คุณพ่อคุณแม่หลายๆ ท่านคงจะทราบกันดีนะคะ ว่าเด็กในวัย 3-5 ขวบ จะมีความเป็นตัวของตัวเองสูง อยากทำนู่นเอง ทำนี่เอง อยากมีส่วนร่วมในการตัดสิน จนบางครั้งถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ให้เค้าทำอะไรในสิ่งที่เค้าต้องการ เค้าอาจจะดูเอาแต่ใจและก้าวร้าวไปซักหน่อย
สารบัญ
สาเหตุลูกก้าวร้าวที่พ่อแม่คิดไม่ถึง
ทุกคนคงปฏิเสธไม่ได้ว่า “การนอน” มีความสำคัญไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ แต่ผู้ใหญ่ยังสามารถอดทนได้ อย่างดีก็แค่ร่างกายอ่อนเพลีย ถ้าได้นอนพักก็จะดีขึ้น แต่เด็กสิคะ ถ้าเค้านอนไม่พอ นอกจากจะมีผลต่อ โกรธฮอร์โมน (Growth Hormone) ซึ่งจะส่งผลให้เด็กไม่เติบโตสมวัยแล้ว สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมรับมือกับ อารมณ์แปรปรวน ขึ้นๆ ลงๆ หงุดหงิด งอแง ร้องไห้ หากเป็นแบบนี้บ่อย ๆ จะส่งผลให้ลูกกลายเป็นเด็กก้าวร้าวแบบที่คุณพ่อคุณแม่ไม่รู้ตัวเลยทีเดียว
สาเหตุที่เด็กนอนไม่พอ
คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งย่ามใจไปเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้เด็กนอนไม่หลับนะคะ เพราะบางอย่างเด็กอาจแสดงให้เห็น แต่บางอย่างต้องอาศัยความเข้าใจ การดูแลใส่ใจ และการสังเกตค่ะ ลองมาดูกันค่ะว่าสาเหตุจะมาจากอะไรได้บ้าง
- เล่นเกมส์ ดูโทรทัศน์ก่อนนอน
- กินคาเฟอีน นอกจากชาและกาแฟแล้ว ในช็อคโกแลตหรือน้ำอัดลมก็มีคาเฟอีนนะคะ
- เครียด
- การนอนกรน ทำให้เด็กต้องตื่นกลางดึกบ่อย ๆ ทำให้การนอนไม่ต่อเนื่อง
- การไอ จากโรคหอบหืด
- การคัน จากโรคผิวหนัง
- ภาวะซึมเศร้า
- วิตกกังวล
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น ยากระตุ้นประสาทสำหรับรักษาโรคสมาธิสั้น (ADHD) ยาต้านภาวะซึมเศร้า (Antidepressants) เป็นต้น
กรณีศึกษาพฤติกรรมเด็กในเรื่อง “การนอนไม่พอ” จากกลุ่มตัวอย่าง
จากการศึกษาของอาจารย์ดอกเตอร์เอลิซิเบธ เจ.ซัสแมน แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย สเตท ซึ่งท่านเป็น 1 คณะผู้ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างที่เป็นเด็กอายุ 8-13 ปี จำนวน 111 คน พบว่า
- เด็กที่นอนไม่พอจะไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดีเท่าที่ควร ไม่ค่อยใส่ใจในการเรียน และมีพฤติกรรมแย่ลง
- เด็กผู้ชายก็มักจะชอบ “แหกกฎกติกา” มากกว่าเพื่อนๆ ที่เข้านอนแต่หัวค่ำ
- เด็กผู้หญิงก็จะมีพฤติกรรมที่ “ก้าวร้าว” มากกว่าเพื่อนๆ ที่นอนตั้งแต่หัวค่ำ
- “ฮอร์โมนคอร์ทิซอล (Cortisol)” ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ตอบสนองต่อความเครียดเปลี่ยนไป โดยปกติแล้วฮอร์โมนนี้จะสูงขึ้นเมื่อตื่นนอน และจะสูงไปจนช่วงเย็น แล้วจะค่อย ๆ ลดลงช่วงกลางคืน ดังนั้น เด็กที่นอนดึกการหลั่งฮอร์โมนจะเปลี่ยนไป คือ ระดับฮอร์โมนนี้จะต่ำลงในช่วงกลางวัน
