การพูดคุยเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ครอบครัว ที่สำคัญ “หลีกเลี่ยงการวิจารณ์” เพราะการวิจารณ์จะทำให้การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นนั้นปิดตาย
- เป็นตัวอย่างในการเคารพความคิดเห็นของคนอื่น คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมนะคะว่าลูกๆ มักจะทำตามคุณพ่อคุณแม่ โดยข้อนี้ ให้คุณพ่อคุณแม่เลือกหัวข้อมาหนึ่งหัวข้อที่คุณพ่อคุณแม่มั่นใจว่าลูกมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับเรา จากนั้นก็แสดงให้เค้าเห็นว่าคุณพ่อคุณแม่สามารถเคารพความคิดเห็นของอีกฝ่ายได้ แม้จะคิดไม่เหมือนกันเลยก็ตาม
- ใช้โอกาสจากความผิดพลาด เพื่อให้ลูก ๆ ได้ก้าวผ่านและใช้ความผิดพลาดเป็นบทเรียน ข้อนี้จะทำให้เค้าเรียนรู้ได้เร็วขึ้น
- ให้ลูก ๆ ได้ฝึกตัดสินใจเองจริง ๆ เค้าจะได้มีประสบการณ์ทั้งเรื่องของความสำเร็จและความล้มเหลวเป็นของตัวเอง
ทำอย่างไรให้ “เถียง” อย่างสร้างสรรค์
ความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันเกิดขึ้นอยู่ทุกวัน เริ่มตั้งแต่เรื่องเล็กอย่างชีวิตประจำวัน นิตยสาร หนังสือ ดนตรี รายการโทรทัศน์ หรือไปจนเรื่องใหญ่ๆ เอาเป็นเอาตายอย่างเรื่องของภาพลักษณ์ ท่าที หุ้น ฯลฯ แต่จะทำอย่างไรให้ความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันนี้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ เรามีแนวทางดังนี้ค่ะ
- ทำให้การโต้แย้งเป็นเรื่องสนุกและเชื่อมโยงกับวัยของเค้าได้ อาจเริ่มจากหนังสือหรือหนังที่ลูกชอบ และค่อยๆ ขยับไปเรื่องใหญ่ๆ เมื่อเค้าโตขึ้นและถึงเวลาที่เหมาะสม
- สอนให้ลกรู้จักความต่างของความคิดเห็นและการเถียง ซึ่งการพูดว่า “ฉันคิดอย่างนี้” มันง่าย แต่การจะอธิบายว่า “เพราะอะไรถึงคิดอย่างนี้” ยากกว่า
- สอนให้ลูกได้รู้จัก “ความผิดหวัง” บ้าง เพราะเค้าไม่อาจจะได้ทุกอย่างตามที่หวังไว้
- พิจารณามุมมองและเหตุผลต่างๆ ทุกแนวคิดต้องถูกตรวจสอบและประเมินค่าก่อนจะถูกตัดทิ้ง
- ให้รู้จัก “การยกตัวอย่างค้าน” (counterexample) ลองจินตนาการถึงการโต้แย้ง ที่ไม่ได้เป็นไปตามคิด เพื่อฝึกการคิดให้รอบด้าน
วิธีการปรับพฤติกรรม “ลูกชอบเถียง”
คุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็น ไม่ใช้อารมณ์
เมื่อลูกพยายามที่จะอธิบายไปพร้อมลูกเองก็เริ่มโมโห พูดเสียงดังใส่คุณพ่อคุณแม่
ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ ต้องตั้ง mind set อย่างนี้ก่อนค่ะว่าเรากับลูกคือพวกเดียวกัน ลองคิดว่าถ้าเราอายุเท่าลูก เราจะทำแบบลูกไหม ไม่ใช้อารมณ์นำทาง ไม่ดุลูก หรือตวาดลูกกลับ เพราะนั่นจะเป็นพฤติกรรมที่ลูกเลียนแบบจากคุณพ่อคุณแม่ได้ค่ะ
