โดยธรรมชาติของคุณแม่ตั้งครรภ์ น้ำนมจะเริ่มผลิตตั้งแต่คุณแม่ยังอุ้มท้องอยู่ แต่จะเริ่มมีอาการคัดเต้านมก็เมื่อหลังคลอด ซึ่งอาการเต้านมคัด คุณแม่จะเจ็บที่เต้านมเนื่องจากมีน้ำนมผลิตออกมา แบบนี้จะยิ่งทำให้คุณแม่ยิ่งปวดเต้ามากขึ้น ดังนั้น หากคุณแม่มีอาการคัดเต้านม จะแก้ได้อย่างไรดี ป้องกันได้ไหม วันนี้เราจะมาคุยถึงเรื่องนี้กันค่ะ
สารบัญ
อาการ เต้านมคัด
เต้านมคัด อาการที่มักเกิดขึ้นกับคุณแม่หลังคลอดที่เพิ่งคลอดลูกได้ประมาณ 2 – 5 วัน เนื่องจากฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง มีเลือดไหลเวียนบริเวณเต้านมมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดอาการได้ ดังนี้
- เต้านมบวม จนบางครั้งอาจรู้สึกเต้านมอุ่น เนื่องจากมีน้ำนมมาคั่งเป็นจำนวนมาก
- เต้านมขยายขนาดใหญ่ขึ้น
- หากมีน้ำนมมาคั่งเป็นจำนวนมาก เต้านมจะมีลักษณะแข็ง ตึง เจ็บปวด ไปจนถึงร้อนมาก
- เมื่อเต้านมตึงแข็ง ก็จะส่งผลให้ลานนมแข็งตึงด้วยเช่นกัน ทำให้น้ำนมไหลได้ไม่ดี
- หัวนมสั้นลงเนื่องจากเต้านมแข็งไม่สามารถยืดหยุ่นได้ ทำให้ลูกดูดได้ไม่สะดวก
- บางครั้งคุณแม่อาจมีไข้ แต่ก็จะไม่เกิน 24 ชั่วโมง
- ปกติแล้วอาการเต้านมคัดมักจะเป็นทั้ง 2 ข้าง
- หากปล่อยให้มีน้ำนมค้างเต้านาน ร่างกายจะเรียนรู้ว่าเมื่อไม่มีการระบายน้ำนมออก ก็จะมีการหยุดการผลิตชั่วคราว จนกว่าจะมีการระบายน้ำนมออก แล้วถึงจะเริ่มผลิตใหม่
สาเหตุ เต้านมคัด
สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายสาเหตุ ดังนี้
- คุณแม่ทิ้งช่วงในการให้นมลูนานเกินไป ทำให้น้ำนมมีการสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก
- ร่างกายของคุณแม่สร้างน้ำนมออกมาได้มากกว่าปริมาณที่ลูกน้อยต้องการ
- คุณแม่ใช้ท่าอุ้มให้นมลูกที่ผิดท่า ลูกจึงดูดผิดวิธี ทำให้การระบายของน้ำนมออกมาได้ไม่ดี
- หากให้ลูกกินนมผ่านขวด ลูกจะติดกินจากขวด ซึ่งเท่ากับเป็นการลดความถี่ในการเข้าเต้าของคุณแม่
- ลูกมีแรงดูดน้อย ทำให้ไม่สามารถดูดนมแม่ได้เต็มที่ และอาจเหนื่อยหลับเสียก่อน
- คุณแม่มีความกังวล มีความเครียด อ่อนเพลีย รวมถึงมีภาวะโลหิตจาง
- หัวนมแตก เป็นแผล (สามารถบอกลาหัวนมแตกได้ ที่นี่ คลิกเลย “7 วิธีบอกลา หัวนมแตก เจ็บหัวนม”)
- มีความผิดปกติของเต้านม
วิธีแก้ปัญหา เต้านมคัด
หากคุณแม่มีอาการเต้านมคัด เราก็มีวิธีมาแนะนำ ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธีค่ะ
ให้ลูกเข้าเต้าอย่างถูกวิธี
เมื่อลูกสามารถเข้าเต้าได้อย่างถูกวิธีก็จะทำให้น้ำนมไหลดี (ติดตามเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิกเลย “การเข้าเต้าที่ถูกต้อง ต้องทำอย่างไร?”