เด็กนอนดึกบ่อย ๆ นอกจากระดับฮอร์โมนที่ตอบสนองกับความเครียด (Cortisol) เปลี่ยนไปแล้ว ยังมีการพบพฤติกรรมที่ต่อต้านสังคมมากขึ้นและมีอาการซึมเศร้ามากขึ้นอีกด้วยนะคะ
การนอนของเด็กแต่ละช่วงวัย (จำนวนชั่วโมง)
เพราะเด็กแต่ละคนก็จะมีความต่างกันไปข้อมูลนี้นำมาฝากคุณพ่อคุณแม่เพื่อใช้เป็นแนวทางนะคะ
อายุ | จำนวนชั่วโมงในการนอน |
---|---|
เด็กแรกเกิด – 3 เดือน | 14-17 ชั่วโมง/วัน |
เด็กเริ่มคลาน อายุ 4-12 เดือน | 12-15 ชั่วโมง |
เด็กอ่อน อายุ 1-2 ปี | 11-14 ชั่วโมง |
เด็กอนุบาล อายุ 3-5 ปี | 10-13 ชั่วโมง |
เด็กประถม อายุ 6-13 ปี | 9-11 ชั่วโมง |
เด็กมัธยม อายุ 14-17 ปี | 8-10 ชั่วโมง |
การปรับพฤติกรรมลูกก้าวร้าว จากสาเหตุนอนไม่พอ
สำหรับเรื่องการช่วยเหลือลูกที่มีปัญหาเรื่องการนอนที่ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติทั้งทางด้านร่างกายหรือจิตใจ คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยเหลือลูกได้โดยไม่ต้องพึ่งยาค่ะ
- จำกัดพื้นที่บนเตียง ไม่ทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ทำการบ้าน ดูโทรทัศน์ กินขนม ฯลฯ บนเตียง เพื่อให้ลูกได้รู้ว่าเตียงนอนมีไว้สำหรับการหลับพักผ่อนจริง ๆ
- ทำบรรยากาศให้เงียบ เวลานอน
- จัดห้องนอนให้เรียบร้อย สะอาด
- อากาศถ่ายเทสะดวก
- จัดตารางการนอนและการตื่นของลูกให้ตรงกันทุกวันไม่เว้นวันหยุด เช่น เด็กวัยอนุบาล อายุ 3-5 ปี ควรนอนให้ได้ 10-13 ชั่วโมง เป็นต้น
- งดกิจกรรมที่สนุก ตื่นเต้นก่อนเวลานอน 30-60 นาที เช่น งดดูโทรทัศน์ งดเกมส์ หรือแม้แต่การคุยเสียงดัง
- หากเวลาผ่านไป 10-20 นาทีแล้ว แต่ลูกยังไม่หลับ ให้ลุกขึ้นมาทำกิจกรรมอื่นชั่วคราวก่อน เช่น อ่านนิทาน หรือสวดมนต์
- ไม่ทานช็อคโกแลตหรือน้ำอัดลม เมื่อใกล้เวลานอน
- หากลูกมีความเครียด แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่นั่งเปิดใจพูดคุยกัน แล้วปล่อยให้เค้าระบายออกมา ให้เค้าได้แสดงความรู้สึก ก่อนที่จะช่วยลูกหาทางแก้ปัญหา
- คุณพ่อคุณแม่สามารถปรึกษาจิตแพทย์ร่วมด้วยก็ได้ค่ะ เพื่อการช่วยลูกแก้ปัญหาและเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
การปรับพฤติกรรมลูกก้าวร้าว จากสาเหตุอื่น ๆ
สำหรับเด็กคนไหนที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวในแบบที่ไม่ใช่จากสาเหตุนอน แม่โน้ตมีวิธีปรับพฤติกรรมมาฝากค่ะ
คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ตอบโต้ลูกด้วยความรุนแรง
การที่คุณพ่อคุณแม่จะหยุดพฤติกรรมก้าวร้าวของลูกในทันทีนั้น ไม่ควรใช้ความรุนแรงกับลูกเด็ดขาดค่ะ เพราะสิ่งนี้จะทำให้ลูกเกิดการเลียนแบบพฤติกรรมได้ เช่น ขณะที่ลูกกำลังโมโหและขว้างปาสิ่งของอยู่นั้น ให้คุณพ่อคุณแม่เข้าไปกอดลูกแบบรวบแขนเอาไว้ แล้วพูดกับลูกด้วยท่าทีที่ปกติ ไม่ควรขึ้นเสียงกับลูกนะคะ