เปิดใจ รับฟังลูก
ในขณะที่ลูกกำลังพยายามอธิบายด้วยความโมโหนั้น ให้คุณพ่อคุณแม่เปิดใจรับฟังลูก หรือหากมีศัพท์บางคำที่ลูกคิดไม่ออก คุณพ่อคุณแม่สามารถพูดเสริมให้ลูกได้ หากระหว่างนั้นคุณพ่อคุณแม่พอจะจับประเด็นในสิ่งที่ลูกต้องการได้แล้ว ให้พูดทวนความต้องการของลูก แบบนี้ก็จะช่วยให้ลูกลดระดับเสียง และลดอารมณ์โมโหได้ ทั้งนี้ คุณพ่อคุณแม่อาจบอกลูกว่า “สิ่งที่ลูกพูดมาต้องเป็นเรื่องจริงทั้งหมด ไม่โกหกนะ ไม่อย่างนั้นแม่จะไม่เข้าใจความต้องการที่แท้จริงของหนู” ติดตาม “ลูกชอบแก้ตัว ชอบโกหก ทำอย่างไรดี”
พิสูจน์ให้ลูกได้เห็นว่าเราคือ พวกเดียวกัน
จากการที่เราทวนความต้องการของเขานั่นเอง พร้อมกับทวนถึงสาเหตุที่ลูกโมโหให้เขาฟัง เขาก็จะรู้ได้แล้วค่ะว่า ความจริงแล้วคุณพ่อคุณแม่เข้าใจเขาได้ง่าย ๆ เพียงแค่มาคุยกันดี ๆ ไม่จะเป็นต้องโมโห เขาจะรู้สึกว่าแท้จริงแล้วคุณพ่อคุณแม่อยู่ข้างเขา พร้อมที่จะฟังเขาเสมอ
ใช้ภาษากายที่นุ่มนวลกับลูก
เมื่ออารมณ์ลูกเริ่มเบาลง สงบลง ให้คุณพ่อคุณแม่ใช้ภาษากายกับลูกด้วยความนุ่มนวล อาทิ ลูกบที่แขนเบา ๆ ลูกศีรษะ หรืออาจจะจับมือก็ได้ค่ะ พร้อมพูดกับลูกด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยน
ค่อย ๆ ให้ลูกปรับลักษณะและคำพูด
เมื่อคุณพ่อคุณแม่รู้แล้วว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้ลูกเถียง หรือโมโห ให้คุณพ่อคุณแม่สอนคำศัพท์ให้ลูก หรืออธิบายว่าถ้าหนูอยากให้เป็นแบบนี้ควรพูดว่าอย่างไรถึงจะเหมาะสมและถูกต้อง
สอนให้ลูกรับฟังคนอื่นเช่นกัน
เมื่อคุณพ่อคุณแม่เป็นผู้ฟังลูกจนจบ หลงจากนั้นให้ยกตัวอย่างว่าคุณพ่อคุณแม่ยังฟังหนูเลย เพื่อที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการที่จะทำความเข้าใจว่าหนูต้องการอะไร สะท้อนให้ลูกเห็นและทำให้ลูกดูเป็นตัวอย่าง แบบนี้ก็จะทำให้ลูกได้เห็นภาพและเข้าใจมากขึ้นค่ะ
ใช้เหตุผลพูดคุยกับลูก
การสอนให้ลูกได้เรียนรู้ในเรื่องเหตุผลที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญค่ะ เพราะสิ่งนี้จะทำให้ลูกรู้จักการคิดวิเคราะห์ ทำให้ลูกได้รู้ว่าถ้าเขาทำแบบนี้ จะส่งผลอย่างไร ซึ่งข้อนี้จะทำให้ลูกเป็นเด็กที่มีเหตุผลและเป็นผู้ใหญ่ได้มากทีเดียว
ขึ้นชื่อว่า “การฝึก” มันคงต้องใช้เวลาค่ะ โดยเฉพาะการปลูกฝังการคิด การมองให้ครบในทุก ๆ ด้าน การวิเคราะห์ ฯลฯ แต่เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกเค้าได้ตั้งแต่เล็ก ๆ เพื่อให้เค้าได้มีความเติบโตทางความคิด และ “การเถียง” จะเป็น “การโต้แย้งอย่างสร้างสรรค์” ได้แน่นอนค่ะ