ถ้าลูกเข้าเต้าได้อย่างถูกวิธี นอกจากจะทำให้น้ำนมไหลได้ดีแล้ว ลูกน้อยก็จะได้สารอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วนค่ะ ลูกจะกินนมได้ถึงส่วนปลายน้ำนมซึ่งจะมีปริมาณไขมันดีอยู่เยอะ ทำให้ลูกอิ่มอยู่ท้องได้นาน และหลับนานขึ้นอีกด้วยนะคะ
อุ้มให้นมลูกด้วยท่าที่ถูกต้อง
ท่าอุ้มให้นมของคุณแม่ต้องถูกต้องด้วยนะคะ กับ “4 ท่าให้นมลูกยอดนิยมพร้อมท่าทางที่ถูกต้อง” เป็นท่าให้นมที่ถูกต้องและยอดฮิต คัดมาให้คุณแม่แล้ว ซึ่งการให้นมลูกนั้นควรให้ลูกเข้าเต้าบ่อย ๆ ประมาณโดยในช่วงแรกควรเป็นทุก ๆ 2 – 3 ชั่วโมง หรือเด็กบางคนหิวเร็วก็สามารถให้เขากินได้ค่ะ แต่เน้นเข้าเต้าอย่างเดียวนะคะ
เตรียมตัวก่อนให้ลูกเข้าเต้า
ก่อนให้ลูกดูดนมควรน้ำผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่นแล้วมาประคบรอบ ๆ เต้านม ประมาณ 10 นาที และปั๊มออกสักเล็กน้อย เพื่อให้เต้านม ลานนม และหัวนมคุณแม่นิ่มลง ลูกก็จะดูดได้ง่ายขึ้น
ไม่ควรใช้ขวดนมเสริม
คุณแม่ไม่ควรใช้ขวดนมเสริม สลับกับการเข้าเต้า เพราะจะทำให้ลูกน้อยไม่อยากเข้าเต้า
ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่าแรงดูดที่ใช้กับขวดนมนั้นน้อยกว่าที่จะดูดนมจากเต้า นมจะไหลออกจากขวดตลอดเวลา แม้ไม่ใช้แรงดูด แต่นมแม่จะไหลเฉพาะเวลาที่ใช้แรงดูด เพราะฉะนั้นลูกจะติดขวดมากกว่าเต้าค่ะ
แม่นวด ลูกดูด
ขณะที่ลูกน้อยกำลังดูดเต้าอยู่นั้น ให้คุณแม่นวดรอบ ๆ เต้าเบา ๆ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของน้ำนมให้ดีขึ้น ลูกน้อยก็จะดูดได้ดีมากขึ้น
ปั๊มนมให้ตรงกับเวลาที่ลูกดูด
กรณีนี้สำหรับคุณแม่ที่ต้องกลับไปทำงาน ให้คุณแม่ปั๊มนมในเวลาเดียวกันกับที่ลูกน้อยเคยดูดนมเหมือนขณะที่อยู่บ้าน แบบนี้ก็จะเป็นการกระตุ้นการผลิตน้ำนมได้เหมือนกัน ลูกน้อยก็ยังได้กินนมแม่อยู่ และที่สำคัญลดอาการคัดเต้าได้อีกด้วยค่ะ
สวมเสื้อชั้นในที่ไม่รัดเกินไป
คุณแม่ควรเลือกขนาดของเสื้อชั้นในที่ไม่รัดจนเกินไป เผื่อให้เวลาที่เต้านมขยาย และถ้าจะให้ใส่สบาย แนะนำว่าไม่ควรเลือกที่มีโครง เพราะจะยิ่งทำให้คุณแม่เจ็บและอึดอัด เวลาที่เต้านมคัด
ประคบเย็นหลังให้นมลูก
หลังให้นมลูกเสร็จแล้วให้คุณแม่นำผ้าสะอาดชุบน้ำเย็น แล้วนำมาประคบรอบเต้าประมาณ 10 นาที ก็จะช่วยลดอาการคัดเต้าได้ค่ะ แต่ถ้ายังปวดเต้าอยู่ ก็สามารถกินยาแก้วปวดได้ เช่น พาราเซตามอล
หากอาการไม่ดีขึ้น ภายใน 24 ชั่วโมง ควรปรึกษาคุณหมอ
หากคุณแม่ได้ลองทำทุกวิถีทางที่ได้กล่าวมาแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น ให้คุณแม่รีบปรึกษาคุณหมอทันทีไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เด็ดขาด
คุณแม่บางรายคิดว่าเต้านมคัดสิดี ลูกน้อยจะได้มีนมกินเยอะ แต่ความจริงแล้ว การปล่อยให้เต้านมคัดมีแต่จะส่งผลเสีย เพราะอาจทำให้คุณแม่อาจไม่สบายได้ (ติดตาม “คัดเต้า ปั๊มไม่ออก ภาวะท่อน้ำนมอุดตัน เกิดจากอะไร”) หรือร้ายแรงที่สุดก็คือ ต้องผ่าตัดนะคะ เพราะฉะนั้นเมื่อรู้สึกว่ามีอาการคัดเต้าควรให้ลูกดูดหรือปั๊มออกจะดีที่สุดค่ะ
ข้อมูลอ้างอิง bumrungrad.com, babycenter.com