ชี้แนะทางออกอื่นให้ลูก
เช่น เมื่อลูกโดนแกล้งในโรงเรียน แนะนำให้ลูกเดินไปบอกครู ไม่ควรให้ลูกตอบโต้เพื่อนคนนั้นด้วยความรุนแรง
ไม่ควรต่อรองกับลูกขณะที่ลูกยังมีพฤติกรรมก้าวร้าว
ถ้าลูกพยายามจะต่อรองกับคุณพ่อคุณแม่ในขณะที่เขายังโมโห หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าวอยู่ให้คุณพ่อคุณแม่นิ่งเฉย หรือไม่ก็หาจังหวะอธิบายให้ลูกฟังว่าคุณพ่อคุณแม่จะไม่ตกลงอะไรด้วยทั้งนั้น ถ้าลูกยังไม่นิ่ง หรือไม่สงบสติอารมณ์ก่อน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการฝึกลูกให้ได้เรียนรู้ว่า หนูจะต่อรองกับคุณพ่อคุณแม่ได้ก็ต่อเมื่อหนูมีอารมณ์ที่เย็นลง และมีพฤติกรรมที่เหมาะสมเท่านั้น
ไม่ควรเอาชนะลูกด้วยอารมณ์
หากคุณพ่อคุณแม่ตั้งใจว่าจะเข้าไปห้ามพฤติกรรมที่ก้าวร้าวลูกในขณะที่ลูกยังมีอารมณ์โมโหอยู่ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรทำเลยก็คือ การเอาอารมณ์ของคุณพ่อคุณแม่ไปลงที่ลูก เพราะคิดว่าผู้ใหญ่ย่อมเสียงดังว่า ตัวใหญ่กว่า แบบนี้คิดผิดถนัดเลยค่ะ กลับกัน…สิ่งนี้จะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง แถมลูกยังเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่ และอาจเกิดพฤติกรรมที่ต่อต้านได้ “ลูกต่อต้าน แพทย์ระบุ 8 สัญญาณเตือน เกิน 3 ขวบ เสี่ยงโรคพฤติกรรมดื้อต่อต้าน”
ไม่ควรลงโทษลูกด้วยความรุนแรง
การลงโทษลูกมีหลายวิธีค่ะที่ไม่ต้องเลย เช่น การใช้ทฤษฎี Time In หรือจะ Time Out ก็ได้ค่ะ Time In กับ Time Out ต่างกันอย่างไร ติดตามได้จากบทความนี้ค่ะ “การลงโทษลูกแบบ Time Out หากไม่ได้ผล มา Time In กันดีกว่าไหม?”
ฝึกให้ลูกรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองได้ทำลงไป
เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ใช้ลงโทษลูกด้วยการไม่ต้องดีค่ะ “ลงโทษลูกโดยไม่ต้องตี รวมวิธีดี ๆ ที่ได้ผล”
หลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบลูกกับคนอื่น
เพราะการเปรียบเทียบไม่เคยส่งผลดีต่อใครเลยค่ะ ซึ่งผลที่ได้จากการที่คุณพ่อคุณแม่เปรียบเทียบลูกของตัวเองกับคนอื่นรังแต่จะทำให้ลูกมีแต่ความเสียใจ น้อยใจ สุดท้ายลูกจะเป็นเด็กที่ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง จนไม่กล้าทำ ไม่กล้าเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ และอีก “15 คำหรือประโยคที่พ่อแม่ไม่ควรพูดกับลูก”
จากสาเหตุทั้งหมดที่กล่าวมา คุณพ่อคุณแม่ลองไปสังเกตดูนะคะว่ามีข้อไหนที่เข้าข่ายบ้างหรือไม่ เพราะการจะปรับพฤติกรรมก้าวร้าวของลูกให้ได้ผลนั้น ต้องหาสาเหตุให้ได้ก่อนค่ะ เพื่อการแก้ปัญหาได้อย่างถูกจุด และได้ผล